หลักนิยมทางทหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หลักนิยมทางทหาร (อังกฤษ: Military doctrine) หมายถึง การจัดการกำลังทหารในการมีส่วนร่วมในการทัพ ปฏิบัติการทางทหาร ยุทธการและยุทธนาการต่าง ๆ โดยจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับทฤษฎี ประวัติศาสตร์ การทดลองและการปฏิบัติ และมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์อีกด้วย

หลักนิยมทางทหารเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการ โดยเป็นการวางโครงร่างให้กับกำลังทหารทั้งหมด ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจัดมาตรฐานของปฏิบัติการ สร้างรูปแบบทั่วไปในการบรรลุเป้าหมายทางการทหาร เพื่อให้เกิดความง่ายและความคล่องแคล่ว และยังเป็นการวางพื้นฐานของการกำหนดรูปแบบการดำเนินการของปฏิบัติการทางทหาร สำหรับนักวางแผนทางการทหาร

การจำกัดความ[แก้]

คำว่า "หลักนิยม" (doctrine) มาจากคำ doctrina ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า คำสั่งสอน คำแนะนำ หลักนิยม สืบทอดมาจากรากฐานความเชื่อตามคำสอน ที่สั่งสอนกันมา เคยมีผู้แปล doctrine ว่า ลัทธิ หลัก คำสั่งสอน อันเป็นความเชื่อ และเป็นที่ยอมรับของผู้คน โดยสาระสำคัญแล้ว หมายถึง "สิ่งที่เราเชื่อ" (What We Believe)

อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ชัดเจนที่สุด และเข้าใจได้ง่ายที่สุดของหลักนิยม ได้แก่

"หลักนิยม" คือ สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นหนทางที่ "ดีที่สุด" ในการทำกิจกรรมใด ๆ

คำว่า หลักนิยมทางทหาร มีคำจำกัดความอยู่หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น :-

  • การจำกัดความของหลักนิยมทางทหาร โดยเนโท ซึ่งได้ใช้กันอย่างแพร่หลายในรัฐสมาชิก ว่าเป็น "หลักการพื้นฐานอันเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติการทางทหารเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ และแม้ว่าหลักการดังกล่าวจะเป็นพื้นฐาน แต่จำเป็นต้องอาศัยวิจารณญาณในทางปฏิบัติด้วย"[1]
  • จาก Dictionary of Basic Military Terms ของโซเวียต ได้ระบุว่าเป็น "รูปแบบซึ่งได้รับการเห็นชอบจากรัฐ อันตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์ของธรรมชาติของการทำสงครามสมัยใหม่ และการใช้กองกำลังติดอาวุธในการทำสงครามสมัยใหม่... หลักนิยมทางทหารสามารถแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ: ในด้านสังคม-การเมือง และในด้านการทหาร-เทคนิค"[2] สำหรับด้านสังคม-การเมืองแล้ว "เป็นการตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎี รากฐานทางเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายทางการเมืองของการทำสงคราม อันเป็นการจำกัดความและด้านที่มีเสถียรภาพมากกว่า" ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ในทางการทหาร-เทคนิคแล้ว นอกจากจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายทางการเมืองแล้ว ยังรวมไปถึง "การสร้างโครงสร้างทางทหาร เครื่องมือทางเทคนิคของกองกำลังติดอาวุธ การฝึกอบรม เป็นการจำกัดความของรูปแบบและเจตนาของการลงมือปฏิบัติการทางทหารหรือการดำเนินสงครามโดยรวม"[3]

ความสัมพันธ์ระหว่างหลักนิยมกับยุทธศาสตร์[แก้]

ยุทธศาสตร์การทหาร เป็นการหาเหตุผลสำหรับปฏิบัติการทางทหาร ในขณะที่หลักนิยม เป็นการมุ่งตอบคำถามโครงร่างในรูปแบบของระบบกองทัพ อย่างเช่น :

