ข้ามไปเนื้อหา

ฮอ ฮวัง-อก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฮอ ฮวัง-อก (เกาหลี허황옥; ฮันจา許黃玉; อาร์อาร์Heo Hwang-ok; เอ็มอาร์Hŏ Hwang'ok) เป็นขัตติยนารีในตำนาน ปรากฏใน ซัมกุกยูซา (삼국유사, 三國遺事) ซึ่งเป็นพงศาวดารเกาหลีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 14 เนื้อหาระบุว่านางเป็นราชนารีผู้เดินทางโดยเรือมาจากอาณาจักรที่แสนไกล ที่ต่อมาได้อภิเษกสมรสเป็นพระมเหสีของพระเจ้าซูโรแห่งคึมกวันคายาขณะพระชนมายุ 16 พรรษา[1][2] นักประวัติศาสตร์เกาหลีจำนวนหนึ่งระบุว่ามีชาวเกาหลีกว่าหกล้านคนมาจากตระกูลคิมแห่งคิมแฮ, ตระกูลฮอ และตระกูลอี ที่สืบสันดานจากพระราชินีในตำนานพระองค์นี้[3][2][4] เชื่อกันว่าพระองค์คงเป็นหญิงจากอินเดีย แต่ก็ไม่มีข้อมูลใด ๆ กล่าวถึงพระนางในอินเดียก่อนยุคสมัยใหม่[4] มีสุสานแห่งหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นหลุมฝังพระศพของพระนางในคิมแฮ ประเทศเกาหลีใต้[5] และมีพระราชินยานุสรณ์ในเมืองอโยธยา ประเทศอินเดีย ซึ่งสร้างในยุคหลัง[6][7][8][9]

พระประวัติ

[แก้]

ตำนานของพระนางฮอ ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกใน คารักกุกจี (บันทึกแคว้นคารัก) ซึ่งปัจจุบันสูญหายไปแล้ว แต่เนื้อหาบางส่วนถูกคัดลอกไว้ใน ซัมกุกยูซา (พงศาวดารสามก๊กเกาหลี)[10] ในเนื้อหาระบุว่าพระนางฮอเป็นเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรอายูทา (아유타, 阿踰陀) ซึ่งไม่ได้ระบุว่าอายูทาคือที่ใด ระบุแต่เพียงว่าเป็นรัฐที่อยู่แสนไกล ในงานเขียนวัฒนธรรมร่วมสมัยมักยึดโยงว่าเป็นเมืองอโยธยาในประเทศอินเดีย แต่ในอินเดียซึ่งเป็นแผ่นดินแม่กลับไม่มีเอกสารใด ๆ กล่าวถึงขัตติยนารีผู้นิราศนี้ไว้เลย[4] คิม บย็อง-โม (Kim Byung-Mo) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮันยัง ระบุว่าคำ "อายูทา" กับ "อโยธยา" ออกเสียงคล้ายกัน[11] แต่เดิมเมืองอโยธยา (Ayodhyā) เรียกว่าสาเกตะ (Sāketa)[12] และเพิ่งใช้ชื่ออโยธยาในช่วงยุคกลางมานี้[13] ซึ่งตรงกับช่วงเวลาบันทึก ซัมกุกยูซา พอดี[14] แกรฟตัน เค. มินซ์ (Grafton K. Mintz) และฮา แท-ฮุง (Ha Tae-Hung) ระบุโดยนัยว่า "อายูทา" อาจหมายถึงอาณาจักรอยุธยา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศไทย[12] อย่างไรก็ตามยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) ระบุว่ารัฐไทยเพิ่งกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1350 ซึ่งเกิดขึ้นหลังการแต่ง ซัมกุกยูซา[12][15]

อภิเษกสมรส

[แก้]

พระนางฮออภิเษกสมรสกับพระเจ้าซูโรแห่งคึมกวันคายาขณะมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา[1][2] ได้รับพระราชทานพระนามว่า "ฮวังอก" แปลว่า หยกเหลือง และชื่อสกุล "ฮอ" พระนางฮอมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเดินทางมายังคายาไว้ว่า มีเทพสวรรค์ปรากฏในฝันของพระชนกชนนีว่า ให้ส่งพระนางฮอไปอภิเษกสมรสกับพระเจ้าซูโร ผู้ที่จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งคายา ด้วยเหตุนี้พระนางฮอจึงถูกส่งลงเรือไปยังคายา หลังการเดินทางรอนแรมผ่านมาได้สองเดือน พระนางก็พบต้นท้อบ็อนโด ถือเป็นนิมิตอันดี เพราะท้อชนิดนี้จะออกผลทุก ๆ 3,000 ปี[3]

