ข้ามไปเนื้อหา

อาการคันต่างที่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาการคันต่างที่
(Referred itch)
ชื่ออื่นMitempfindung
ผังแสดงส่วนของร่างกายที่ได้สิ่งเร้าโดยสัมพันธ์กับส่วนที่คันต่างที่

อาการคันต่างที่[1] (อังกฤษ: Referred itch, เยอรมัน: mitempfindungen) เป็นปรากฏการณ์ที่การเร้าร่างกายที่ส่วนหนึ่งกลับรู้สึกคันหรือระคายที่อีกส่วนหนึ่ง อาการนี้ไม่ค่อยมีอันตราย แต่อาจน่ารำคาญ โดยคนที่สุขภาพดีก็มีอาการได้เหมือนกัน สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการเริ่มตั้งแต่แรงกดที่ผิวหนัง การขูด การทำให้ระคาย จนไปถึงการดึงขน[2] แต่ความคันต่างที่ไม่ควรเจ็บ มันมักจะเป็นความเหน็บชาที่น่ารำคาญซึ่งอาจทำให้รู้สึกว่าควรเกา ทั้งสิ่งเร้าและความคันต่างที่ จะเกิดในร่างกายซีกเดียวกัน (ipsilateral) และเพราะการเกาหรือการกดส่วนที่คันต่างที่ไม่ได้ทำให้บริเวณที่เร้าตอนแรกคัน ความสัมพันธ์ระหว่างบริเวณที่เร้าและบริเวณที่คันต่างที่จึงเป็นไปในทางเดียว (unidirectional)[3] ความคันจะเกิดเองและอาจหยุดแม้จะเร้าอีกที่หนึ่งต่อไปเรื่อย ๆ

อาการคันต่างที่มีสองอย่าง คือ แบบปกติ และแบบได้ทีหลัง (เพราะโรค) อาการธรรมดามักจะพบตั้งแต่วัยเด็กต้น ๆ และจะคงยืนเกือบตลอดหรือไม่ก็ตลอดชีวิต ส่วนอาการที่ได้ทีหลังเป็นผลจากความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลาง และจะคงยืนเพียงแค่ระยะหนึ่ง[2] อาการจะต่างกันระหว่างบุคคล แต่โดยทั่วไปจะไม่เกิดที่ฝ่าเท้า ฝ่ามือ และใบหน้า

ปัจจัยทางพันธุกรรมดูจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง[2] แต่ก็มีงานศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ ซึ่งแสดงว่ามีชายคนหนึ่งที่ลูก ๆ ของเขาก็เป็นด้วย กลไกทางสรีรภาพที่เป็นเหตุยังไม่ชัดเจน และก็ยังไม่มีทฤษฎีใดที่ได้การยอมรับอย่างทั่วไป

งานวิจัยและข้อมูลเกี่ยวกับอาการจะค่อนข้างจำกัดและเก่า งานวิจัยในเรื่องนี้โดยมากได้ทำในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และงานที่ตีพิมพ์ล่าสุดเกิดเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 มีงานศึกษาจำนวนหนึ่งที่ทำในต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ดี จะต้องรวบรวมและไขข้อมูลเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ความเข้าใจที่สมบูรณ์

อาการ

[แก้]

ตำแหน่งของสิ่งเร้าและความคันต่างที่

[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งที่เร้ากับที่คันต่างที่จะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คือบางส่วนที่เร้าของร่างกายจะทำให้คันอย่างซ้ำ ๆ และบางส่วนก็จะไม่ทำให้คันเลย การเร้าที่เดิมซ้ำ ๆ และบ่อย ๆ ก็อาจทำให้อาการลดลง[2]

