ออกขุนศรีวิสารวาจา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ออกขุนศรีวิสารวาจา
ภาพวาดของคณะราชทูตสยามซึ่งเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 ประกอบด้วย ออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต (กลาง ถือพระราชสาสน์) ออกหลวงกัลยาณไมตรี อุปทูต (ซ้าย) และขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต (ขวา)
อาชีพขุนนาง ,นักการทูต
มีชื่อเสียงจากตรีทูตของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

ขุนศรีวิสารวาจา เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เป็นขุนนางและนักการทูตชาวสยามที่ได้เดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศสในฐานะตรีทูตของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เมื่อ พ.ศ. 2229

ออกขุนศรีวิสารวาจา สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดในราวปี 2199–2204 ในช่วงต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนบิดาของออกขุนศรีวิสารวาจานั้นเคยเป็นราชทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับโปรตุเกส[1] สำหรับออกขุนศรีวิสารวาจานั้นก่อนเป็นตรีทูตเดินทางไปฝรั่งเศสเคยเป็นทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีที่จักรวรรดิโมกุล มาแล้ว[1]

ส่วนสาเหตุที่ท่านได้เป็นตรีทูตเดินทางไปฝรั่งเศสคงเป็นเพราะต้องการให้ท่านได้เรียนรู้งานโดยสันนิษฐานว่าบิดาและท่านอาจจะรับราชการอยู่ในกรมท่า แต่ตัวท่านก็เกือบมิได้เดินทางไปฝรั่งเศส เนื่องจากก่อนเดินทางเพียง 8 วันได้มีผู้ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฟ้องร้องท่านด้วยเรื่องราวบางอย่างแต่ฎีกาฉบับนั้นก็ถูกตีตกไป[2] ซึ่งคณะทูตชุดนี้เดินทางไปฝรั่งเศสพร้อมกับคณะทูตของอาแล็กซ็องดร์ อัศวินแห่งโชมง ที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี โดยออกขุนศรีวิสารวาจาเป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์นก่อนส่งต่อให้ออกพระวิสูตรสุนทร[1]

ต่อมาคณะทูตชุดนี้ได้เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับซีมง เดอ ลาลูแบร์และโกลด เซเบอแร ดูว์ บูแล ที่เป็นทูตเดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยลาลูแบร์ได้บันทึกว่าออกขุนศรีวิสารวาจาได้ทำหน้าที่ถวายรายงานเรื่องราวที่ได้จดบันทึกมาตั้งแต่ต้นจนจบ ในเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231 ออกขุนศรีวิสารวาจาได้เข้าร่วมก่อการกับทางฝั่งพระเพทราชา พร้อมกับออกพระวิสูตรสุนทร ราชทูต และออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต ต่อมาในปี 2241 ท่านได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะขุนนางออกไปรับคณะทูตที่นำโดยบาทหลวงกีย์ ตาชาร์ ที่นำพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายแด่สมเด็จพระเพทราชา ณ เมืองมะริด[1]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]