อะฮ์ลุลบัยต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อะฮ์ลุลบัยต์ (อาหรับ: أهل البيت ; เปอร์เซีย: اهلِ بیت) ตามรากศัพท์ภาษาอาหรับมีความหมายว่า ชาว (กลุ่มคนที่อยู่รวมกันใน) บ้าน หรือ สมาชิกครอบครัวของบ้าน คำว่า “อะฮ์ลุลบัยต์” ในอาหรับยุคก่อนอิสลามปรากฏ จะถูกใช้เพื่อบ่งชี้ถึงเผ่าพันธุ์ หรือ กลุ่มของบุคคลหนึ่ง ที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองของเผ่านั้น ๆ แต่ในวัฒนธรรมของอิสลามคำดังกล่าวถูกใช้เพื่อบ่งชี้ถึงครอบครัวของศาสดาแห่งอิสลาม (ศ็อลฯ)[1] อะฮ์ลุลบัยต์มีความสำคัญสำหรับชาวมุสลิมทั้งหมด โดยเฉพาะ นิกายชีอะฮ์ เพราะบรรดาชีอะฮ์จะอ้างอิงวัจนะต่าง ๆ จากอะฮ์ลุลบัยต์ หรือ ผู้ที่ใกล้ชิดกับพวกเขา ในนิกายชีอะฮ์ อะฮ์ลุลบัยต์ คือจุดศูนย์กลางของอิสลาม เป็นผู้อรรถาธิบาย อัล-กุรอาน และ แบบฉบับของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ชาวชีอะฮ์ มีความเชื่อว่าบรรดา อะฮ์ลุลบัยต์ คือตัวแทนของท่านศาสดา ซึ่งมีท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ท่านหญิงฟาตีมะฮ์ ท่านอิมามฮาซัน ท่านอิมามฮุเซน (ซึ่งรู้จักกันในนามของผู้อยู่ภายใต้ผ้าคลุม กิเซาะฮ์) รวมถึงบรรดาอิมามท่านอื่น ๆ มีทัศนะมากมายและหลากหลายถูกกล่าวขึ้นเกี่ยวกับบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ ชาวซุนนี ถือว่าอะฮ์ลุลบัยต์หมายรวมถึง ภรรยาของท่าน ท่านหญิงฟาติมะฮ์ ผู้เป็นบุตรีของท่าน ท่านอาลี และ บุตรชายทั้งสองของท่าน คือ ฮาซัน และ ฮุเซน และบ้างก็ถือเอาลูกหลานทั้งหมดของศาสดามุฮัมหมัด และบ้างก็ถือเอาลูกหลานฝ่ายลุงของท่านศาสดา หมายถึงท่านอับบาส อิบนิ อับดุลมุฏฏอลิบว่าอะฮ์ลุลลบัยต์เช่นเดียวกัน[2] ทั้งนิกายชีอะฮ์และซุนนีเชื่อว่ามุสลิมทุกคนมีหน้าที่ในการมอบความรักต่อบรรดา อะฮ์ลุลบัยต์

ความหมายของอะฮ์ลุลบัยต์[แก้]

คำว่า อะฮ์ลุลบัยต์เป็นคำประสม ซึ่งประกอบด้วยคำว่า “อะฮ์ลุล” หมายถึงสมาชิกในครอบครัวของชายคนหนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึงบรรดาบุรุษของชนเผ่า ผู้ใกล้ชิด ญาติพี่น้อง ภรรยา และ บุตรหลาน คำว่า “บัยต์” หมายถึง บ้าน และที่พักอาศัยทุกรูปแบบ อะฮ์ลุลบัยต์ หมายถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวของชายคนหนึ่ง หรือ หมายถึงทุกคนที่ใช้ชีวิตร่วมกับเขา คำว่า อะฮ์ลุลบัยต์ เป็นคำสุภาพที่จะถูกนำมาใช้เมื่อต้องการจะเรียกหา สมาชิกครอบครัว หรือ ภรรยาของตน[3] ดังนั้นคำดังต่อไปนี้จึงมีความหมายในเชิงเดียวกัน 1. อะฮ์ลุลบัยต์ หมายถึง ชาว (กลุ่มคนที่อยู่รวมกันใน) บ้าน 2. อะฮ์ลุลนะบี หมายถึง ครอบครัวของท่านศาสดา 3. อะฮ์ลุลบัยตุนนะบี หมายถึง ครอบครัวแห่งบ้านของท่านศาสดา 