ไม่มีหลักฐานว่า การเร้าที่แห่งหนึ่งจะสัมพันธ์กับการคันอีกที่หนึ่งอย่างแน่นอน[2] แม้ตำแหน่งอาจจะสม่ำเสมอและตรงกันสำหรับคน ๆ หนึ่ง แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าถ้าเร้าที่ส่วนนี้ จะคันต่างที่ ณ ส่วนเดียวกันสำหรับทุกคน ดังนั้น ตำแหน่งความคันต่างที่จะต่าง ๆ กันไป

ควรจะสังเกตด้วยว่า การเร้าแล้วคันต่างที่ จะเป็นในทิศทางเดียว[2] ดังนั้น ถ้าเกาตรงที่คันต่างที่ ตำแหน่งที่เร้าตอนแรกเพื่อให้เกิดอาการคันต่างที่ ก็จะไม่คันด้วย

Synesthesia กับอาการคันต่างที่

[แก้]

อาการคันต่างที่เชื่อว่าสัมพันธ์กับภาวะวิถีประสาทเจือกัน (synesthesia) ในบางบุคคล โดยเฉพาะคนที่เห็นตัวเลขเป็นสี (digit-color synesthesia)[4] ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่บุคคลสัมพันธ์สีกับตัวเลข[4] คนที่เป็นอาจจะกล่าวว่าตน "นับเลขเป็นสี" ทั้งภาวะวิถีประสาทเจือกันและอาการคันต่างที่ต่างก็เกิดขึ้นในวัยเด็กต้น ๆ และจะต่างกันมากในระหว่างบุคคล[4] อาการทั้งสองต่างก็เป็นไปในทางเดียว การเกาที่บริเวณหนึ่งจะทำให้คันต่างที่ซึ่งห่างจากที่เดิม แต่ไม่เกิดในนัยตรงกันข้าม และเหมือนกัน ๆ ในวิถีประสาทเจือกัน การ "ได้ยิน" สีหนี่ง ๆ ไม่ได้หมายความว่า สีหนึ่ง ๆ จะทำให้เกิดเสียง

แบบปกติและแบบเป็นโรค

[แก้]

อาการคันต่างที่เป็นความรู้สึกต่างที่ประเภทหนึ่ง โดยมุ่งสถานการณ์ซึ่งสิ่งเร้าที่หนึ่งบนร่างกายจะทำให้คันอีกที่หนึ่ง ตัวอย่างของความรู้สึกต่างที่อื่น ๆ รวมทั้งความเย็นร้อน ความเจ็บปวด และแรงกด[2]

อาการคันต่างที่เป็นเรื่องสามัญในบุคคลที่มีสุขภาพดีและบ่อยครั้งจะไม่รู้ตัว โดยขึ้นอยู่กับความตระหนักถึงความคันและเหตุที่ทำให้คัน อาการคันต่างที่ซึ่งป็นชั่วคราวและจำกัดอยู่ที่ส่วนเล็ก ๆ ของร่างกายโดยไม่ได้ทำให้คันไปทั่ว ทำให้ระบุคและสังเกตได้ยาก[2] อาการคันต่างที่โดยมากได้ศึกษาในคนสุขภาพดี

นอกจากนั้นแล้ว อาการต่างที่เองเดี่ยว ๆ ไม่ได้มีผลลบต่อสุขภาพของบุคคลที่มี นอกจากจะรู้สึกรำคาญเพราะคันในที่ต่าง ๆ และอาจจะเจ็บบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ยังเป็นภาวะที่ไม่สร้างปัญหาอะไร ยังไม่ทราบเหตุของอาการนี้ในบุคคลปกติ

ถึงกระนั้น ก็ยังมีบันทึกหลายกรณีที่อาการคันต่างที่เกิดจากสิ่งเร้าซึ่งเป็นภาวะของโรค[2] มีชายสองรายที่เกิดความรู้สึกต่างที่ชั่วคราวหลังจากเป็นโรคงูสวัด ซึ่งความรู้สึกต่างที่จะเกิดในบริเวณที่เป็นงูสวัดมาก่อน[2]

