ข้ามไปเนื้อหา

วาซีลี อาร์ฮีปอฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วาซีลี อาร์ฮีปอฟ
ชื่อพื้นเมือง
Василий Александрович Архипов
เกิด30 มกราคม ค.ศ. 1926(1926-01-30)
Zvorkovo, แคว้นมอสโก, สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย, สหภาพโซเวียต
เสียชีวิต19 สิงหาคม ค.ศ. 1998(1998-08-19) (72 ปี)
Zheleznodorozhny, แคว้นมอสโก, รัสเซีย
รับใช้ สหภาพโซเวียต
แผนก/สังกัดNaval flag of สหภาพโซเวียต กองทัพเรือโซเวียต
ประจำการ1945–1980s
ชั้นยศ พลเรือโท
การยุทธ์
บำเหน็จ
คู่สมรสโอลกา อาร์ฮีโปวา

วาซีลี อเล็กซานโดรวิช อาร์ฮีปอฟ (รัสเซีย: Василий Александрович Архипов, สัทอักษรสากล: [vɐˈsʲilʲɪj ɐlʲɪkˈsandrəvʲɪtɕ arˈxʲipəf], 30 มกราคม ค.ศ. 1926 – 19 สิงหาคม ค.ศ. 1998) เป็นนายทหารเรือโซเวียตที่คัดค้านการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ระหว่างวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา อาร์ฮีปอฟเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการและรองผู้บังคับการเรือดำน้ำพลังดีเซล B-59 ที่ปฏิเสธคำอนุมัติของผู้บังคับการในการโจมตีกองทัพเรือสหรัฐด้วยตอร์ปิโดนิวเคลียร์ ซึ่งหากการโจมตีเกิดขึ้นอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์[1]

ทอมัส แบรนตัน ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐกล่าวในค.ศ. 2002 ว่าอาร์ฮีปอฟนั้นได้ "ปกป้องโลกไว้"[2]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

อาร์ฮีปอฟเกิดในครอบครัวชาวนาใกล้กรุงมอสโกในค.ศ. 1926 เขาเรียนที่โรงเรียนนายเรือ Pacific Higher Naval School และปฏิบัติงานบนเรือกวาดทุ่นระเบิดในสงครามโซเวียต–ญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังจากนั้นเขาถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนนายเรือ Caspian Higher Naval School หลังเรียนจบในค.ศ. 1947 อาร์ฮีปอฟปฏิบัติงานบนเรือดำน้ำในทะเลดำ ทะเลเหนือและทะเลบอลติก[3] ในค.ศ. 1961 เขาได้รับตำแหน่งรองผู้บังคับการเรือดำน้ำ K-19 แต่ในการเดินทางครั้งแรกเรือประสบปัญหาระบบหล่อเย็นล้มเหลว ทำให้ผู้บังคับการนิโคไล ซาเตเยฟสั่งซ่อมแซมโดยด่วนเพื่อป้องกันการหลอมละลายนิวเคลียร์ แม้จะซ่อมแซมระบบสำเร็จแต่ลูกเรือทั้งหมดได้รับรังสี ในช่วงเวลาสองปีมีลูกเรือกว่า 20 คนเสียชีวิตด้วยรังสีจากเหตุการณ์นี้[4]

วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา

[แก้]

วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ระหว่างวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา กลุ่มเรือพิฆาต 11 ลำและเรือบรรทุกอากาศยาน USS Randolph ของกองทัพเรือสหรัฐตรวจพบเรือดำน้ำพลังดีเซล B-59 ในน่านน้ำสากลใกล้คิวบา กองทัพเรือสหรัฐหย่อนระเบิดน้ำลึกลงไปเพื่อกดดันให้เรือดำน้ำลอยตัวขึ้นมาระบุตัวตน ด้านเรือดำน้ำไม่ได้รับคำสั่งจากมอสโกมาหลายวันและอยู่ลึกเกินกว่าจะรับสัญญาณคลื่นวิทยุได้ ลูกเรือจึงไม่ทราบว่าสงครามเริ่มขึ้นแล้วหรือไม่[5][6] วาเลนติน ซาวิตสกี ผู้บังคับการเรือดำน้ำคาดว่าสงครามเริ่มขึ้นแล้วและต้องการสั่งยิงตอร์ปิโดนิวเคลียร์[7]

อย่างไรก็ตามการอนุมัติคำสั่งยิงต้องได้รับมติเอกฉันท์จากนายทหารอาวุโสบนเรือสามนายได้แก่ ผู้บังคับการซาวิตสกี นายทหารการเมืองมาสเลนนิคอฟและนายทหารเสนาธิการอาร์ฮีปอฟ ซึ่งมีเพียงอาร์ฮีปอฟคนเดียวที่คัดค้านคำอนุมัติ[8] ที่สุดแล้วอาร์ฮีปอฟเกลี้ยกล่อมให้ซาวิตสกีนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อรอรับคำสั่งจากมอสโกได้สำเร็จ ก่อนจะเดินทางกลับสหภาพโซเวียต[3]