อรรถาธิบาย[แก้]

มีทัศนะมากมายเกี่ยวกับ “ใครคืออะฮ์ลุลบัยต์” แม้มีทัศนะที่หลากหลายแต่ในหมู่นิกายชีอะฮ์ มีความเห็นตรงกันว่า อะฮ์ลุลบัยต์ หมายถึง “อะฮ์ลุลกิซา” (สมาชิกภายใต้ผ้าคลุม) กล่าวคือเฉพาะท่านอิมามอาลี (อ.) ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (ซ) ท่านอิมามฮาซัน และ อิมามฮุเซน (อ.) เท่านั้นที่เป็นสมาชิกในบ้านที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เป็นเจ้าของ แต่บรรดาชาว ซุนนีมีทัศนะที่แต่งต่างกัน เรื่องนี้ถูกกล่าวย้ำไว้ในซูเราะฮ์ อัล-อะฮ์ซาบโองการที่ 32–34 ว่า

โอ้ บรรดาภริยาของนะบีเอ๋ย! พวกเธอไม่เหมือนกับสตรีใด ๆ ในเหล่าสตรีอื่น (มีตำแหน่งที่สูงส่งกว่า) หากพวกเธอยำเกรง (อัลลอฮ์) ก็ไม่ควรพูดจาเพราะพริ้ง (กับบรรดาบุรุษ) นัก เพราะจะทำให้ผู้ที่ในหัวใจของเขามีโรคเกิดความโลภ แต่จงพูดด้วยถ้อยคำที่พอเหมาะพอควร และจงอยู่ในบ้านเรือนของพวกเธอ (และอย่าออกนอกบ้านโดยไม่มีเหตุผลอันควร) และอย่าได้โอ้อวดความงาม (ของพวกเธอ) เช่น การอวดความงาม (ของพวกสตรี) ในยุคแห่งความงมงายของผู้โง่เขลา และจงดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาต (แก่ผู้ยากไร้) และจงภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ แท้จริง พระองค์เพียงแต่ต้องการที่จะทำให้พวกท่าน ปราศจากมลทินทั้งปวงโอ้สมาชิกของวงศ์ตระกูล (นะบี) และทรง (ประสงค์) ที่จะให้พวกท่านเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์และจงอ่านสิ่งที่ได้ถูกอ่านในบ้านเรือนของพวกเธอ เช่น จากโองการทั้งหลายของอัลลอฮ์และฮิกมะฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้อย่างละเอียด ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง

— อัลกุรอาน 33:32–34 [i]

การให้ความสำคัญ[แก้]

อะฮ์ลุลบัยต์ในอัล-กุรอาน[แก้]

อะฮ์ลุลบัยต์ถูกกล่าวไว้หลายครั้งในอัลกุรอาน ซึ่งหนึ่งในกรณีที่สำคัญที่สุดคือ ซูเราะฮ์ อะห์ซาบ อายะฮ์ที่ 33 وَ قَرْنَ في‏ بُيُوتِکُنَّ وَ لا تَبَرَّجْنَ تَبَرُّجَ الْجاهِلِيَّةِ الْأُولى‏ وَ أَقِمْنَ الصَّلاةَ وَ آتينَ الزَّکاةَ وَ أَطِعْنَ اللَّهَ وَ رَسُولَهُ إِنَّما يُريدُ اللَّهُ لِيُذْهِبَ عَنْکُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَيْتِ وَ يُطَهِّرَکُمْ تَطْهيراً จงอยู่ในบ้านเรือนของพวกเธอ (และอย่าออกนอกบ้านโดยไม่มีเหตุผลอันควร) และอย่าได้โอ้อวดความงาม (ของพวกเธอ) เช่น การอวดความงาม (ของพวกสตรี) แห่งสมัยงมงายในยุคของผู้โง่เขลา และจงดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาต (แก่ผู้ยากไร้) และจงภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ แท้จริง พระองค์ เพียงแต่ต้องการที่จะทำให้พวกท่านปราศจากมลทินทั้งปวง โอ้สมาชิกของวงศ์ตระกูล (นะบี) และทรง (ประสงค์) ที่จะให้พวกท่านเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์

