วัวทะเลชเต็ลเลอร์
วัวทะเลชเต็ลเลอร์ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลสโตซีน– ส.ศ. 1768 | |
---|---|
รูปจำลองของวัวทะเลชเต็ลเลอร์ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Sirenia |
วงศ์: | Dugongidae |
วงศ์ย่อย: | †Hydrodamalinae Palmer, 1895 |
สกุล: | †Hydrodamalis Retzius, 1794 |
สปีชีส์: | †H. gigas |
ชื่อทวินาม | |
Hydrodamalis gigas (Zimmermann, 1780) |
วัวทะเลชเต็ลเลอร์ (อังกฤษ: Steller's sea cow, Great northern sea cow; ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrodamalis gigas) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในอันดับพะยูน (Sirenia) จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Hydrodamalis
วัวทะเลชเต็ลเลอร์จัดเป็นพะยูนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยปรากฏมา มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 8 เมตร น้ำหนักมากถึง 3 ตัน นับได้ว่ามีขนาดพอ ๆ กับวาฬเพชฌฆาต อาศัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ในเขตอาร์กติกและช่องแคบเบริงซึ่งอยู่ระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต เมื่อกลางปี ค.ศ. 2017 ได้มีค้นพบโครงกระดูกของวัวทะเลชเต็ลเลอร์ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดที่ชายฝั่งทะเลของอุทยานธรรมชาติคอมมานดอร์สกีในไซบีเรีย โดยซากนี้มีความยาว 5.2 เมตร ขาดเพียงส่วนหัวและกระดูกที่ต่อจากนั้น ซึ่งถ้าหากเป็นซากที่สมบูรณ์แล้วอาจจะยาวได้ถึง 6 เมตร
วัวทะเลชเต็ลเลอร์ได้รับการค้นพบโดยเกออร์ค วิลเฮ็ล์ม ชเต็ลเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ที่หมู่เกาะคอมมานเดอร์ เมื่อ ค.ศ. 1741 จากการที่ชเต็ลเลอร์ได้ล่องเรือของกองทัพเรือรัสเซียที่นำโดยไวตัส เบริง ออกสำรวจน่านน้ำแถบนั้น และเรือได้ล่มลง ชเต็ลเลอร์ได้รอดชีวิตมาได้และอยู่จนผ่านพ้นฤดูหนาวและใช้เศษไม้ที่มาจากซากเรือต่อจนเป็นเรือลำใหม่ และออกล่องทะเลจนกระทั่งหาทางกลับมาได้ โดยขณะที่ติดเกาะอยู่นั้น ขณะนั้นหมู่เกาะคอมมานเดอร์ยังเป็นดินแดนที่ไม่มีใครอาศัยอยู่ และที่ปัจจุบัน คือ เกาะเบริง ซึ่งเป็นเกาะที่ชเต็ลเลอร์ได้ติดอยู่ ชเต็ลเลอร์ได้สังเกตเห็นวัวทะเลขนาดใหญ่ และได้เคยชำแหละซากด้วย จนกระทั่งได้บรรยายลักษณะตลอดจนอุปนิสัยเอาไว้ได้ จนกระทั่งได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อ [2]
เมื่อชเต็ลเลอร์และคณะเดินทางกลับ ข่าวการพบเจอวัวทะเลขนาดใหญ่ก็ได้แพร่กระจายไปทั่ว จนได้เกิดเป็นการล่าสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดในทะเลแถบนั้น และความที่เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีเนื้อและไขมันปริมาณมาก จึงถูกล่าเพื่อเอาเนื้อ หนัง และไขมัน ทำให้วัวทะเลชเต็ลเลอร์ถูกฆ่าไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งใน ค.ศ. 1768 หรือเพียง 27 ปี หลังจากที่ได้เป็นที่รู้จัก วัวทะเลชเต็ลเลอร์ก็สูญพันธุ์จนหมดสิ้น[3][4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Domning, D., Anderson, P. K. & Turvey, S. (2008). Hydrodamalis gigas. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 29 December 2008.
- ↑ หน้า 14 ประชาชื่น-ไอที, พบซาก 'สเตลเลอร์ ซีคาว' โผล่ที่ไซบีเรีย. มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14508: วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
- ↑ "Hydrodamalis". กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง.
- ↑ "Steller's SeaCow". Sirenian (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-28. สืบค้นเมื่อ 2012-03-28.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hydrodamalis gigas ที่วิกิสปีชีส์