ข้ามไปเนื้อหา

สมาพันธ์หัวใจโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาพันธ์หัวใจโลก
World Heart Federation (WHF)
สถาปนาค.ศ. 1978
ภารกิจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดสำหรับทุกคน
ประธานดานิเอล โฆเซ ปิญเญย์โร (Daniel José Piñeiro)
ที่ตั้ง
เว็บไซต์https://world-heart-federation.org/

สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation, WHF) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับสมาพันธ์ในฐานะองค์กรเอกชนพันธมิตรชั้นนำในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

ประวัติ

[แก้]

สมาพันธ์หัวใจโลกก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยการควบรวมของสมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (International Society of Cardiology, ISC) และสหพันธ์แพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (International Cardiology Federation, ICF) ภายใต้ชื่อสหพันธ์สมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (International Society and Federation of Cardiology, ISFC) ใน พ.ศ. 2541 องค์กรนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation)[1]

สมาพันธ์เป็นตัวแทนขององค์กรต่าง ๆ มากกว่า 200 องค์กรในกว่า 100 ประเทศ[1] โดยเป็นองค์กรชั้นนำในการส่งเสริมสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดทั่วโลก ซึ่งมีพันธกิจในการทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูล การดูแล และการรักษาที่ต้องการ เพื่อรักษาสุขภาวะของหัวใจให้แข็งแรง

สมาพันธ์หัวใจโลกเป็นองค์กรโรคหัวใจและหลอดเลือดเพียงแห่งเดียวที่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับองค์การอนามัยโลก[1]

การประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ

[แก้]

สมาพันธ์หัวใจโลกเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกด้านหทัยวิทยา (World Congress of Cardiology) โดยการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่ปารีสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 ภายใต้การอุปถัมภ์ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (ISC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นสี่ปีก่อนหน้า[2]

วันหัวใจโลก (World Heart Day) จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2543 เพื่อแจ้งให้ผู้คนทั่วโลกทราบว่าโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease, CVD) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก[3] และเป็นเวทีสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี[4]

ในปี 2559 สมาพันธ์หัวใจโลกเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสุขภาพระบบไหลเวียนโลหิต (Global Summit on Circulatory Health) เป็นครั้งแรกโดยจัดขึ้นที่เม็กซิโกซิตี ซึ่งการประชุมนำเสนอผู้นำทางความคิด เช่น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้นำในอุตสาหกรรม ให้ตระหนักถึงปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) เพื่อยกระดับให้มีลำดับความสำคัญสูงสุด ในปี 2564 การประชุมสุดยอดได้เปลี่ยนชื่อเป็นการประชุมสุดยอดหัวใจโลก (World Heart Summit)[5]

การสนับสนุนระดับโลก

[แก้]

สมาพันธ์หัวใจโลกตั้งอยู่ในเจนีวา และเป็นที่ตั้งขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งให้การสนับสนุนสมาพันธ์ในระดับสูงสุดเพื่อนำปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดมาอยู่แถวหน้าของวาระด้านสุขภาพทั่วโลก ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกช่วยให้สมาพันธ์สามารถแบ่งปันความรู้และเป้าหมายเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่สำคัญ เช่น ปัญหายาสูบและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนภาวะสุขภาพที่ถูกละเลย เช่น โรคหัวใจรูมาติก และโรคชากาส (Chagas disease)[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "About WHF". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2023.
  2. Snellen, HA (กุมภาพันธ์ 1980). "Birth and growth of the European Society of Cardiology". European Heart Journal. 1 (1): 5–7. doi:10.1093/oxfordjournals.eurheartj.a061095. PMID 7026246.
  3. "Cardiovascular diseases". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2023.
  4. "What is World Heart Day?". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2020.
  5. "World Heart Summit". World Heart Federation. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]