วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด
ศาสตราจารย์ วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด (15 กุมภาพันธ์ 2496 - ) เกิดที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรม เจ้าของรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประชุมสภาประธานอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศ (ปอมท.) ประจำปี พ.ศ. 2549 เป็นบุคคลสำคัญในการก่อให้เกิดศูนย์ความร่วมมือการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซากะ และศูนย์ความร่วมมือการวิจัยสำหรับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัย ใช้เครื่องมือวิจัยที่ทันสมัยร่วมกัน รวมทั้งจัดฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ให้แก่นักวิจัยรุ่นเยาว์ระดับหลังปริญญาจากประเทศต่าง ๆ เช่น บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย มาเลเซีย พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และไทย โดยการสนับสนุนของยูเนสโก ซึ่งทำให้เกิดผลดีทั้งด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และความร่วมมือด้านการวิจัยของภูมิภาคในแถบนี้ ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหาร[1]
ประวัติการศึกษา
[แก้]- ประถมศึกษา โรงเรียนวัดทรงคะนองใน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- มัธยมศึกษา โรงเรียนวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- มัธยมศึกษาตอนปลาย - โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2514-2518 - วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2518-2521 - วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2521-2522 - ได้รับทุน UNESCO ไปทำวิจัย 1 ปี ในสาขา Applied microbiology ที่มหาวิทยาลัยโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2523-2527 - ได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขา Fermentation Technology ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น (ในพิธีรับปริญญาได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักศึกษา ขึ้นรับปริญญาจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัยโอซากะ ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูง โดยเฉพาะเป็นนักศึกษาต่างชาติ ทำให้ถูกสัมภาษณ์ลงข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ [2])
- พ.ศ. 2533-2534 - Postdoctoral Fellow ทางด้าน Plant Molecular Biology จาก The Salk Institute เมืองซานดิเอโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประวัติการทำงาน
[แก้]ตำแหน่งวิชาการ
- พ.ศ. 2527 - ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2529 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2533 - รองศาสตราจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2541 – ศาสตราจารย์อาคันตุกะ (Visiting Professor) มหาวิทยาลัยโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน - ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2549–ปัจจุบัน - Collaborative Professor มหาวิทยาลัยโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น
ตำแหน่งบริหาร
- พ.ศ. 2537-2541 - หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2542–2545 - รองคณบดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2545–ปัจจุบัน - หัวหน้าหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและ
มหาวิทยาลัยโอซากะ (MU-OU:CRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่มหาวิทยาลัยโอซากะได้มาร่วมตั้งสำนักงานดำเนินงาน นอกประเทศญี่ปุ่น
ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ
- พ.ศ. 2538–2541 - คณะทำงานโครงการกลุ่มศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาโมเลกุล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- พ.ศ. 2543–ปัจจุบัน - ผู้ประสานงานสถาบันร่วม โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร
- พ.ศ. 2548–ปัจจุบัน - ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพด้านจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
- พ.ศ. 2548–ปัจจุบัน - อนุกรรมการเทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ
- พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน - กองบรรณาธิการวารสาร Journal of Bioscience and Bioengineering ของประเทศญี่ปุ่น
เกียรติคุณและรางวัล
[แก้]- พ.ศ. 2521–2522 - UNESCO Fellowship
- พ.ศ. 2523–2527 - Monbusho Scholarship
- พ.ศ. 2533–2534 - Rockefeller Fellowship
- พ.ศ. 2533 - รางวัลนักวิจัยดีเด่นสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ กองทุนทะกูชิ (Taguchi Prize) จากมูลนิธิส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2535 - รางวัลนักวิจัยสตรีรุ่นเยาว์ดีเด่นทางด้านข้าวของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (IRRI Award) จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ประเทศฟิลิปปินส์
- พ.ศ. 2548 - รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง จากสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2549 - ศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2549 - อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของที่ประชุมสภาประธานอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
