ลูกนิมิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลูกนิมิตที่วัดโพธิญาณ พิษณุโลก

นิมิต หมายถึงวัตถุที่เป็นเครื่องหมายบอกกำหนดเขตหรือแดนแห่งสีมา เป็นเครื่องหมายบอกเขตสีมาที่พระวินัยกำหนดให้ใช้ได้มี 8 อย่าง คือภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ น้ำ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือใช้ศิลาหรือหินเป็นนิมิต

นิมิตที่เป็นศิลาหรือสกัดศิลาให้มีลักษณะกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-38 เซนติเมตร เรียกว่า ลูกนิมิต แต่ละสีมาจะใช้ 9 ลูก ก่อนทำสังฆกรรมผูกสีมานิยมจัดงานกันเอิกเกริกโดยถือกันว่าเป็นงานบุญใหญ่ เรียกว่า งานปิดทองลูกนิมิต เมื่อทำพิธีตามพระวินัยเสร็จแล้วจะฝังศิลานิมิตนั้นลงไปในดินแล้วสร้างซุ้มครอบไว้ข้างบนโดยมี ใบสีมา เป็นเครื่องหมายสังเกตว่าลูกนิมิตอยู่ตรงนั้น แต่หากใบสีมาเป็นศิลาที่ใหญ่พอ และปักติดลงไปในดิน ก็ไม่จำเป็นต้องมีลูกนิมิต[1]

อุโบสถในภาคอีสาน หรือ สิม มักจะมีลูกนิมิตที่เป็นก้อนหินวางอยู่รอบโบสถ์ แต่ไม่มีใบเสมากำกับ[2]

ที่มา[แก้]

จุดทำบุญปิดทองลูกนิมิตในวัดร่องเสือเต้น เชียงราย

ในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกุศโลบายที่ต้องการให้มีการทบทวนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อยู่เสมอพระองค์จึงได้กำหนดให้พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ทำสังฆกรรม โดยกำหนดให้ทำสังฆกรรมในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้นเพื่อมิให้ฆราวาสมายุ่งเกี่ยว จึงมีการกำหนดเขตแดนด้วยวัตถุบางอย่างขึ้นที่เรียกว่า "การผูกสีมา" (สีมา แปลว่า เขตแดน) พระพุทธองค์กำหนดไว้ 8 อย่าง คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และ น้ำนิ่ง เรียกเขตแดนนี้ว่า "นิมิต"

ต่อมาจึงมีการพัฒนากำหนดนิมิตใหม่แทนเขตแดนตามธรรมชาติ เป็นการจัดสร้างขึ้นโดยเฉพาะ เช่น บ่อ คู สระ และก้อนหิน โดยเฉพาะก้อนหินเป็นที่นิยมกันมาก ซึ่งต่อมามีการประดิษฐ์ก้อนหินให้เป็นลูกกลม ๆ เป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน เรียกว่า "ลูกนิมิต" ภายหลังมีการจัดพิธีขึ้นเรียกว่า "ฝังลูกนิมิต"[3]

การฝังลูกนิมิต[แก้]

โมเดลจำลองการฝังลูกนิมิตในพิพิธภัณฑ์กษาปณ์ กรุงเทพมหานคร

การฝังลูกนิมิตต้องได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมาจากพระเจ้าแผ่นดินเสียก่อน ก่อนจะฝังลูกนิมิตจะต้องมีการสวดถอนพื้นที่ก่อนเพื่อให้พื้นที่นั้นบริสุทธิ์ หากทราบภายหลังว่าพื้นที่นั้นเคยเป็นเขตวัดใดวัดหนึ่งแล้ว การประกาศเขตครั้งนั้นก็จะถือเป็นโมฆะ ในการสวดถอนพื้นที่อาจทำล่วงหน้ากันหลายวันหรืออาจกระทำในวันผูกพัทธสีมา

การฝังลูกนิมิตนิยมฝังตอนเที่ยงคืน เช้าตรู่หรือตอนบ่าย โดยบางวัดอาจจะกราบบังคมทูลองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ หรือสมเด็จพระสังฆราชมาเป็นองค์ประธานในพิธี เพื่อทรงตัดลูกนิมิตด้วยก่อนทำพิธี

ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมา 9 ลูก ฝังตามทิศต่าง ๆ รอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศ ทิศละ 1 ลูก และฝังไว้กลางอุโบสถอีก 1 ลูก เป็น 1 ลูกเอก เมื่อผูกสีมา พระสงฆ์จำนวน 4 รูป จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางตามทิศต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากทิศตะวันออก เรียกว่า สวดทักสีมา เวียนขวาไปจนครบ 8 ลูกนิมิต เมื่อสวดทักนิมิตจบแล้วจึงกลับไปประชุมสงฆ์ในอุโบสถและสวดประกาศสีมาอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงทำการตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งสีมาในเวลาต่อมา[4] หากเป็นวัดราษฎร์นิยมทำใบสีมาซุ้มละแผ่น ส่วนวัดหลวงทำซุ้มละสอง เรียกว่า สีมาคู่[5]

ความเชื่อเรื่องทำบุญในพิธีฝังลูกนิมิต เชื่อกันว่าได้บุญกุศลมาก เพราะถือว่าวัดหนึ่งมีอุโบสถได้แห่งเดียว[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระสิทธินิติธาดา, 232.
  2. "พัทธสีมา-ใบเสมาและลูกนิมิต : คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม". ข่าวสด.
  3. 3.0 3.1 "ที่มาของประเพณีการฝังลูกนิมิตในสมัยพุทธกาล". กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-15. สืบค้นเมื่อ 2021-09-15.
  4. พระสิทธินิติธาดา, 234.
  5. พระสิทธินิติธาดา, 110.

บรรณานุกรม[แก้]