ข้ามไปเนื้อหา

สงครามโรมัน–ซิลูซิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามโรมัน–ซิลูซิด

ภูมิภาคอีเจียนช่วง 192 ปีก่อนคริสตกาล
  จักรวรรดิซิลูซิดและพันธมิตร
  สาธารณรัฐโรมันและพันธมิตร
  เป็นกลาง
วันที่192–188 ปีก่อนคริสตกาล
สถานที่
ผล โรมันชนะ, สนธิสัญญาแอพาเมีย
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
แคเรีย ลิเชีย ทางใต้และทางเหนือของแม่น้ำเมียนเดอร์จรดเทือกเขาทอรัสเป็นของเพอร์กามอน
คู่สงคราม
จักรวรรดิซิลูซิด
สันนิบาตอีโทเลียน
แอธาเมเนีย
แคปพาโดเชีย
สาธารณรัฐโรมัน
สันนิบาตอะเคียน
มาซิดอน
เพอร์กามอน
โรดส์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าแอนทิโอคัสมหาราช
ฮันนิบาล
ลูเชียส อีมิเลียส เรกิลลัส
ลูเชียส เอเซียติคัส
พระเจ้ายูเมนีสที่ 2 แห่งเพอร์กามัม
พระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งมาซิดอน
ซิพิโอ แอฟริคานัส

สงครามโรมัน–ซิลูซิด (อังกฤษ: Roman–Seleucid War) หรือ สงครามแอนทิโอคอส หรือ สงครามซีเรีย เป็นความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิซิลูซิดกับสาธารณรัฐโรมัน เกิดขึ้นระหว่าง 192–188 ปีก่อนคริสตกาล สงครามครั้งนี้ทำให้โรมันกลายเป็นมหาอำนาจในกรีซและรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

จุดเริ่มต้นของสงครามเริ่มจากทั้งสองฝ่ายต้องการเป็นใหญ่ในภูมิภาคอีเจียน โดยใน 203 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าแอนทิโอคัสมหาราชแห่งซิลูซิดร่วมเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งมาซิดอนเพื่อพิชิตดินแดนของราชอาณาจักรทอเลมี[1] ต่อมาใน 200 ปีก่อนคริสตกาล เพอร์กามอนและโรดส์ที่เคยทำสงครามกับพระเจ้าฟิลิปที่ 5 ขอความช่วยเหลือจากโรมัน[2] โรมันจึงยกทัพไปโจมตีมาซิดอนจนเกิดเป็นสงครามมาซิโดเนียครั้งที่สอง สงครามนี้สิ้นสุดลงเมื่อทัพโรมันและพันธมิตรชนะในยุทธการที่ไซโนสเซฟาลี ทั้งสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ โดยพระเจ้าฟิลิปที่ 5 ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามและเป็นพันธมิตรกับโรมัน

ในขณะเดียวกัน พระเจ้าแอนทิโอคัสรบชนะพระเจ้าทอเลมีที่ 5 ในยุทธการที่แพเนียม ทำให้ซีลี-ซีเรียตกอยู่ใต้อำนาจของซิลูซิด พระเจ้าแอนทิโอคัสส่งทัพเรือไปซิลิเชีย ลิเชียและแคเรียเพื่อช่วยเหลือพระเจ้าฟิลิปที่ 5[3] และได้รับคำเตือนจากโรดส์ว่าจะโจมตีกองเรือของพระองค์หากแล่นผ่านแหลมเจลิดอเนีย พระเจ้าแอนทิโอคัสเพิกเฉยต่อคำเตือนและสั่งให้กองเรือแล่นต่อไป ส่วนโรดส์ไม่ได้ทำตามคำเตือนเนื่องจากได้รับข่าวความพ่ายแพ้ของพระเจ้าฟิลิปที่ 5 ที่ไซโนสเซฟาลี[4] หลังพระเจ้าแอนทิโอคัสผูกมิตรกับพระเจ้าทอเลมีที่ 5 พระองค์ก็มีแผนจะรุกเข้าไปในยุโรป

ในช่วงเวลานั้น ฮันนิบาล แม่ทัพชาวคาร์เธจที่เคยสู้กับโรมันในสงครามพิวนิกครั้งที่สองได้ลี้ภัยมายังเอฟิซัสเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าแอนทิโอคัส พระองค์ให้การช่วยเหลือ[5] ด้านโรมันได้โจมตีสปาร์ตาที่ต่อต้านการแผ่อำนาจของโรมันในกรีซ สปาร์ตาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และขอความช่วยเหลือจากสันนิบาตอีโทเลียน[6] ต่อมาพระเจ้าแอนทิโอคัสได้ยกทัพข้ามช่องแคบเฮลเลสปอนต์ (ช่องแคบดาร์ดะเนลส์ในปัจจุบัน) เพื่อช่วยเหลือสันนิบาตอีโทเลียน โรมันจึงส่งกองทัพมาที่กรีซ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่ช่องเขาเทอร์มอพิลี โดยโรมันเป็นฝ่ายชนะ พระเจ้าแอนทิโอคัสจึงถอยทัพออกจากกรีซ ลูเชียส เอเซียติคัส แม่ทัพชาวโรมันยกทัพตามไปและปะทะกับกำลังของฮันนิบาลที่ใกล้แม้น้ำยูรีมีดอน ไมโอเนสซัสและแมกนีเซีย โดยฝ่ายโรมันและพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะทั้งหมด โรมันและซิลูซิดลงนามสนธิสัญญาแอพาเมีย โดยพระเจ้าแอนทิโอคัสต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามและต้องสละดินแดนด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาทอรัส โรดส์ได้แคเรียและลิเชีย ส่วนเพอร์กามอนได้ลิเชียเหนือและดินแดนที่เคยอยู่ใต้อำนาจของซิลูซิดในเอเชียน้อย

ดินแดนเปลี่ยนตามสนธิสัญญาแอพาเมีย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Green, Alexander to Actium: The Historical Evolution of the Hellenistic Age, 304
  2. Livy 31.14
  3. Livy 33.19
  4. Livy 33.20
  5. Livy 34.49
  6. Smith [1]