ชายอีกรายหนึ่งที่มีภาวะ hyperpathia (อาการทางประสาทที่สิ่งเร้าซึ่งก่อความเจ็บ จะทำให้เจ็บเกินควร) และระบบประสาทซึ่งทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จนภายหลังได้เกิดอาการคันต่างที่ซึ่งเป็นไปพร้อม ๆ กับอาการทางประสาทที่เขามี[2] หลักฐานนี้อาจแสดงว่า แม้อาการคันต่างที่จะเกิดได้เองในบุคคลปกติ แต่ภาวะโรคบางอย่างก็ก่ออาการนี้แม้จะชั่วคราว

เหตุ

[แก้]

ความคันทั่วไปอาจมีหลายสาเหตุ ดภูมิแพ้และผิวหนังอักเสบก็สามารถทำให้คันได้[5][6] โดยพยาธิสรีรวิทยาแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าความรู้สึกคันมีกลไกอย่างไร แต่ก็รู้จักถึงเหตุให้เกิดหลายอย่าง เช่น ฮิสตามีนรู้เป็นอย่างดีว่าทำให้คัน สารที่เป็นเหตุอื่น ๆ รวมทั้ง substance P, cytokines, และ protease ต่าง ๆ

อุณหภูมิก็มีผลด้วย เป็นความเห็นทั่วไปว่า การประกบผิวหนังด้วยอุณหภูมิเย็น ๆ จะช่วยระงับอาการคันโดยห้ามการทำงานของใยประสาทกลุ่ม C[7][8][9][10][11] แต่ก็มีงานศึกษาที่แสดงความขัดแย้งระหว่างอุณหภูมิกับความคัน ที่การประกบความเย็นระดับกลาง ๆ ระยะสั้นจะทำให้คันเพิ่ม[12] อาการนี้อาจคล้ายกับปรากฏการณ์ "ความร้อนขัดแย้ง" (paradoxical heat) ที่บุคคลจะรู้สึกร้อนแม้ ๆ จริง ๆ แล้วผิวหนังได้กระทบกับความเย็น[13] ดังนั้น ผลโดยเฉพาะของอุณหภูมิต่อความคันจึงยังไม่ชัดเจน เพราะระดับความร้อนเย็นต่าง ๆ ดูเหมือนจะทั้งเพิ่มและยับยั้งความคัน[14]

แอลกอฮอล์ก็ปรากฏว่ามีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับการปล่อยสารฮิสตามีนของร่างกายด้วย แอลกอฮอล์ทั้งกระตุ้นให้แมสต์เซลล์ปล่อยฮิสตามีน และระงับการย่อยสลายสารโดยยับยั้บเอนไซม์ diamine oxidase แม้ร่างกายจะหลั่งฮิสตามินเนื่องด้วยความเสียหายที่กระเพาะอาหารและลำไส้เพราะแอลกอฮอล์ ตลอดจนความแดงของผิวหนังและใบหน้าเมื่อดื่มเหล้า ก็เป็นไปได้ว่าระดับที่เพิ่มขึ้นของฮิสตามีนอาจสัมพันธ์กับความคันต่างที่ (หรือแม้ความคันทั่วไป)[15]

กลไก

[แก้]

ความคันเป็นความรู้สึกว่าจะต้องเกาผิวหนังที่ใดที่หนึ่ง อาจเป็นความรู้สึกชั่วแล่น เช่นจั๊กจี้หรือเป็นเหน็บ หรืออาจจะคงยืน เช่นเป็นผื่นหรือความระคายเคืองที่ผิวหนังอื่น ๆ เช่นที่เกิดจากภูมิแพ้ ความคันได้แสดงแล้วว่า สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเจ็บปวด โดยมีกลไกทางสรีรภาพที่เหมือนกันหลายอย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างความเจ็บปวดกับความคันชัดเจนเพราะหลักฐานว่า ความรู้สึกคันจะดำเนินไปตามวิถีประสาทเดียวกันกับความเจ็บปวด และว่า บุคคลที่ไม่สามารถรู้สึกเจ็บก็จะไม่รู้สึกคันด้วย[16]