ผลงานด้านการวิจัย
[แก้]ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด ได้ทำงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมมาแล้วเป็นเวลากว่า 25 ปี ถือว่าเป็นนักวิชาการในระยะบุกเบิกคนหนึ่งของประเทศไทยในสาขาดังกล่าว แม้แต่ในช่วงที่ศึกษาในระดับปริญญาเอก ก็เป็นนักศึกษาคนที่สองของมหาวิทยาลัยโอซากะ ที่ศึกษางานด้านพันธุวิศวกรรมโดยได้โคลนยีนจากเชื้อที่แยกจากดิน โดยเฉพาะเป็นยีน xylanase ยีนแรกที่โคลนได้ในโลก ซึ่งในสมัยยี่สิบกว่าปีก่อนนั้นเป็นที่ตื่นเต้นมาก และได้จดสิทธิบัตรกับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลับมาทำงานใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ประเทศชาติมีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแรก ทำให้ขาดแคลนงบประมาณและการวิจัยในสาขาพันธุวิศวกรรม และดำเนินงานได้ค่อนข้างล่าช้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือและสารเคมีต่าง ๆ หลายอย่างที่แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ ได้เริ่มศึกษาการโคลนยีนและการแสดงออกของยีนจากเชื้อ Bacillus อาทิ chitinase ยีนที่สร้าง crystal toxin ฆ่าหนอนแมลงศัตรูพืช ซึ่งการศึกษาวิจัยจะเน้นหนักไปทางด้านการควบคุม การแสดงออกของยีนและการทำงานของยีนทุกระดับของการควบคุม รวมทั้งการทำงานของโปรตีน และการสร้างยีนผสม (hybrid gene) เพื่อให้ยีนเปลี่ยนระยะการแสดงออกจากระยะเซลล์กำลังเจริญเติบโต ไปแสดงออกในระยะเซลล์สร้างสปอร์ เป็นต้น งานด้านการใช้เอนไซม์จากเชื้อที่แยกได้ที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลซูโครสไปเป็นน้ำตาลพาลาติโนส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ไม่ทำให้ฟันผุ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรของเชื้อและเอนไซม์ รวมทั้งยีนที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาชุด PCR Kit เพื่อตรวจหา Salmonella และตรวจหา Enterotoxin genes ใน Bacillus cereus ซึ่งสามารถใช้เป็นวิธีการตรวจการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารได้รวดเร็วขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 47 เรื่อง เป็นบรรณาธิการจัดทำหนังสือคู่มือปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ "เทคนิคทางอณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรม" ซึ่งเป็นคู่มือปฏิบัติการที่ให้ข้อมูลเทคนิคต่าง ๆ ด้านพันธุวิศวกรรม อย่างละเอียดและได้รับความนิยมสูงมาก เป็นอาจารย์ที่เอาใจใส่ดูแลนักศึกษาในทุกด้าน ทั้งด้านวิชาการ การวิจัย ทัศนคติและความรู้ตัวในด้านต่าง ๆ เนื่องจากในทางส่วนตัวจะเป็นผู้สนใจในศาสตร์หลายสาขา เช่น ประวัติศาสตร์ การเมือง การเกษตร การทำอาหาร และความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ลูกศิษย์ของอาจารย์ที่มาทำวิจัยด้วย จะถืออาจารย์เป็นเอนไซโคลปีเดียที่จะสามารถสอบถามได้ตลอดเวลา สำหรับเทคนิคทางด้านวิจัย จะมีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คิดค้นขึ้นเอง มาแนะนำนักศึกษาเพื่อช่วยให้งานวิจัยที่มีความละเอียดอ่อนของพันธุวิศวกรรมได้ผลดีตามต้องการ ช่วยทำให้งานวิจัยผ่านไปได้ดี ศาสตราจารย์ ดร.วัฒนาลัย มีลูกศิษย์ที่มาทำวิจัยโดยตรง ในระดับปริญญาตรีไม่ต่ำกว่า 50 คน ระดับปริญญาโทมากกว่า 30 คน และระดับปริญญาเอก 12 คน วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาที่อยู่ในความดูแลของ ศาสตราจารย์ ดร. วัฒนาลัย สามารถคว้ารางวัลและการเชิดชูเกียรติมากกว่า 3 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมโดยเป็นคณะกรรมการควบคุมและสอบวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาโทและเอกทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมหิดลอีกจำนวนมาก จนกระทั่งได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง จากสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2548 และรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของที่ประชุมสภาประธานอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[3]
- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[4]
- พ.ศ. 2552 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/326/T_0062.PDF
- ↑ การประชุมสัมมนาทางวิชาการประจำปี พ.ศ. 2549 ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เรื่อง "ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทย : วิกฤต หรือ โอกาส" ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2549 ณ เดอะไทด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๓๑, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๓๓๘, ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2496
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์
- ศาสตราจารย์
- นักชีววิทยาชาวไทย
- บุคคลจากอำเภอสามพราน
- อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์
- บุคคลจากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ
- บุคคลจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยโอซากะ
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- นักวิชาการจากจังหวัดนครปฐม