อายะฮ์ที่ 23 ซูเราะฮ์ชูรอ ก็บ่งชี้ถึงญาติผู้ใกล้ชิดของท่านศาสดาไว้เช่นเดียวกัน ذَٰلِكَ الَّذِي يُبَشِّرُ‌ اللَّـهُ عِبَادَهُ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ ۗ قُل لَّا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرً‌ا إِلَّا الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْ‌بَىٰ ۗ وَمَن يَقْتَرِ‌فْ حَسَنَةً نَّزِدْ لَهُ فِيهَا حُسْنًا ۚ إِنَّ اللَّـهَ غَفُورٌ‌ شَكُورٌ‌ นั่นคือความโปรดปราน (สวรรค์นิรันดร์) ของอัลลอฮ์ทรงแจ้งข่าวดีแก่ปวงบ่าวของพระองค์ ซึ่งพวกเขาได้ศรัทธาและปฏิบัติความดีต่าง ๆ จงกล่าวเถิดมุฮัมหมัด ฉันมิได้ขอร้องค่าตอบแทนใด ๆ เพื่อการนี้ เว้นแต่เพื่อความรักใคร่ในเครือญาติและผู้ใดกระทำความดี เราจะเพิ่มพูนความดีในนั้นให้แก่เขา แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัยผู้ทรงชื่นชม (เพราะการภักดีของพวกเขา)

ดังโองการนี้พระองค์ทรงมีบัญชาแก่ท่านศาสดามุฮัมหมัด ให้ผู้ที่ปฏิบัติตามท่านมอบความรักต่อเครือญาติของท่าน

ทัศนะในเชิงประวัติศาสตร์[แก้]

ตามทัศนะของฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด ปีเตอร์ อาจารย์วัยเกษียณจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สาขาอิสลามศึกษาและเอเชียตะวันออกกลาง “ก่อนการปรากฏของอิสลามและช่วงต้นของอิสลาม อะฮ์ลุลบัยต์ เป็นฉายาของเผ่ากุรอยช์ และ บัยต์ ณ ตรงนี้หมายถึงวิหารกะอ์บะฮ์ ในนครมักกะฮ์ ต่อมาคำดังกล่าวได้ถูกใช้ และส่งอิทธิพลในเชิงการเมือง เกี่ยวกับโองการที่ 33 ซูเราะฮ์อะฮ์ซาบซึ่งเป็น ซูเราะฮ์ที่ 33 ของอัล-กุรอาน การอรรถาธิบายในเชิงการเมืองเกิดขึ้นภายหลังจากที่คอลีฟะฮ์อุษมานถูกสังหาร และราชวงศ์อุมัยยะฮ์ขึ้นปกครองและเป็นช่วงความขัดแย้งในการขึ้นปกครองระหว่าง ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ และลูกหลานของอาลี ตามคำกล่าวข้างต้นความหมายของอะฮ์ลุลบัยต์ จึงหมายถึง อาลี ฟาติมะฮ์ ฮาซัน และ ฮุเซน เป็นการเฉพาะ ตามคำกล่าวของปีเตอร์ ภายหลังจากการให้ความหมายนี้ ก็ได้มีการกล่าวถึงวจนะของมุฮัมหมัด (ท่านศาสดา) เกี่ยวกับโองการข้างต้นกันอย่างแพร่หลาย อันได้แก่ วจนะที่เกี่ยวกับ ห้าท่านที่อยู่ภายใต้ผ้าคลุมของท่านศาสดา (ศ็อลฯ.[4]