ความคันสามารถเกิดจากการกระตุ้นตัวรับความรู้สึกด้วยแรงกล สารเคมี อุณหภูมิ หรือไฟฟ้า ที่ระบบประสาทนอกส่วนกลาง หรือแม้แต่การสะกิดใจ (suggestion) ตัวรับความรู้สึกที่ทำให้คันเพราะสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อม จะอยู่ในผิวหนังชั้นบน ๆ [17] เมื่อได้สิ่งเร้าแล้ว โดยปกติเนื่องกับฮิสตามีนในร่างกาย ตัวรับก็จะส่งกระแสประสาทไปยังสมองส่วนต่าง ๆ มีทาลามัสเป็นต้น ซึ่งจะแปรผลแล้วสั่งการให้ร่างกายตอบสนอง[16]

ความคันก็อาจเกิดจากความเสียหายต่อระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางหรือส่วนนอก หรือเกิดจากการมีสารโอปิออยด์มากเกิน[16] เพราะงานวิจัยมีน้อยมากเรื่องความคันต่างที่ จึงไม่มีทฤษฎีที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ความคันย้ายที่ไปได้อย่างไร แต่ก็มีทฤษฎีหลายทฤษฎีซึ่งเป็นที่นิยมในชุมชนนักวิทยาศาสตร์

สมมติฐานหนึ่งเสนอว่าเหตุมาจากเส้นประสาทและสาขาต่าง ๆ ของมัน สมมติฐานนี้คาดว่า นิวรอนได้แตกสาขาอย่างผิดปกติในช่วงการเกิดเอ็มบริโอ[18] คือสาขาของเส้นประสาทนำเข้าอาจกระจายออกไปไกลกว่าปกติ ดังนั้น เมื่อบุคคลพัฒนาระบบประสาทอย่างสมบูณ์แล้ว สิ่งเร้าที่ปลายสาขาหนึ่งอาจตีความได้ว่ามาจากปลายสาขาอีกปลายที่อยู่ห่างกัน แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่พิสูจน์หรือล้มล้างทฤษฎีนี้[3]

สมมติฐานอีกอย่างหนึ่งเสนอว่า อาการคันต่างที่จะเกิดอาศัยวิถีประสาท spinocervical pathway[3] เพราะตัวเซลล์ที่เป็นส่วนของวิถีประสาทนี้อยู่ที่ปีกหลังของไขสันหลัง และแอกซอนของเซลล์จะวิ่งขึ้นผ่านซีกร่างกายเดียวกันที่ส่วนหน้าด้านข้าง (dorsolateral quadrant) ของไขสันหลัง ซึ่งเข้ากับข้อมูลว่า สิ่งเร้าที่ทำให้คันจะอยู่ในซีกร่างกายเดียวกันกับส่วนที่คันต่างที่ และเพราะแอกซอนส่งไปยังทาลามัสและสมองส่วนกลาง จึงเป็นไปได้ว่า ทาลามัสก็มีบทบาทในปรากฏการณ์นี้ เซลล์ในวิถีประสาทนี้ยังเป็นเซลล์ที่เร้าด้วยแรงกล ซึ่งก็สนับสนุนว่าวิถีประสาทนี้เป็นกลไกของอาการคันต่างที่ ความเสียหายในส่วนกลางของวิถีประสาทนี้ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม (คือเพราะความเสียหายในส่วนนอก) จะทำให้เซลล์ส่วนนี้ทำงานมากขึ้น (hyperexcitability) คือมีการยับยั้งที่ลดลง แต่ก็มีผู้แสดงว่า สมมติฐานนี้เป็นไปได้น้อย ไม่เช่นนั้นความคันควรจะวิ่งขึ้นไปตามลำดับ (เช่น จากขาไปสู่ลำตัว และจากลำตัวไปสู่คอ)[3]