พระเจ้าซูโรทรงคัดเลือกหญิงพรหมจรรย์เข้าราชสำนักโดยอ้างว่าทรงได้รับบัญชาจากสวรรค์ แล้วรับสั่งให้ยูช็อนกัน (Yuch'ŏn-gan) นำม้าและเรือไปยังเกาะมังซัน ทางตอนใต้ของราชธานี ณ ที่นั่นยูช็อนกันได้พบกับเรือลำหนึ่งที่กางใบสีแดงและติดธงแดง เมื่อพบเช่นนั้นจึงรีบแล่นเรือกลับราชธานีนำความไปกราบทูลพระเจ้าซูโร พระเจ้าซูโรจึงทรงส่งให้ผู้นำตระกูล 9 ตระกูลไปต้อนรับ เชื้อเชิญผู้โดยสารบนเรือให้เข้าไปยังพระราชวัง[16] แต่พระนางฮอตรัสว่าจะไม่เสด็จไปกับคนแปลกหน้า พระเจ้าซูโรจึงปลูกพลับพลาบริเวณเนินเขาใกล้พระราชวัง หลังจากนั้นพระนางฮอจึงเสด็จขึ้นมาพร้อมด้วยข้าทาสบริวาร ทาสทั้งยี่สิบคนของเจ้าหญิงถือทองคำ เงิน อัญมณี ผ้าตาดทอง และภาชนะบนโต๊ะอาหารมาด้วย[17] ก่อนจะเริ่มพระราชพิธีอภิเษกสมรส พระนางฮอทรงเปลื้องพระสนับเพลาผ้าไหมออก ก่อนจะเสด็จไปยังภูเขาแห่งวิญญาณ พระเจ้าซูโรทรงมีพระราชดำรัสกับพระนางฮอว่าทรงล่วงรู้ว่าพระนางฮอจะต้องเสด็จมา และพระองค์จะไม่อภิเษกสมรสกับหญิงอื่นที่ขุนนางทูลถวายอีก[3]

เมื่อมีพระพี่เลี้ยงบางคนของพระนางฮอทูลลากลับมาตุภูมิ พระเจ้าซูโรได้พระราชทานผ้าป่านให้คนละ 30 ม้วน (หนึ่งม้วนมี 40 หลา) นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานข้าวสารแก่พระพี่เลี้ยงคนหนึ่งจำนวนสิบกระสอบ พระนางฮอยังอยู่ประทับอยู่ในพระราชวัง ส่วนข้าราชบริพารและภรรยาของพวกเขาอาศัยอยู่ในคฤหาสน์แยกออกไปจากวัง ส่วนข้าทาสชั้นล่างของพระองค์อาศัยอยู่ในเรือนรับรองที่จัดไว้ให้จำนวน 20 ห้อง[17]

ผู้สืบสันดาน

[แก้]

พระเจ้าซูโรและพระนางฮอมีพระราชบุตรด้วยกัน 12 พระองค์ พระองค์ใหญ่ชื่อพระเจ้าโคดึง พระนางฮอทูลขอพระราชสวามีว่าขอพระราชบุตรสองพระองค์ใช้ชื่อสกุลเดิมของพระนางคือสกุลฮอแห่งคิมแฮ[3] ส่วนพระราชบุตรอีกแปดพระองค์ใช้สกุลคิมแห่งคิมแฮ และอีกพระองค์ใช้ชื่อสกุลอีแห่งอินช็อน ในเอกสารของจิลบูรัม (Jilburam) ระบุว่าพระราชโอรสเจ็ดพระองค์คือ ฮเยจิน, คักโช, ชีกัม, ด็องกย็อน, ดูมู, ช็องฮ็อง และคเยจัง เจริญรอยตามโพอก (Po-Ok) พระมาตุลา ด้วยการออกบวชในศาสนาพุทธ[2] อย่างไรก็ตาม มีชาวเกาหลีกว่าหกล้านคนสืบสันดานมาจากพระนางฮอ[4]

ในพงศาวดารระบุว่าพระนางฮอสวรรคตขณะมีพระชนมายุ 157 พรรษา[16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 No. 2039《三國遺事》CBETA 電子佛典 V1.21 普及版 เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Taisho Tripitaka Vol. 49, CBETA Chinese Electronic Tripitaka V1.21, Normalized Version, T49n2039_p0983b14(07)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Kim Choong Soon, 2011, Voices of Foreign Brides: The Roots and Development of Multiculturalism in Korea, AltairaPress, USA, Page 30-35.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Won Moo Hurh (2011). "I Will Shoot Them from My Loving Heart": Memoir of a South Korean Officer in the Korean War. McFarland. pp. 15–16. ISBN 978-0-7864-8798-1.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "Korean memorial to Indian princess". BBC News. 3 May 2001.
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Kwon_2003
  6. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ kor4
  7. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ kor5
  8. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ kor6
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ kor8
  10. Il-yeon (tr. by Ha Tae-Hung & Grafton K. Mintz) (1972). Samguk Yusa. Seoul: Yonsei University Press. ISBN 89-7141-017-5.
  11. Choong Soon Kim (2011). Voices of Foreign Brides: The Roots and Development of Multiculturalism in Korea. AltaMira. p. 34. ISBN 978-0-7591-2037-2.
  12. 12.0 12.1 12.2 Robert E. Buswell (1991). Tracing Back the Radiance: Chinul's Korean Way of Zen. University of Hawaii Press. p. 74. ISBN 978-0-8248-1427-4.
  13. Jeannine Auboyer (1962). Daily Life In Ancient India. Paris: Phoenix Press.
  14. John Keay (2000). India: A History. Harper Collins.
  15. Skand R. Tayal (2015). India and the Republic of Korea: Engaged Democracies. Taylor & Francis. p. 23. ISBN 978-1-317-34156-7. Historians, however, believe that the Princess of Ayodhya is only a myth.
  16. 16.0 16.1 James Huntley Grayson (2001). Myths and Legends from Korea: An Annotated Compendium of Ancient and Modern Materials. Psychology Press. pp. 110–116. ISBN 978-0-7007-1241-0.
  17. 17.0 17.1 Choong Soon Kim (16 October 2011). Voices of Foreign Brides: The Roots and Development of Multiculturalism in Korea. AltaMira Press. pp. 31–33. ISBN 978-0-7591-2037-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]