Laura Veccia Vaglieri ได้เขียนในสารานุกรมอิสลามว่า โองการก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งบางประการต่อบรรดาภรรยาของท่านศาสดา และมีการใช้คำกิริยา รวมถึง สรรพนามเป็นพหูพจน์ที่บ่งชี้ถึงผู้หญิงแต่เมื่อถึงโองการที่กล่าวถึง อะฮ์ลุลบัยต์ นั้นได้ใช้ สรรพนามเป็นพหูพจน์ที่บ่งชี้ถึงผู้ชาย ดังนั้นโองการจึงไม่เกี่ยวข้องกับภรรยาของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้หมายถึงพวกนางเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นโองการนี้กล่าวถึงใครกัน? คำว่า อะฮ์ลุลบัยต์สามารถสื่อความหมายถึงครอบครัวของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เพียงเท่านั้น ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องหมายรวมถึงเครือญาติของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ไม่ว่าผู้ที่อยู่ในเผ่าของท่าน หรือ จะเป็นกลุ่มอันศอร หรือ สังคมอื่น ๆ แต่กลับมีเรื่องราวที่ถูกกล่าวไว้ในวจนะต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นรายงานที่กล่าวว่า มุฮัมหมัด ได้เปิดอะบา (ผ้าคลุมผืนนอก) ออกและนำมาคลุมหลานของท่านทั้งสองคือฮาซัน และ ฮุเซน บุตรสาวของท่านคือฟาติมะฮ์ และลูกเขยของท่านคือ อาลี ในหลายต่อหลายครั้ง (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์มุบาฮิละฮ์) และห้าท่านนี้ถูกขนานนามว่า “ชาวผ้าคลุมกิซา” แม้ว่ามีบางท่านพยายามที่จะนำบรรดาภรรยาของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามจำนวนของบุคคลที่ได้รับความประเสริฐเช่นนี้มีเพียงแค่ห้าท่านเท่านั้น[5]

Wilferd Madelung ได้วิภาษทัศนะของปีเตอร์ว่า อัล-กุรอาน ในโองการ ตัฏฮีร (โองการ 33 ซูเราะฮ์ อะห์ซาบ) ได้มอบตำแหน่งผู้บริสุทธิ์แก่อะฮ์ลุลบัยต์ท่านศาสดา แม้ว่าโองการดังกล่าวจะอยู่ระหว่างโองการที่กล่าวถึงบรรดาภรรยาของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ก็ตาม แต่สรรพนามที่ถูกใช้ เป็นพหูพจน์ที่บ่งชี้ถึงผู้ชาย ตามบทความของ Wilferd Madelung นอกจากการเห็นพ้องตามนิกายชีอะฮ์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว แม้แต่ในแหล่งอ้างอิงของชาวซุนนี อาทิ ตัฟซีร ฏอบารี ก็ได้กำหนดรูปธรรมของโองการดังกล่าวว่าหมายถึง “มุฮัมหมัด อาลี ฟาติมะฮ์ ฮาซัน ฮุเซน” แม้ว่าจะมีบางการอรรถาธิบายที่พยายามกล่าวว่าภรรยาของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ก็สามารถเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ได้ด้วยการสมรสกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) แต่โดยหลักการ โองการนี้บ่งชี้ถึงเครือญาติทางสายเลือดเดียวกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เท่านั้น ซึ่งด้วยกับตำแหน่งที่สูงส่งของพวกเขาจึงถูกห้ามมิให้รับบริจาค หรือ ทานจากผู้ใด” [6] ตามบทความของฮามิด อัลการ์ ก็เช่นเดียวกัน เขาได้กล่าวถึงโองการนี้ว่า “โองการนี้กล่าวถึงห้าท่านภายใต้ผ้าคลุม”[7]

ทัศนะของอิสลาม[แก้]