มีหลักฐานด้วยว่า ทาลามัสมีบทบาทในความคันต่างที่[3] เพราะการจัดระเบียบเซลล์ประสาทในทาลามัสซึ่งรับความรู้สึกมาจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ที่การเร้าส่วนหนึ่งอาจจะกระจายไปยังอีกส่วนหนึ่งได้ งานศึกษาได้แสดงว่า ส่วนในทาลามัสที่รับความรู้สึกจากลำตัวจะอยู่ระหว่างส่วนที่รับความรู้สึกจากแขนและขา ซึ่งเข้ากับหลักฐานว่า การเร้าที่หน้าอกทำให้เกิดความรู้สึกที่ขา และเพราะส่วนที่รับความรู้สึกจากใบหน้าอยู่ต่างหากในบริเวณที่เรียกว่า arcuate nucleus นี่จึงอธิบายว่าทำไมใบหน้าจึงไม่ปรากฏอาการนี้

การเร้าที่กระจายออกภายในเปลือกสมอง ก็อาจอธิบายระยะที่ห่างกันระหว่างจุดที่เร้าและจุดที่คันต่างที่[3] เพราะที่รอยนูน precentral gyrus ซึ่งรับความรู้สึกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เซลล์ประสาทที่รับข้อมูลจากส่วนมือและไหล่จะคาบเกี่ยวกับส่วนลำตัว ส่วนนิ้วโป้งก็จะคาบเกี่ยวกับส่วนบนของลิ้น และก็มีกรณีคนไข้ที่การเร้าที่นิ้วโป้งจะทำให้คันต่างที่ตรงส่วนบนของลิ้น

การรักษาบรรเทา

[แก้]

แหล่งกำเนิดของอาการคันต่างที่ยังไม่ชัดเจน โดยอาจมาจากสมอง มาจากผิวหนัง หรือเป็นเพราะโรค ดังนั้น วิธีการรักษาโดยเฉพาะจึงยังไม่มี แต่ก็มีวิธีรักษาอาการคันต่าง ๆ ซึ่งบางอย่างอาจใช้ได้ ผู้ที่มีอาการนี้ควรหาแพทย์และปรึกษาเรื่องการใช้ยา

แอสไพรินแบบทานมีผลน้อยต่ออาการคัน[19]

วิธีการรักษาอาการคันเหตุระบบประสาทส่วนกลางจะค่อนข้างจำกัด และวิธีที่มีก็ยังต้องการหลักฐานเพิ่ม แต่โดยทั่วไปจะมุ่งยับยั้งการทำงานเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคันและความเจ็บปวดในไขสันหลัง[20] การรักษาโดยใช้ lidocaine และ gabapentin ในขนาดต่ำ อาจได้ผลเพื่อบรรเทาความคันที่เชื่อว่า มาจากระบบประสาทกลาง[21]

วิทยาการระบาด

[แก้]

ความชุกของอาการนี้กำหนดให้แม่นยำได้ยาก เพราะคนจำนวนมากไม่รู้ว่าตนมีอาการจนกระทั่งอธิบายให้ฟัง ดังนั้น วรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์จึงกำหนดความชุกต่าง ๆ กันในมนุษย์[2] งานปี 2463 รายงานว่า คนจำนวน 8 ใน 9 ที่สำรวจรายงานว่ามีความรู้สึกต่างที่ งานปี 2516 แสดงว่า ครึ่งหนึ่งจากคนปกติ 20 คนที่สำรวจ ได้รายงานว่ามีอาการนี้[2] ความต่าง ๆ และลักษณะที่ไม่เหมือนกันของอาการในบุคคลต่าง ๆ ทำให้กำหนดอาการเพื่อใช้เป็นนิยาม หรือเพื่อระบุปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ยาก อย่างไรก็ดี อาการนี้เชื่อว่าสามัญมาก