  • เป้าหมายของระบบ
  • ภารกิจของกองทัพ
  • วิธีการดำเนินการเพื่อบรรลุภารกิจ
  • วิธีการดำเนินการเพื่อบรรลุภารกิจที่เคยปรากฏในอดีต
  • และอื่น ๆ

ในทำนองเดียวกัน หลักนิยมก็ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธี แต่เป็นการรวมเอาโครงสร้างทั้งสามระดับของการทำสงคราม (ยุทธศาสตร์การทหาร ปฏิบัติการทางทหาร และยุทธวิธีทางทหาร) หลักนิยมทางทหาร จึงเป็นการสะท้อนถึงการตัดสินใจของนายทหารระดับสูง ไปจนถึงผู้นำพลเรือนที่สำคัญ เกี่ยวกับการตัดสินใจในสิ่งที่คาดว่าเป็นประโยชน์และเป็นไปได้หรือไม่ในทางทหาร ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ :-

  • เทคโนโลยีทางทหาร
  • ภูมิศาสตร์ของประเทศ
  • ความสามารถในการปรปักษ์
  • ความสามารถในองค์กรของตน[4]

หลักนิยมกับยุทธศาสตร์นั้น คำทั้ง 2 คำนี้ เป็นนามธรรมที่ละเอียดอ่อนแล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคน แต่ก็พอจะจับประเด็นเปรียบเทียบระหว่าง "หลักนิยม" กับ "ยุทธศาสตร์" ได้ดังนี้คือ ยุทธศาสตร์ เป็นศาสตร์และศิลป์ ในการใช้พลังอำนาจต่าง ๆ ในทุกโอกาสไม่ว่าในสภาวะสงครามหรือปกติ ค่อนข้างจะมีลักษณะเป็นแผนการปฏิบัติมากกว่าหลักนิยม แต่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายกันคือ ให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบคู่แข่งขัน หรือให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ยุทธศาสตร์ จึงมีลักษณะเป็นศาสตร์ในการกำหนดหนทางการปฏิบัติ แต่หลักนิยม เป็นเครื่องกำกับ หรือชี้แนะ จึงมีความอ่อนตัวมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เพราะว่า ยุทธศาสตร์ เป็นหนทางปฏิบัติ ที่มาจากการวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์พลังอำนาจแห่งชาติ หรือของกองทัพฝ่ายเรา และฝ่ายข้าศึก จากสถานการณ์ที่เป็นสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน แต่หลักนิยม มีที่มาจาก หลักความจริงอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป มาจากความเชื่อของผู้คน และมาจากบทเรียนในประวัติศาสตร์สงครามซ้ำแล้วซ้ำเล่า บนเงื่อนไขสถานการณ์อันหนึ่งที่ระบุไว้ หรือสภาวะแวดล้อมในอดีต ดังนั้น หากสถานการณ์ที่ประเมินได้ในปัจจุบันตรงกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่ระบุไว้ในหลักนิยมแล้ว หลักนิยมนั้น จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที

อ้างอิง[แก้]

  1. "AAP-06 Edition 2021 - NATO Glossary of Terms and Definitions" (PDF). Universitatea Națională de Apărare "Carol I" (ภาษาอังกฤษ และ ฝรั่งเศส).
  2. William E. Odom (Winter 1988–89). "Soviet Military Doctrine". Foreign Affairs: 6–7. JSTOR 20043776. Moscow: Voenizdat, 1965
  3. William E. Odom (Winter 1988–89). "Soviet Military Doctrine". Foreign Affairs: 7. doi:10.2307/20043776. A. Beleyev, "The Military-Theoretical Heritage of M. V. Frunze," Krasnaya Zvezda (Red Star), November 4, 1984
  4. Posen, Barry R. (1984). The Sources of Military Doctrine: France, Britain, and Germany Between the World Wars. Cornell University Press. p. 13. ISBN 0-8014-9427-3. JSTOR 10.7591/j.ctt1287fp3.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]