ข้ามไปเนื้อหา

ฤๅษีวาสุเทพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปปูนปั้นฤๅษีวาสุเทพที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

ฤๅษีวาสุเทพ หรือ พระสุเทวฤาษี มีเรื่องราวอยู่ในตำนานว่าเป็นผู้สร้างเมืองหลายเมืองในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง เช่นเมืองหริภุญไชยหรือลำพูน ในตำนาน จามเทวีวงศ์ ได้กล่าวถึงฤๅษีวาสุเทพว่า เป็นผู้นำในการสร้างเมืองหริภุญชัยเมื่อ พ.ศ. 1204[1] รวมถึงชื่อดอยสุเทพมาจากฤๅษีวาสุเทพ[2]

เนื้อหาตำนาน

[แก้]

นักวิชาการเชื่อว่าฤๅษีวาสุเทพเป็นนักพรตชาวอินเดีย แต่ชาวพื้นเมืองเชียงใหม่–ลำพูน เชื่อว่าเป็นชาวลัวะ[3]

ในตำนานปู่แสะย่าแสะมีปรากฏทั้งในเอกสารโบราณ เช่น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และธรรมตำนานวัดนันทาราม ปรากฏชื่อพระสุเทวฤาษี ตามตำนานกล่าวว่าเป็นลูกชายปู่แสะย่าแสะ[4]

ฤๅษีวาสุเทพออกบวชในพระพุทธศาสนาพร้อมกับกุลบุตรอีกสี่คนได้แก่ สุกกทันตะ อานุสิสสะ พุทธชฎิละและสุพรหมะ ต่อมาเห็นว่าวินัยสิกขาบทของพระพุทธองค์ประกอบกิจอันละเอียดเกินกว่าจะปฏิบัติตามได้ทั้งหมด จึงขอลาสิกขาไปบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ บำเพ็ญพรตจนสำเร็จ วันหนึ่งฤาษีทั้งห้า มีความปรารถนาจะบริโภคอาหารที่มีรสเปรี้ยวและเค็มอันเป็นอาหารของมนุษย์ จึงชวนกันเหาะออกจากป่าหิมพานต์ไปอาศัยอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ โดยสุกกทันตฤาษีไปอยู่เมืองละโว้ อนุสิสสฤาษีไปอยู่หลิทวัลลีนคร พุทธชฎิลฤาษีอยู่ดอยชุหบรรพต และสุพรหมฤาษีอยู่ดอยเขางามเมืองนคร ส่วนวาสุเทวฤาษีลงมาอยู่ดอยอุจฉุบรรพตหรือดอยสุเทพในปัจจุบัน

ในพระราชประวัติพระนางจามเทวีใน จามเทวีวงศ์ ระบุว่าฤๅษีวาสุเทพเป็นผู้พบ "หญิงวี" ในดอกบัว ใช้วีรองรับเด็กสตรีนั้นขึ้นมาชุบเลี้ยง คือ พระนางจามเทวี แล้วส่งไปเป็นพระชายาของพระราชโอรสพระเจ้ากรุงละโว้

สถานที่อันเนื่องในตำนาน

[แก้]

ชื่อของดอยสุเทพมาจากนามของฤๅษีวาสุเทพ ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพมีการสร้างรูปปูนปั้นฤๅษีวาสุเทพตั้งอยู่บริเวณลานชั้น 2 ใกล้กับบันไดทางขึ้นไปบนลานองค์พระธาตุทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งด้านนี้มีบันไดทางขึ้นอยู่ 2 ด้าน หากหันหน้าเข้าหาองค์พระเจดีย์รูปปูนปั้นพระฤๅษีวาสุเทพตั้งอยู่ข้างบันไดทางขึ้นทางด้านขวา[5]

บริเวณเพิงผาถ้ำฤๅษีของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีการสร้างศาลเพียงตาและมีรูปปั้นฤๅษีวาสุเทพตั้งไว้ให้เคารพ[6]

เชื่อกันว่ามีอาศรมที่พำนักอยู่ที่ ม่อนฤๅษี อยู่บริเวณหลังวัดดอยติ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตำนานยังกล่าวอีกว่าที่ม่อนฤๅษี เป็นสถานที่บรรจุพระเครื่องของขลัง วัดดอยติ ได้แก่ พระเลี่ยม พระสิบสอง เป็นต้น[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เทพประวิณ จันทร์แรง. "ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในล้านนา" (PDF). p. 257.
  2. สุรพล ดำริห์กุล. "โบราณสถานสันกู่ ดอยปุย: พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระฤาษีวาสุเทพ ?". วารสารวิจิตรศิลป์.
  3. "พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรี ศรีหริภุญไชย". วัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-27. สืบค้นเมื่อ 2022-07-21.
  4. อาสา อำภา. "ปู่แสะย่าแสะ กับประเพณีเลี้ยงผีเมืองเชียงใหม่".
  5. ฝ่ายสารสนเทศล้านนาและภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Chiang Mai University Library. Department of Lanna and Northern Thai Information. (2566,2023). รูปปูนปั้นพระฤๅษีวาสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพ. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน, 2567, Chiang Mai University Digital Collections Web site: https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:172332
  6. "ถ้ำฤาษี - อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย". สำนักอุทยานแห่งชาติ.
  7. "สุเทวฤาษี หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของดอยสุเทพ ตำนานฤาษีผู้ร่วมสร้าง ลำพูน". คมชัดลึก.