หม่อมเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์แดง อิศรเสนา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ร้อยเอก

หม่อมเทวาธิราช

เกิด24 กันยายน พ.ศ. 2392
เสียชีวิต9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 (69 ปี)
สาเหตุเสียชีวิตไข้หวัดใหญ่
บิดามารดา
  • หม่อมเจ้าจันตรี อิศรเสนา (บิดา)
  • หม่อมสวน อิศรเสนา (มารดา)

ร้อยเอก หม่อมเทวาธิราช (หม่อมราชวงศ์แดง อิศรเสนา) จ.ช., ร.จ.ม. เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรงกับวันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2392 เป็นบุตรใหญ่ในหม่อมเจ้าจันตรี อิศรเสนา เกิดแต่หม่อมสวน อิศรเสนา ณ อยุธยา มีน้องต่างมารดา คือ ร้อยเอก หม่อมราชวงศ์มุ้ย อิศรเสนา, หลวงราชดรุณรักษ์ (หม่อมราชวงศ์สอาด อิศรเสนา) บิดาของพระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา), พระวรภัณฑ์ภักดี (หม่อมราชวงศ์เหมือน อิศรเสนา) และหม่อมราชวงศ์ไหม อิศรเสนา

หม่อมเทวาธิราชเป็นไทยผู้แรกที่เรียนรู้วิชาช่างโทรเลข โดยได้รับถ่ายทอดวิชาจากนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ (ต้นสกุล เศวตศิลา) เดิมรับราชการอยู่กรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาท่านเป็นนายงานสร้างโทรเลขสายแรกของกรุงสยาม (สายปากน้ำ) และเมื่อดำเนินการสร้างโทรเลขสายปากน้ำลุล่วงแล้วจึงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายงานสร้างโทรเลขสายอื่นๆทั่วพระราชอาณาเขตในเวลานั้นด้วย

กระทั่งปีวอก พ.ศ. 2427 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็นหม่อมเทวาธิราช ราชนิกูล ครั้นการสร้างโทรเลขในสมัยนั้นสำเร็จได้ใช้การทุกสายแล้ว จึงลาพักงานราชการหันไปประกอบการค้าขายทางหัวเมืองเหนือ เที่ยวระหกระเหินอยู่หลายปีจึงกลับเข้ารับราชการทหารอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยเอกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2448[1]รับราชการในกรมสรรพยุทธ แล้วย้ายมากรมจเรทหารช่าง และกรมเกียกกายกองทัพบกเป็นที่สุด มาจนปีชวด พ.ศ. 2455 หม่อมเทวาธิราชชรา อายุได้ 63 ปี จึงออกจากตำแหน่งประจำราชการ ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญต่อมา

หม่อมเทวาธิราชมีนิวาสถานอยู่บริเวณถนนรามบุตรีในปัจจุบัน (บริเวณโรงเรียนอัมพรไพศาลเดิม) มีภรรยาและบุตรเท่าที่ทราบดังนี้

  • นางเลื่อม เทวาธิราช บุตรี หมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช (สวน ถาวโรทยาน) และ นางเอี่ยม กษัตริย์ศรีศักดิเดช
    • หม่อมหลวงพร้อม อิศรเสนา
    • หม่อมหลวงหญิง เยื้อ อิศรเสนา
    • เสวกเอก พระยาพิพิธไอสูรย์ (หม่อมหลวงยินดี อิศรเสนา) ต.ช., ต.ม., ต.จ.ว., ว.ป.ร.๔, ป.ป.ร. ๔, ร.จ.ท.(๖), ร.จ.พ. อดีตเจ้ากรมพัสดุ สมรสกับ คุณหญิงเนื่อง พิพิธไอสูรย์ (สุจริตกุล) บุตรีในเจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี กับท่านผู้หญิงจีบ สิริรัตนมนตรี (ไม่มีบุตรกับคุณหญิง) พระพาพิพิธไอสูรย์มีบุตรที่เกิดจากนางพัน อิศรเสนา ณ อยุธยา คือ รองเสวกตรี ขุนวิมานวัชรี (ดั่น อิศรเสนา ณ อยุธยา) บ.ม., ร.จ.ท.(๖), ร.จ.ท.(๗), ภ.ป.ร.๕
    • หม่อมหลวงดัด อิศรเสนา
  • นางใย อิศรเสนา ณ อยุธยา บุตรี ท้าวอินทกัลยา (เพื่อน พวงนาก) กับนายดิศ ท้าวอินทกัลยา (เพื่อน) เป็นบุตรีท้าวมังสี (แสง ณ เวียงจันทน์) กับนายนาค พวงนาก

หม่อมเทวาธิราชออกจากราชการแล้วเป็นปกติอยู่ไม่กี่ปีก็เกิดโรคปัสสาวะพิการ เป็นเหตุให้ทุพพลภาพอยู่ช้านาน หม่อมเทวาธิราชถึงแก่กรรมด้วยสาเหตุไข้หวัดใหญ่ที่บ้านข้างวัดชนะสงคราม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 อายุได้ 69 ปี[2]พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดสระเกศ เมื่อวันที่ 20 เมษายน ปี พ.ศ. 2462 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเงิน 1,000 สตางค์ ผ้าขาว 2 พับ[3] และมีการพิมพ์หนังสือ ตำนานวังน่า ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพอีกด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]