ศาลจำลอง
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ศาลจำลอง (อังกฤษ: moot court) เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรของโรงเรียนกฎหมายซึ่งเป็นการจำลองการพิจารณาพิพากษาคดีในศาล
ในการดำเนินกิจกรรมศาลจำลองนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับคดีไว้ล่วงหน้าก่อนการพิจารณาพิพากษาคดี พวกเขาต้องทำการวิเคราะห์ วิจัย และเตรียมคดี โดยกระทำทุกกระบวนการเสมือนว่าเป็นทนายความของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (โจทก์หรือจำเลย ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง) หรือทั้งสองฝ่าย เพื่อฝึกทักษะการใช้เหตุผลและการว่าความ จากนั้นผู้แข่งขันจะต้องเขียนคำให้การ และเตรียมแถลงการณ์ด้วยวาจา
คดีที่เป็นปมปัญหานั้นมักเป็นคดีที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านของกฎหมายที่นำมาปรับใช้ ตลอดจนวิธีพิจารณาความ ผู้เข้าแข่งขันมักได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาของตนหรือองค์กรต่างๆที่สนใจในด้านกฎหมาย
คดีที่ได้รับนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องคล้ายคลึงกันกับคดีความที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลานั้นๆ และบางครั้งก็มีการตั้งปมปัญหาขึ้นมาใหม่ให้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นเพื่อท้าทายประเด็นทางกฎหมาย
ด้วยประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันศาลจำลองได้ฝึกฝน สำนักงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องในด้านการฟ้องร้องคดี มักจะรับนักเรียนกฎหมายที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันนี้เข้าทำงาน
สำหรับประเทศไทยนั้น คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ได้มีการจัดทำกิจกรรมศาลจำลองนี้ ในรูปแบบภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทั้งที่เป็นลักษณะรายวิชาประกบอการเรียนการสอน การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีในศาล วิพากษ์และตีแผ่ประเด็นกฎหมายที่อยู่ในความสนใจในขณะนั้น รวมทั้งยังมีการส่งตัวแทนนิสิต นักศึกษาไปแข่งขันในระดับนานาชาติอีกด้วย อาทิ การแสดงศาลจำลองของนักศึกษา ในงานวันรพี ที่จัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ในปี 2005-2006 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการแข่งขัน Willem C. Vis International Commercial Arbitration Moot Competition ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และ ณ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเข้าร่วมการแข่งขัน Phillip C. Jessup International Law Competition ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา, ในปี 2008 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้า 4 รางวัลจากการแข่งขัน International Law Moot Court Competition (Asia Cup 2008) ซึ่งจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น