ประวัติ

[แก้]

คำภาษาเยอรมันว่า mitempfindungen (แปลตรงตัวว่า "ความรู้สึกประสาน") ได้ใช้เป็นครั้งแรกในปี 2387 โดยนักกายวิภาคศาสตร์ชาวเยอรมัน[22] ส่วนคำภาษาอังกฤษว่า Referred itch ได้เริ่มใช้หลังปี 2427 แต่ปรากฏการณ์นี้มีบันทึกอย่างช้าที่สุดก็ปี 2276 ในช่วงเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ Stephen Hales ได้สังเกตว่า เมื่อเกาส่วหนึ่งของร่างกายด้วยเล็บ ก็อาจรู้สึกคันที่อีกส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งห่างออกไป โดยเขาได้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "Instances of the Sympathy of the Nerves"[23] ในปี 2427 นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย Kowalewsky จึงได้บันทึกแล้วตีพิมพ์ปรากฏการณ์นี้อย่างละเอียดโดยสังเกตกับตนเอง

งานวิจัยในปัจจุบัน

[แก้]

แม้จะเริ่มสังเกตเห็นตั้ง 280 ปีแล้ว เหตุและกลไกที่สิ่งเร้าทำให้เกิดอาการคันต่างที่ก็ยังไม่ชัดเจนและยังไม่ได้พิสูจน์ จนถึงทุกวันนี้ หลักฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุดได้บ่งทาลามัส ระบบประสาทซิมพาเทติก และการหลั่งสารเคมีเพื่อส่งสัญญาณ (เช่น ฮิสตามีน) ว่าเป็นส่วนสำคัญทางสรีรภาพที่เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การได้ความเข้าใจในอนาคตเกี่ยวกับความคันโดยทั่วไป และเรื่องความคล้ายคลึงกับความเจ็บปวด อาจช่วยแสดงเรื่องที่ยังไม่รู้ แม้การเข้าใจที่ดีขึ้นว่า ฮิสตามีนและใยประสาทกลุ่ม C มีบทบาทในความรู้สึกคันอย่างไร ก็เช่นกัน แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ยังจำเป็นต้องทดลองและศึกษาเพิ่มขึ้นในเรื่องนี้ เนื่องจากว่า หลักฐานที่มียังไม่เป็นระเบียบและบ่อยครั้งสรุปอะไรไม่ได้

