สัญญาณเรียกขานทางทะเล
สัญญาณเรียกขานทางทะเล (อังกฤษ: Maritime call sign) เป็นสัญญาณเรียกขานที่กำหนดให้เป็นสิ่งระบุตัวตนโดยเฉพาะของเรือ สำหรับใช้ในการสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสาร ซึ่งเรือพาณิชย์และเรือเดินสมุทรของแต่ละประเทศนั้นจะถูกกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลความถี่และออกใบอนุญาตทางทะเลของแต่ละชาติ
ความเป็นมา
[แก้]ในช่วงแรกของการใช้งานวิทยุโทรเลข วิทยุโทรเลขนั้นถูกติดตั้งอยู่บนเรือเดินสมุทร โดยก่อนจะมีการกำหนดมาตรฐานสากลในการสื่อสารนั้น ได้มีการสร้างเครื่องส่งสัญญาณวิทยุเพื่อสื่อสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรกโดยกูลเยลโม มาร์โกนี ในปี พ.ศ. 2444[1] โดยใช้หลักการเดียวกับการสื่อสารโทรเลขทางรถไฟในการกำหนดให้อักษร 2 ตัวแรกในการส่งรหัสมอส์ต แทนชื่อของสถานีที่ส่งสัญญาณในแต่ละบรรทัดของข้อความ อาทิ AX หมายถึงข้อความส่งมาจากสถานีของ Halifax อักษร N และตัวอักษรอีก 2 ตัวจะหมายถึงกองทัพเรือสหรัฐฯ และ อักษร M และตัวอักษรอีก 2 ตัวจะหมายถึงสถานีของมาร์โกนี
ในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2455 อาร์เอ็มเอส ไททานิก สัญญาณเรียกขาน MGY กำลังวุ่นอยู่กับการส่งโทรเลขจากผู้โดยสารบนเรือไปยังสถานีชายฝั่งเคปเรส เมืองนิวฟันด์แลนด์ สัญญาณเรียกขาน MCE ซึ่งขณะนั้นเองได้รับคำเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งจากสถานีของมาร์โกนีบนเรือ เอสเอส เมซาบา (SS Mesaba) สัญญาณเรียกขาน MMU และ เอสเอส แคลิฟอร์เนียน (SS Californian) สัญญาณเรียกขาน MWL[2] แต่ก็ไม่มีการตอบสนองหรือแจ้งเตือนไปยังกัปตันเรือแต่อย่างใด จนกระทั่งเรือประสบเหตุ ได้มีการเรียกขานขอความช่วยเหลือด้วยข้อความ CQD CQD CQD CQD CQD CQD DE MGY MGY MGY MGY MGY MGY POSITION 41.44 N 50.24 W ซึ่งได้รับการตอบรับข้อความโดยเรือ อาร์เอ็มเอส คาร์เพเทีย (RMS Carpathia) สัญญาณเรียกขาน MPA[3] หลังจากนั้นในปีเดียวกัน จึงได้เกิดการประชุมระหว่างประเทศเพื่อกำหนดมาตรฐานของสัญญาณเรียกขานทางวิทยุสื่อสาร โดยกำหนดให้อักษร 2 ตัวแรกของสัญญาณเรียกขานนั้นสามารถระบุตัวตนสถานีว่าเป็นของประเทศใดในการออกากาศ
สำหรับเรือพาณิชย์และเรือเดินสมุทรและละลำนั้นจะถูกกำหนดสัญญาณเรียกขานโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านคลื่นความถี่วิทยุ หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการทางทะเลของชาติประเทศต้นทางของเรือ ในกรณีของรัฐต่าง ๆ ที่มีการจดทะเบียนแบบเรือชักธงสะดวก (Flag of convenience)[4] อาทิ ปานามา ไลบีเรีย สัญญาณเรียกขานทางทะเลสำหรับเรือขนาดใหญ่จะประกอบไปด้วยคำนำหน้าประเทศ ตามด้วยตัวอักษร 3 ตัว (เช่น 3LXY และบางครั้งตามด้วยตัวเลข เช่น 3LXY2) ส่วนของเรือพาณิชย์ของสหรัฐฯ นั้น จะได้รับสัญญาณเรียกขานที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร "W" หรือ "K" ในขณะที่เรือของกองทัพเรือสหรัฐจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร "N" แต่เดิมนั้น ทั้งตัวเรือและสถานีที่ออกอากาศนั้นจะได้รับสัญญาณเรียกขานประจำตัวประมาณ 3 ถึง 4 หลัก จนกระทั้งความต้องการสัญญาณเรียกขาน ทั้งทางทะเลและสัญญาณเรียกขานในกิจการอื่น ๆ มีความต้องการสูงขึ้น เรือที่เป็นของสหรัฐจึงได้รับสัญญาณเรียกขานทางทะเลที่ยาวขึ้น และมีตัวอักษรพร้อมทั้งตัวเลขผสมกัน
