ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์กิล่ามอนสเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์กิล่ามอนสเตอร์
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนตอนต้น - ปัจจุบัน
กิล่ามอนสเตอร์ (H. suspectum)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับฐาน: Neoanguimorpha
วงศ์: Helodermatidae
Gray, 1837
สกุล: Heloderma
Wiegmann, 1829
ชนิด

วงศ์กิล่ามอนสเตอร์ (อังกฤษ: Gila monster, Venomous lizard) เป็นสัตว์เลื้อยคลานวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Helodermatidae อยู่ในอันดับย่อยกิ้งก่า

รูปร่างโดยรวมของสัตว์ในวงศ์นี้ คือ มีลำตัวป้อม หางป้อมและส่วนปลายมนกลม ซึ่งเป็นอวัยวะเก็บสำรองไขมัน มีต่อมน้ำพิษอยู่ในเนื้อเยื่อตามความยาวของขากรรไกรล่าง ผิวหนังลำตัวหนา เกล็ดปกคลุมลำตัวด้านหลังและด้านข้างเป็นตุ่มกลมและไม่มีกระดูกในชั้นหนังรองรับ แต่เกล็ดด้านท้องเป็นรูปเหลี่ยมและมีขนาดใหญ่กว่าเกล็ดด้านหลังรวมทั้งมีกระดูกในชั้นหนังรองรับ กระดูกหัวไหล่มีกระดูกอินเตอร์คลาวิเคิลเป็นรูปตัวอักษรที (T) ในภาษาอังกฤษ หรือเป็นรูปโค้งและกระดูกไหปลาร้าเป็นรูปหักมุม ปล่อยหางหลุดจากลำตัวไม่ได้ พื้นผิวด้านบนของลิ้นเป็นตุ่มยาว ฟันที่ขากรรไกรเกาะติดกับร่องที่ขอบด้านในของกระดูกขากรรไกร กระดูกพเทอรีกอยด์มีฟัน

มีลำตัวขนาดใหญ่ มีความยาวของลำตัวประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีอยู่เพียงสกุลเดียว คือ Heloderma โดยมีความหมายว่า "ผิวที่เป็นปุ่ม" อันหมายถึงลักษณะผิวหนังของกิ่งก่าในวงศ์นี้ มีที่มาจากภาษากรีกโบราณคำว่า "hêlos" (ἧλος) หมายถึง "หัว" หรือ "เล็บ" หรือ "ปุ่ม" และ "Derma" (δέρμα) หมายถึง "ผิว"

เดิมถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ กิล่ามอนสเตอร์ (H. suspectum) และกิ้งก่าลูกปัด (H. horridum) แพร่กระจายพันธุ์ในทะเลทรายที่แห้งแล้งของสหรัฐอเมริกาจนถึงเม็กซิโกและกัวเตมาลา อาศัยอยู่บนพื้นดินโดยการขุดโพรง แต่สามารถปีนป่ายต้นไม้หรือโขดหินได้เป็นอย่างดี หากินในเวลากลางวันโดยอาศัยการฟังเสียงและรับภาพ มีอุปนิสัยหากินตามลำพัง โดยที่ กิล่ามอนสเตอร์จะกินสัตว์ขนาดใหญ่อย่าง กระต่ายหรือสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กด้วย ส่วนกิ้งก่าลูกปัดจะหากินเพียงไข่นกและกิ้งก่าเท่านั้น ทั้ง 2 ชนิดขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ [1]

แต่ปัจจุบันได้แบ่งออกอีกเป็น 3 ชนิด รวมเป็น 5 ชนิด คือ กิ้งก่าลูกปัดเชียปัน (H. alvarezi), กิ้งก่าลูกปัดริโอเฟอเต (H. exasperatum) และกิ้งก่าลูกปัดกัวเตมาลัน (H. charlesbogerti[2])

อ้างอิง

[แก้]
  1. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 396 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  2. http://www.redlist-arc.org/Article-PDFs/Special%20Mexico%20Issue_ARC_7(1)_74-96_low_res.pdf เก็บถาวร 2013-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Reiserer & al., 2013, Taxonomic reassessment and conservation status of the beaded lizard, Heloderma horridum (Squamata: Helodermatidae)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Heloderma ที่วิกิสปีชีส์