เมื่อกลับถึงสหภาพโซเวียต ผู้บังคับการต้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจอมพลอันเดรย์ เกรชโค ผู้ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโซเวียต เกรชโคโกรธจัดที่ลูกเรือล้มเหลวในการทำภารกิจลับนี้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งรายงานว่าเกรชโคนั้น "ปาแว่นตาของตนลงบนโต๊ะอย่างเดือดดาลจนแว่นแตกละเอียด แล้วเดินออกจากห้องไปในทันที"[9]

โรเบิร์ต แม็กนามารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบากล่าวในค.ศ. 2002 ว่า "เราเฉียดเข้าใกล้" สงครามนิวเคลียร์ "มากกว่าที่เรารู้ในตอนนั้น"[10] ด้านอาร์เธอร์ เอ็ม. เชลซินเจอร์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีและนักประวัติศาสตร์กล่าวว่า "นี่ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในสงครามเย็น แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์"[11]

บั้นปลายและชีวิตส่วนตัว

[แก้]

หลังเหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา อาร์ฮีปอฟยังคงปฏิบัติงานในกองทัพเรือโซเวียต เขาได้รับยศพลเรือตรีในค.ศ. 1975 และพลเรือโทในค.ศ. 1981 ก่อนจะเกษียณช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 ภายหลังอาร์ฮีปอฟย้ายไปอยู่ที่เมืองคูปาฟนาจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไตในค.ศ. 1998 ซึ่งอาจมีส่วนมาจากรังสีที่เขาได้รับในค.ศ. 1961[12]

ด้านชีวิตส่วนตัว อาร์ฮีปอฟแต่งงานกับโอลกา อาร์ฮีโปวา ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คนชื่อ เยเลนา

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • สตานิสลาฟ เปตรอฟ นาวาอากาศโทประจำสถานีเตือนภัยขีปนาวุธโซเวียต ผู้ยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้นในค.ศ. 1983

อ้างอิง

[แก้]
  1. Noam Chomsky, in his book Hegemony or Survival: America's Quest for Global Dominance[1] cited we were "one word away from nuclear war" and "a devastating response would be a near certainty", and also noted that President Dwight Eisenhower stated "a major war would destroy the northern hemisphere"(Chomsky, pp. 74)
  2. Lloyd, Marion (13 October 2002). "Soviets Close to Using A-Bomb in 1962 Crisis, Forum is Told". The Boston Globe. pp. A20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2021. สืบค้นเมื่อ 7 August 2012.
  3. 3.0 3.1 Roberts, Priscilla Mary (2012). https://books.google.com/books?id=P-VNltHyq0sC&pg=PA13. Cuban Missile Crisis: The Essential Reference Guide. Abc-Clio Inc. pp. 13–14. ISBN 9781610690652. {{cite book}}: |chapter-url= missing title (help)
  4. Bivens, Matt (January 3, 1994). "Horror of Soviet Nuclear Sub's '61 Tragedy Told". The Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ March 8, 2022.
  5. Michael Dobbs, One Minute to Midnight, Vintage, Random House, 2009. Includes photograph of B-59 surfacing.
  6. "Chronology of Submarine Contact During the Cuban Missile Crisis". National Security Archive of the George Washington University. สืบค้นเมื่อ 15 November 2010.
  7. Wilson, Edward (27 October 2012). "Thank you Vasili Arkhipov, the man who stopped nuclear war". The Guardian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 July 2021. สืบค้นเมื่อ 31 October 2012.
  8. Chomsky, Noam (2004). Hegemony or Survival: America's Quest for Global Dominance. New York: Henry Holt. p. 74. ISBN 0-8050-7688-3.
  9. Savranskaya, Svetlana (24 January 2007). "New Sources on the Role of Soviet Submarines in the Cuban Missile Crisis" (PDF). Journal of Strategic Studies. 28 (2): 248. doi:10.1080/01402390500088312. S2CID 154967351. สืบค้นเมื่อ 21 February 2017.[ลิงก์เสีย]
  10. Leonard, Mark; Blackhurst, Rob (19 May 2002). "'I don't think anybody thought much about whether Agent Orange was against the rules of war'". The Observer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2021. สืบค้นเมื่อ 22 June 2012.
  11. Lloyd, Marion (13 October 2002). "Soviets Close to Using A-Bomb in 1962 Crisis, Forum is Told". The Boston Globe. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 July 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2017.
  12. Krulwich, Robert (March 25, 2016). "You (and Almost Everyone You Know) Owe Your Life to This Man". The National Geographic. สืบค้นเมื่อ March 8, 2022.