เมื่อสถานีวิทยุสื่อสารเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในทศวรรษที่ 1920 (ประมาณ พ.ศ. 2463) สัญญาณเรียกขานเดิมที่มีความยาว 3 ถึง 4 ตัวอักษรถูกนำมากำหนดใช้งานใหม่ เนื่องจากเรือที่ใช้งานอยู่เดิมถูกลบออกจากฐานข้อมูล อาทิ สัญญาณเรียกขาน WSB ถูกใช้งานโดยเรือ 2 ลำ คือเรือ เรือ SS Francis H. Leggett ซึ่งอับปางนอกชายฝั่งรัฐออริกอนเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2457 และต่อมาคือเรือ Firwood ซึ่งเป็นเรือที่ถูกทำลายด้วยไฟใกล้เปรูเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2462[5] แต่ต่อมาได้ถูกใช้งานโดยวารสารแอตแลนตา (The Atlanta Journal) ซึ่งได้ดำเนินกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ในปี พ.ศ. 2465 และอีกกรณีที่คล้ายคลึงกัน คือ สัญญาณเรียกขาน WEZU ซึ่งเดิมเป็นสัญญาณเรียกขานทางทะเลของของเรือ SS Lash Atlantico ถูกนำไปใช้งานกับสถานีวิทยุในปี พ.ศ. 2540[6] นอกจากนี้การกำหนดสัญญาณเรียกขานให้เพิ่มเติมนั้นอาจจะกำหนดให้กับสถานีวิทยุสื่อสารชายฝั่ง หรือในกรณีที่มีการขายเรือซึ่งเดิมเป็นของสหรัฐไปยังเจ้าของใหม่ในประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะต้องนำไปจดทะเบียนใหม่ในประเทศนั้น ๆ สัญญาณเรียกขานเดิมนั้นจะถูกนำมาใช้งานใหม่บนสถานีภาคพื้นดินในกิจการวิทยุกระจายเสียง
ในส่วนของเรือสำราญหรือเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กซึ่งมีวิทยุสื่อสารแบบวีเอชเอฟนั้น อาจจะไม่ได้รับการกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล โดยอาจจะใช้การเรียกชื่อเรือแทน และในเรือลาดตระเวนนั้นจะมีการกำหนดหมายเลขแสดงอยู่ที่หัวเรือทั้งสองฝั่ง และมีการใช้งานหมายเลขดังกล่าวเป็นสัญญาณเรียกขาน อาทิ ยามฝั่ง 47021 หมายถึง เรือลำดังกล่าวอยู่ลำดับที่ 21 ในชุดเรือดังกล่าว เรือมีความยาวขนาด 47 ฟุต สัญญาณเรียกขานทางทะเลอาจใช้ตัวย่อเป็นตัวเลขสองหรือสามตัวสุดท้ายของชื่อ เช่น หน่วยยามฝั่ง ศูนย์ สอง หนึ่ง
การกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล
[แก้]การกำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเลนั้นจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่กำกับดูแลคลื่นความถี่และกิจการทางทะเลในแต่ละประเทศ อาทิ
ไทย
[แก้]สำหรับเรือในประเทศไทย หน่วยงานที่กำหนดสัญญาณเรียกขานทางทะเล และ เลขหมายระบุตัวตนในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุในประเทศไทย[8] และกำกับการใช้งานทางทะเลโดยกรมเจ้าท่า[9]
สหรัฐ
[แก้]สำหรับเรือในสหรัฐอเมริกาที่ต้องการมีใบอนุญาตวิทยุนั้น จะต้องดำเนินการตาม FCC Radio Service Code SA: "Ship Recreational or Voluntarily Equipped"[10] ซึ่งมีคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) เป็นผู้กำกับดูแลอยู่
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Intellectual Property, Telecommunication Patents, Wireless Telegraphy". Q-Thai Forum.
- ↑ "Titanic FAQs, Page 2: Signals". Marconigraph.com. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 21, 2009.
- ↑ "The RMS Titanic Radio Page". HF.ro. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 17, 2016.
- ↑ Technology, Ship Expert. "5 อันดับประเทศยอดฮิตจดทะเบียนเรือ". blog.shipexpert.net (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Fenwick, William (July 1928). "Broadcast Station Calls With a Past". Radio Broadcast. Doubleday, Doran & Company, Inc.: 150.
- ↑ "US NODC Codes for worldwide ships sorted by ship name". International Research Vessel Schedules & Information. Oceanic Information Center. สืบค้นเมื่อ December 29, 2019.
- ↑ "HTMS Phutthaloetla Naphalai FFG 462". Helis.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล" (PDF). ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำนักงาน กสทช.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ระเบียบข้อบังคับสำนักนำร่อง เขตท่าเรือกรุงเทพฯ - สำนักนำร่อง (md.go.th)
- ↑ "Ship Radio Stations". Federal Communications Commission. October 9, 2019. สืบค้นเมื่อ December 29, 2019.