ข้ามไปเนื้อหา

ยฺหวิ่นเหริง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยฺหวิ่นเหริง
Yunreng
รัชทายาทแห่งราชวงศ์ชิง
ดำรงพระยศค.ศ. 1675 – 1708
(ครั้งที่หนึ่ง)
1709–1712
(ครั้งที่สอง)
ประสูติ6 มิถุนายน 1674
สิ้นพระชนม์27 มกราคม 1725 (พระชันษา 50 ปี 235 วัน)
พระนามเต็ม
อ้ายซินเจว๋หลัว อิ้นเหริง (愛新覺羅 胤礽)
ราชวงศ์ชิง
พระบิดาจักรพรรดิคังซี
พระมารดาจักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน

ยฺหวิ่นเหริง (จีน: 允礽; พินอิน: Yǔnréng; 6 มิถุนายน 1674 – 27 มกราคม 1725) พระนามเดิมว่า อิ้นเหริง (จีน: 胤礽; พินอิน: Yìnréng) และพระนามแรกประสูติว่า เป่าเฉิง (จีน: 保成; พินอิน: Bǎochéng) เป็นเจ้าชายแมนจูในราชวงศ์ชิง และเป็นรัชทายาทสองสมัยในระหว่างปี 1675 ถึงปี 1712

พระประวัติ

[แก้]

องค์ชายอิ้นเหริง ประสูติในตระกูลแมนจูอ้ายซินเจว๋หลัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่เจ็ดในจักรพรรดิคังซี แต่เป็นพระองค์ที่สองที่เติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ พระองค์มีพระนามเดิมว่าเป่าเฉิง และได้เปลี่ยนเป็น อิ้นเหริง เมื่อมีพระชันษามากขึ้น

พระราชมารดาของพระองค์คือจักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน สกุลเฮ่อเซ่อหลี่ ซึ่งเป็นหลานสาวของสั่วหนี (หนึ่งในคณะสำเร็จราชการของคังซี) พระนางเป็นสตรีที่จักรพรรดิคังซีรักมากที่สุด อิ้นเหริงทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ที่เกิดกับพระนาง (องค์แรกคือองค์ชายเฉิงฮู่สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้าแล้ว) อิ้นเหริงจึงเป็นโอรสที่พระนางหวังไว้สูงมาก ในปีคังซีที่ 13 เดือน 6 (ค.ศ.1674) หลังจากอิ้นเหริงประสูติได้ 1 เดือน จักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหรินทรงประชวรหนักจากอาการตกเลือดจากการคลอดบุตร จักรพรรดิคังซีเสด็จไปเยี่ยมเพื่อดูใจครั้งสุดท้าย พระนางได้เอ่ยคำขอร้องก่อนตายต่อจักรพรรดิคังซีเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่า จะยกตำแหน่งพระรัชทายาทให้แก่อิ้นเหริง พระโอรสองค์น้อยของพระนางเท่านั้น จักรพรรดิคังซีด้วยความรักเสน่หาต่อพระนางจึงรับคำในทันที จักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหรินจึงวางใจเสด็จสวรรคตในเวลานั้น หลังจากนั้น 1 ปี ในปี ค.ศ.1675 อิ้นเหริงได้รับการสถาปนาเป็นพระรัชทายาท

อิ้นเหริงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี และจักรพรรดิคังซีทรงสละเวลาสั่งสอนอบรมด้วยพระองค์เอง ซึ่งแตกต่างจากพระโอรสคนอื่นๆ ที่จะเรียนกับพระอาจารย์หลวงเท่านั้น จนพระองค์เป็นผู้มีความสามารถ ตรัสได้ถึง 3 ภาษาตั้งแต่ยังเด็ก อิ้นเหริงได้รับมอบหมายงานสำคัญๆจากพระราชบิดามากมาย ควบคุมหน่วยงานราชการหลายกรมกอง ซึ่งแรกๆ พระองค์ทรงขยันขันแข็งแบ่งเบาภาระพระราชบิดาเป็นอย่างดี จนเป็นพระโอรสที่จักรพรรดิคังซีรักและโปรดปรานมากที่สุด

