ข้ามไปเนื้อหา

รัฐบัญญัติการโยกย้ายอินเดียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสันเรียกร้องให้ผ่านรัฐบัญญัติใน “คำปราศัยต่อรัฐสภาสหรัฐประจำปี” ของปี ค.ศ. 1829)

รัฐบัญญัติการโยกย้ายอินเดียน ค.ศ. 1830 (อังกฤษ: Indian Removal Act) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่าการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian removal) ที่ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสันลงนามและประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1830[1]

รัฐบัญญัติได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ที่พยายามจะขยายตัวเข้าไปในดินแดนที่เป็นของ “ชนเผ่าผู้มีวัฒนธรรมทั้งห้า” โดยเฉพาะรัฐจอร์เจียซึ่งเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐในขณะนั้นผู้มีข้อพิพาทเรื่องพรมแดนกับชาติเชอโรคี ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสันหวังว่าการผ่านรัฐบัญญัติจะเป็นการผ่อนคลายวิกฤติการณ์ในจอร์เจีย รัฐบัญญัติฉบับนี้สร้างความขัดแย้งมาก ขณะที่การโยกย้ายตามทฤษฎีแล้วเกิดขึ้นโดยความสมัครใจ แต่ตามความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นจากความกดดันที่รัฐบาลสหรัฐกระทำต่อผู้นำงชาติอินเดียนต่าง ๆ ให้ยอมลงนามในสนธิสัญญาตกลงโยกย้ายโดยที่อเมริกันอินเดียนเป็นฝ่ายเสียเปรียบต่าง ๆ

ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับการโยกย้ายของชาวอเมริกันอินเดียนหรือไม่ก็ตามต่างก็ทราบดีว่าเนื้อหาของรัฐบัญญัติก็คือการพยายามโยกย้ายชาวอเมริกันอินเดียนเกือบทั้งหมดออกจากรัฐต่าง ๆ ทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ผู้นำชาวอเมริกันอินเดียนบางเผ่าที่เดิมเคยต่อต้านการโยกย้ายต่างก็เริ่มพิจารณาถึงสถานภาพของตนเอง โดยเฉพาะหลังจากที่ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสันได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้นในปี ค.ศ. 1832

ชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปส่วนใหญ่เห็นพ้องกับรัฐบัญญัติว่าด้วยการโยกย้าย แต่ก็มีผู้คัดค้านกันพอสมควร นักสอนศาสนาคริสเตียนโดยเฉพาะเจเรอไมห์ เอฟเวิตส์ (Jeremiah Evarts) ประท้วงต่อต้านรัฐบัญญัติในรัฐสภา ทีโอดอร์ เฟรลิงฮูสเซน สมาชิกวุฒิสภาจากนิวเจอร์ซีย์ และเดวิด คร็อกเก็ตต์ สมาชิกรัฐสภาจากเทนเนสซีต่างก็กล่าวต่อต้านรัฐบัญญัติ แต่รัฐบัญญัติก็ได้รับการอนุมัติหลังจากการโต้แย้งกันอย่างรุนแรงในรัฐสภา[2]

รัฐบัญญัติปูทางให้รัฐบาลบังคับโยกย้ายชนพื้นเมืองอเมริกันจำนวนหมื่นไปทางตะวันตกของประเทศ สนธิสัญญาการโยกย้ายฉบับแรกหลังจากการอนุมัติรัฐบัญญัติคือสนธิสัญญาลำธารแดนซิงแรบบิต (Treaty of Dancing Rabbit Creek) ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1830 ที่ช็อกทอว์ในมิสซิสซิปปี โดยเสียดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำแลกเปลี่ยนกับดินแดนทางตะวันตก หลังจากที่เดินทางกันด้วยความยากลำบากไปถึงดินแดนใหม่ หัวหน้าของช็อกทอว์ก็กล่าวต่อผู้สัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์อาร์คันซอกาเซ็ตต์ว่าการโยกย้ายเป็น “เส้นทางแห่งน้ำตาและความตาย” (trail of tears and death) [3][4] สนธิสัญญานิวอีโคตา (ลงนาม ค.ศ. 1835) เป็นผลให้เชอโรคีต้องทำการเดินทางบนเส้นทางธารน้ำตา ส่วนเซมิโนเลต่อต้านการโยกย้ายและชนบางเผ่าที่รวมทั้งทาสที่หนีมา ซึ่งเป็นชนวนที่ทำให้เกิดสงครามเซมิโนเลครั้งที่สองระหว่างปี ค.ศ. 1835 ถึงปี ค.ศ. 1842 ที่ทำให้เซมิโนเลถูกบังคับให้โยกย้ายและเหลืออยู่เพียงจำนวนไม่กี่คนที่ยังคงอยู่ ราว 3,000 คนเสียชีวิตไปในการต่อสู้กับทหารอเมริกัน[5]

ในปี ค.ศ. 1823 ศาลสูงสุดสหรัฐ (Supreme Court of the United States) ตัดสินคดีระหว่างจอห์นสันกับมินทอช” (Johnson v. M'Intosh) ว่าอินเดียนสามารถอยู่ในดินแดนในสหรัฐได้ แต่ไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินที่อาศัยอยู่ ฉะนั้น จึงไม่มีสิทธิขายที่ดินโดยตรงให้แก่พลเมืองอเมริกัน[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. U.S. Senate passed the bill on 24 April 1830 (
    -19), the U.S. House passed it on 26 May 1830 (102-97); Francis Paul Prucha, The Great Father: The United States Government and the American Indians, Volume I (Lincoln: University of Nebraska Press, 1984), p. 206.
  2. Howe pp. 348-352
  3. Chris Watson. "The Choctaw Trail of Tears". สืบค้นเมื่อ 2008-04-29.
  4. Len Green. "Choctaw Removal was really a "Trail of Tears"". Bishinik, mboucher, University of Minnesota. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-04. สืบค้นเมื่อ 2008-04-28.
  5. (Eric Foner.Give me liberty.Norton,2006.)
  6. "Indial Removal 1814-1858". Public Broadcasting System. สืบค้นเมื่อ 2009-08-11.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Howe, Daniel Walker. What Has God Wrought: The Transformation of America, 1815-1848. (2007) ISBN 978-0-19-507894-7

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]