ในอัลกุรอานคำนี้ได้ถูกใช้เพื่อกล่าวถึงลูกหลานของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ซึ่งแจ้งข่าวดีในการได้รับความเมตตาและความโปรดปรานจากฟากฟ้า [8] เช่นเดียวกัน ณ อีกโองการหนึ่งคำนี้ได้ถูกใช้เพื่อบ่งชี้ถึงลูกหลานของท่านศาสดามุฮัมหมัด (ศ็อลฯ) และกล่าวว่าพระองค์จะทรงปกป้องพวกเขาจากมลทินทั้งปวง [9] นักอรรถาธิบายอัลกุรอานทั้งหมดของนิกายชีอะฮ์รวมถึงนักอรรถาธิบายอัลกุรอานชาวซุนนีบางท่าน ถือว่า โองการนี้กล่าวถึง ห้าท่านใต้ผ้าคลุมหรือ “ชาวผ้าคลุมกิซา” ซึ่งมี ท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ศ็อลฯ) อาลี ฟาตะมะห์ ฮาซัน ฮุเซน ทัศนะดังกล่าววางอยู่บนบรรทัดฐานรายงานต่าง ๆ ของทั้งนิกายชีอะฮ์ และ ชาวซุนนี อาทิ ฮาดิษกิซา ฮาดิษมุบาฮิละห์ ฮาดิษมะวัดดัต กุรบา [10][11][12]

ตามความเชื่อของชาวชีอะฮ์ ความหมายของอะฮ์ลุลบัยต์ คือความหมายเดียวกับความหมายที่ถูกกล่าวถึงในวจนะต่าง ๆ อาทิ ฮาดิษษะกอลัยน์ ฮาดิษซาฟีนะฮ์ ฮาดิษนุญูม และ ฮาดิษสิบสองอิมาม เพราะจากการประมวลผลทางสติปัญญาและทางการรายงาน ตำแหน่งที่ถูกกล่าวถึงในวจนะต่าง ๆ นั้นยืนยันเกี่ยวกับพวกเขาเท่านั้น เช่นเดียวกับที่ชาวซุนนีกลุ่มหนึ่งได้ให้ทัศนะเช่นนี้เหมือนกัน บนพื้นฐานของหลักฐานต่าง ๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ ทางประวัติศาสตร์อิสลาม ชาวชีอะฮ์ จึงเชื่อว่า อะฮ์ลุลบัยต์ มีเพียง 14 ท่านผู้บริสุทธิ์ เท่านั้น และตามหลักฐานดังกล่าว แม้แต่บรรดาภรรยาของท่านศาสดาก็ไม่สามารถรวมอยู่ในวงล้อมนี้ได้ แม้ว่าตำแหน่งของบรรดาภรรยาของท่านศาสดานั้นสูงส่งอยู่แล้ว ณ พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)

ชาวซุนนีได้มีทัศนะที่หลากหลายเกี่ยวกับอะฮ์ลุลบัยต์ บางกลุ่มได้กล่าวว่าอะฮ์ลุลบัยต์หมายถึง ห้าท่านภายใต้ผ้าคลุมกิซา บางกลุ่มได้กล่าวว่าหมายถึงบรรดาภรรยาของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) บางกลุ่มกล่าวว่าหมายถึงลูกหลานของฮาชิม และบางกลุ่มได้ให้ความหมายว่า ผู้ใกล้ชิดของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)

อ้างอิง[แก้]

  1. อัลกุรอาน 33:32–34
  1. Ahl al-Bayt, Encyclopedia of Islam
  2. Who are Ahlul-Bayt?
  3. Mufradat al-Qur'an by Raghib Isfahani; Qamus by Firoozabadi; Majm'a al-Bahrayn
  4. A Reader on classical Islam By Francis E. Peters, Prinston University, 1994, Page 131-1
  5. "Fāṭima." Encyclopaedia of Islam, Second Edition. Edited by: P. Bearman, Th. Bianquis, C.E. Bosworth, E. van Donzel, W.P. Heinrichs. Brill Online, 2014. Reference.
  6. Madelung, 1997, p. 14 and 15
  7. H. Algar, “Al-E Aba,” Encyclopædia Iranica, I/7, p. 742; an updated version is available online at http://www.iranicaonline.org/articles/al-e-aba-the-family-of-the-cloak-i (accessed on 14 May 2014).
  8. سوره هود، آیه ۷۳
  9. سوره احزاب، آیه ۳۳
  10. Encyclopaedia Islamica، ۱۰/۲۶۶
  11. فضائل الخمسه من الصّحّاح السّته، ۱/۲۱۴
  12. اعیان الشیعه، ۱/۳۰۹

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • I. K. A. Howard, Ahl al-Bayt ใน Encyclopædia Iranica.