อาเธอร์ ซามูเอล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาเธอร์ ลี ซามูเอล
เกิด05 ธันวาคม ค.ศ. 1901(1901-12-05)
รัฐแคนซัส
เสียชีวิต29 กรกฎาคม ค.ศ. 1990(1990-07-29) (88 ปี)
สแตนฟอร์ด แคลิฟอร์เนีย
พลเมืองสหรัฐอเมริกา
ศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ปริญญาโท (ค.ศ. 1926)
มีชื่อเสียงจากโปรแกรมเล่นหมากฮอสของซามูเอล
อัลกอริทึมการตัดกิ่งแอลฟา-เบตา
เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ของเครื่อง [1]
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
สถาบันที่ทำงานห้องปฏิบัติการเบลล์ (1928)
มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (1946)
ไอบีเอ็ม Poughkeepsie Laboratory (1949)
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (1966)

อาเธอร์ ลี ซามูเอล (อังกฤษ: Arthur Lee Samuel) เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านเกมคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ของเครื่อง โปรแกรมเล่นหมากฮอสของซามูเอลจัดได้ว่าเป็นโปรแกรมที่สามารถเรียนรู้ได้เองโปรแกรมแรกของโลก และถือเป็นจุดกำเนิดยุคแรกๆของปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้พัฒนา TeX ที่เป็นโปรแกรมสำหรับการเขียนบทความวิชาการอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

ซามูเอล เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1907 ที่เมืองเอ็มโพรา รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาจากวิทยาลัยเอ็มโพราในปี ค.ศ. 1923 จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อและจบการศึษาระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ในปี ค.ศ. 1926 และได้รับงานเป็นอาจารย์สอนอยู่เป็นเวลา 2 ปี จากนั้นในปี ค.ศ. 1928 ซามูเอลได้เข้าทำงานที่ห้องปฏิบัติการเบลล์ โดยงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับหลอดสุญญากาศ รวมทั้งได้พัฒนาเรดาร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2อีกด้วย หลังจากนั้นได้ย้ายไปทำงานที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ได้เริ่มก่อตั้งโครงการ ILLIAC แต่ได้ย้ายออกมาก่อนที่เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกจะสร้างเสร็จ ซามูเอลย้ายไปทำงานกับไอบีเอ็มที่นิวยอร์กในปี ค.ศ. 1949 จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการเป็นผู้สร้างซอฟต์แวร์ของตารางแฮชครั้งแรกๆของโลก และยังมีส่วนกับการใช้ทรานซิสเตอร์ในคอมพิวเตอร์ที่ผลิตโดยไอบีเอ็มอีกด้วย ที่บริษัทแห่งนี้ ซามูเอลได้สร้างโปรแกรมเล่นหมากฮอสขึ้นบนเครื่อง IBM701 ที่เป็นคอมพิวเตอร์พาณิชย์เครื่องแรกของไอบีเอ็ม ได้มีการสาธิตโปรแกรมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางด้านฮาร์ดแวร์และการเขียนโปรแกรมที่ต้องใช้ทักษะสูง ทำให้หุ้นของบริษัทไอบีเอ็มสูงขึ้นไป 15 จุดภายในคืนเดียว นอจกากนี้ ซามูเอลยังมีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมที่ไม่ใช่ตัวเลข ทำให้คำสั่งของคอมพิวเตอร์เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และยังเป็นคนแรกๆที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานอื่นนอกจากงานคำนวณ ซามูเอลยังเป็นคนมีชื่อเสียงด้านการเขียนบทความเรื่องยากๆให้เข้าใจง่าย และได้รับเชิญให้เขียนบทนำของบทความในวารสารเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆในปี 1953 อีกด้วย

ในปี 1966 ซามูเอลเกษียณจากไอบีเอ็มและย้ายมาเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ได้ร่วมทำงานกับโดนัลด์ คนูธพัฒนา TeX ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเขียนบทความวิชาการและเอกสารต่างๆ ได้รับรางวัลนักบุกเบิกทางคอมพิวเตอร์จากสมาคมคอมพิวเตอร์ของสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี ค.ศ. 1987 ซามูเอลเสียชีวิตด้วยโรคพาร์กินสันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1990

อ้างอิง[แก้]

  1. John McCarthy; Edward Feigenbaum (1990). "In Memoriam Arthur Samuel: Pioneer in Machine Learning". AI Magazine. AAAI. 11 (3). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-22. สืบค้นเมื่อ 11 January 2015.