ศาสนามะพร้าว
ศาสนามะพร้าว (เวียดนาม: Đạo Dừa) หรือ ศาสนาสามัคคี (เวียดนาม: Hòa đồng Tôn giáo) เป็นลัทธิศาสนาหนึ่งในประเทศเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 โดยเหงียน ถั่ญ นาม (Nguyễn Thành Nam) หรือฉายา องเด่าเสื่อ (Ông Đạo Dừa "นักบวชมะพร้าว") ศาสนานี้มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำโขง เรียกกันว่า อาณาจักรมะพร้าว ในเขตจังหวัดเบ๊นแจ ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม พื้นฐานความเชื่อทางศาสนาส่วนใหญ่นำมาจากคำสอนในศาสนาพุทธและคริสต์ มาประกอบกับคำสอนเรื่องความสงบสุขขององเด่าเสื่อเอง ทั้งยังมีลักษณะพิเศษคือ สนับสนุนให้ศาสนิกชนของตนเองบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว และน้ำกะทิเป็นนิจศีล[1]
ศาสนามะพร้าวถูกยกเลิกโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์เมื่อ พ.ศ. 2518 ในยุครุ่งเรืองศาสนามะพร้าวเคยมีสมาชิกมากถึง 4,000 คน แต่ปัจจุบันมีน้อยคนนักที่ยังปฏิบัติตนตามความเชื่อของศาสนามะพร้าว
ประวัติ
[แก้]ศาสนามะพร้าวก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2506 โดยเหงียน ถั่ญ นาม (พ.ศ. 2452–2533)[2] นักวิชาการชาวเวียดนาม[1] เขาเป็นที่รู้จักในหลายชื่อ เช่น องเด่าเสื่อ,[3][4] หลวงพ่อมะพร้าว,[5] ผู้เผยแผ่พระวจนะแห่งความสามัคคี,[5] และลุงฮาย[5] เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศส[1]
เหงียน ถั่ญ นามได้ก่อสร้างเจดีย์ลอยน้ำ[5] บน "อาณาจักรมะพร้าว" เกาะขนาดเล็กกลางแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดเบ๊นแจ ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม[1] เขาอ้างว่าตนเองบริโภคมะพร้าวเพียงอย่างเดียวเป็นเวลาถึงสามปี[2] ช่วงเวลานั้นเขาฝึกการฝึกสมาธิด้วยการเดินบนทางเดินซึ่งปูด้วยหินขนาดเล็ก[6] เหงียน ถั่ญ นาม เคยลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีเวียดนามใต้ปี 2514 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงเดินทางกลับสู่อาณาจักรมะพร้าว[1] รัฐบาลไซ่ง่อนยกย่องเขา และเรียกเหงียน ถั่น นาม ว่าเป็น "บุรุษแห่งศาสนา"[7] เพราะเขามักจะสวมไม้กางเขนและครองจีวรแบบพุทธตามธรรมเนียมญวนอยู่เสมอ[8]
ในยุครุ่งเรือง ศาสนามะพร้าวมีจำนวนศาสนิกชนมากถึง 4,000 คน รวมไปถึงจอห์น สไตน์เบ็กที่ 4 บุตรชายของจอห์น สไตน์เบ็ก นักประพันธ์ชาวอเมริกัน[1] แต่ภายหลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์สั่งห้ามเผยแผ่ศาสนานี้ใน พ.ศ. 2518 เพราะเป็น "กลุ่มลัทธิ"[1] ครั้นเหงียน ถั่ญ นาม เสียชีวิตใน พ.ศ. 2533[9] ศาสนานี้จึงสิ้นสุดลงไปด้วย ปัจจุบันที่ดินของอาณาจักรมะพร้าวกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปากแม่น้ำโขงโดยปริยาย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "Coconut religion". Vinhthong. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2013. สืบค้นเมื่อ May 25, 2013.
- ↑ 2.0 2.1 Dodd, Jan (2003). The Rough guide to Vietnam (4 ed.). Rough Guides. p. 142. ISBN 9781843530954.
- ↑ Pillow, Tracy (2004). Bringing Our Angel Home. iUniverse. p. 106. ISBN 9781469714011.
- ↑ Ehrhart, William Daniel (1987). Going back: an ex-marine returns to Vietnam. McFarland. ISBN 9780899502786.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 Vu Trinh (1974). "The Coconut Monk". Vietspring. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-01. สืบค้นเมื่อ 2013-05-26.
- ↑ Hoskin, John; Howland, Carol (2006). Vietnam (4 ed.). New Holland Publishers. p. 115. ISBN 9781845375515.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Ellithorpe, Harold (1970). "South Vietnam: The Coconut Monk". Far Eastern Economic Review. p. 15.
- ↑ "THE OTHER SIDE OF EDEN: LIFE WITH JOHN STEINBECK". American Buddha. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 24, 2013. สืบค้นเมื่อ May 26, 2013.
- ↑ Laurance, Robin (2019-07-01). Coconut: How the Shy Fruit Shaped our World (ภาษาอังกฤษ). History Press. ISBN 978-0-7509-9273-2.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศาสนามะพร้าว