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "Referred pain", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (ทันตแพทยศาสตร์) อาการปวดต่างที่
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 Schott, GD (Oct 1988). "Distant referral of cutaneous sensation (Mitempfindung). Observations on its normal and pathological occurrence". Brain. 111 (5): 1187–1198.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Evans, PR (1976). "Referred itch (Mitempfindungen)". Br Med J. 2 (6040): 839–41. doi:10.1136/bmj.2.6040.839. PMC 1688972. PMID 990713.
  4. 4.0 4.1 4.2 Burrack, A; Knoch, D; Brugger, P (2006). "Mitempfindung in Synaesthetes: Co-incidence or Meaningful Association?". Cortex. 42 (2): 151–54. doi:10.1016/s0010-9452(08)70339-3.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  5. Behrendt H, Krämer U, Schäfer T, Kasche A, Eberlein-König B, Darsow U, และคณะ (2001). "Allergotoxicology – a research concept to study the role of environmental pollutants in allergy". ACI Int. 13: 122–128.
  6. Charlesworth EN, Beltrani VS (2002). "Pruritic dermatoses: overview of etiology and therapy". Am J Med. 113 (9): 25S–33S. doi:10.1016/S0002-9343(02)01434-1. PMID 12517579.
  7. Greaves MW (1993) Pathophysiology and clinical aspects of pruritus. In: Dermatology in General Medicine. (Fitzpatrick TB, Eisen AZ, Wolff K, Freedberg IM, Austen KF, eds), 4th ed., Vol. 1, New York: McGraw-Hill, 416
  8. Bromm B, Scharein E, Darsow U, Ring J (1995). "Effects of menthol and cold on histamine-induced itch and skin reactions in man". Neurosci Lett. 187 (3): 157–160. doi:10.1016/0304-3940(95)11362-Z. PMID 7624016. S2CID 32343804.
  9. Carstens E, Jinks SL (1998). "Skin cooling attenuates rat dorsal horn neuronal responses to intracutaneous histamine". NeuroReport. 9 (18): 4145–4149. doi:10.1097/00001756-199812210-00027. PMID 9926864. S2CID 27419405.
  10. Craig AD (2002). "How do you feel? Interoception: the sense of the physiological condition of the body". Nature Reviews Neuroscience. 3 (8): 655–666. doi:10.1038/nrn894. PMID 12154366. S2CID 17829407.
  11. Mochizuki H, Tashiro M, Kano M, Sakurada Y, Itoh M, Yanai K (2003). "Imaging of central itch modulation in the human brain using positron emission tomography". Pain. 105 (1–2): 339–346. doi:10.1016/S0304-3959(03)00249-5. PMID 14499452. S2CID 25786312.
  12. Florian et. al, 2006, Short-term alternating temperature enhances histamine-induced itch: a biphasic stimulus model
  13. Davis KD, Pope GE, Crawley AP, Mikulis DJ (2004). "Perceptual illusion of "paradoxical heat" engages the insular cortex". J Neurophysiol. 92 (2): 1248–1251. doi:10.1152/jn.00084.2004. PMID 15277602. S2CID 42090152.
  14. Yosipovitch G, Fast K, Bernhard JD (2005). "Noxious heat and scratching decrease histamine-induced itch and skin blood flow". J Invest Dermatol. 125 (6): 1268–1272. doi:10.1111/j.0022-202X.2005.23942.x. PMID 16354198.
  15. Alcohol-Histamine interactions, Sergey M. Zimatkin and Oleg V. Antichtchik, Institude of Biochemistry, National Academy of Science of Belarus, Grodno, Belarus, and Department of Biology, Abo Akademi University, Finland.
  16. 16.0 16.1 16.2 Davidson Steve; Giesler Glenn J (2010). "The Multiple Pathways for Itch and their Interactions with Pain". Trends in Neurosciences. 33 (12): 550–558. doi:10.1016/j.tins.2010.09.002. PMC 2991051. PMID 21056479.
  17. Ikoma A, Steinhoff M, Ständer S, Yosipovitch G, Schmelz M (Jul 2006). "The Neurobiology of Itch". Nature Reviews Neuroscience. 7 (7): 535–47. doi:10.1038/nrn1950. PMID 16791143. S2CID 9373105.
  18. Pearce JM (2006). "Referred Itch (Mitempfindung)". Eur. Neurol. 55 (4): 233–234. doi:10.1159/000093877. S2CID 72253989.
  19. Daly, BM; Shuster, S (1986). "Effect of aspirin on pruritus". BMJ. 293 (6552): 907. doi:10.1136/bmj.293.6552.907. PMC 1341706. PMID 3094711.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  20. Department of Dermatology, Wake forest, et al. 2003 Itch
  21. Fishman, SM; Caneris, OA; Stojanovic, MP; Borsook, D (1997). "Intravenous lidocaine". Am J Med. 102 (6): 584–585. doi:10.1016/s0002-9343(97)00057-0.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  22. Müller, J (1844). Handbuch der Physiologie des Menschen für Vorlesungen. Vol. 1 (4th ed.). Coblenz: J. Holscher. p. 603.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  23. Hales, S (1733). Statical Essays. Vol. 2. London: W. Innys, R. Manby and T. Woodmward. pp. 59–60.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)

อ่านเพิ่ม

[แก้]