กับพี่น้อง อิ้นเหริงมีข้อขัดแย้งกับองค์ชายใหญ่อิ้นถีเป็นประจำ ด้วยมีวัยใกล้เคียงกัน และองค์ชายอิ้นถีเป็นพระโอรสองค์โตแต่เกิดกับสนมธรรมดา แต่มีผลงานความดีความชอบทางการทหารร่วมรบกับพระราชบิดาบ่อยครั้ง จึงคิดว่าจักรพรรดิคังซีลำเอียงต่ออิ้นเหริงมากเกินไป จึงมักจะฟ้องร้องพฤติกรรมต่างๆของอิ้นเหริงต่อจักรพรรดิคังซีเสมอๆ อิ้นเหริงมีความสัมพันธ์อันดีต่อองค์ชาย 4 อิ้นเจิน หรือ จักรพรรดิยงเจิ้ง ทั้งนี้องค์ชายอิ้นเจินเมื่อเริ่มรับราชการครั้งแรกได้เป็นผู้ช่วยเหลืองานอิ้นเหริง พระองค์จึงสนับสนุนช่วยเหลืออิ้นเจินให้มีผลงานเข้าตาจักรพรรดิคังซีหลายครั้ง แต่อิ้นเหริงไม่เป็นที่ชอบใจขององค์ชายคนอื่นๆ เนื่องจากการวางตัวที่เย่อหยิ่ง และอิจฉาพระอนุชาคนอื่นๆ ที่ทำผลงานเกินหน้าเกินตาตนเอง

ในปี ค.ศ.1696 – 1697 จักรพรรดิคังซียกทัพปราบเก๋อเอ่อตานข่าน อิ้นเหริงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษานครปักกิ่ง แม้จะมีเรื่องอื้อฉาวและข้อกล่าวหาของการทุจริตและความไม่ยุติธรรมต่อการปฏิบัติหน้าที่ พระองค์ยังคงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา แต่มีเกร็ดว่า ในครั้งนั้นระหว่างการปราบปรามกบฏเก๋อเอ่อตานข่าน จักรพรรดิคังซีเกิดทรงประชวรหนักมาก ถึงขั้นเรียกพระโอรสองค์โปรดทั้ง 2 คนคือพระรัชทายาทอิ้นเหริง กับองค์ชาย 3 อิ้นจื่อ ให้เข้าเฝ้าพร้อมกัน องค์ชายอิ้นจื่อเห็นพระราชบิดานอนซมรีบเข้าไปสวมกอดร้องห่มร้องไห้ แต่เมื่อจักรพรรดิคังซีทอดพระเนตรไปที่อิ้นเหริงก็ทรงเสียพระทัยที่สุด เพราะพระรัชทายาทกลับยืนมองพระองค์ด้วยสายตาเฉยเมย ไม่แสดงอาการยินดียินร้ายที่เห็นพระองค์ป่วยหนัก ซึ่งจากจุดนี้ทำให้จักรพรรดิคังซีหลังจากหายประชวรและปราบกบฏสำเร็จ จึงเริ่มทบทวนท่าทีนิสัยของพระรัชทายาท ทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อลูกเริ่มห่างเหิน และจักรพรรดิคังซีเริ่มเปิดโอกาสให้พระโอรสคนอื่นๆ เข้ารับราชการแสดงฝีมือมากขึ้น

ในปี ค.ศ.1703 สั่วเอ้อถู (อาของจักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน) ได้ถูกจับกุมด้วยข้อหาวางแผนลอบปลงพระชนม์และทุจริต เขาได้ถูกจำคุกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้อิ้นเหริงเริ่มมีความขัดแย้งกับพระราชบิดา ปี ค.ศ.1708 อิ้นเหริงถูกข้อหาว่า ได้นำม้าต้นที่เผ่ามองโกลถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการให้จักรพรรดิคังซีนำไปขี่เล่น ซึ่งทำให้มีการตำหนิอย่างหนัก แถมข่าวลือเรื่องนำเด็กชายเข้าตำหนักเพื่อเสพกามเป็นเรื่องซุบซิบนินทาอื้อฉาวไปทั่ว รวมถึงการซ่องสุมขุนนางไว้จำนวนมากส่อแววการก่อกบฏ เมื่อได้ทำการไตร่สวนอิ้นเหริงต่อหน้าพระพักต์ อิ้นเหริงมีอาการสติไม่ดีพูดจาวกวนไปมา จักรพรรดิคังซีจึงตัดสินใจมีคำสั่งปลดอิ้นเหริงจากตำแหน่งพระรัชทายาทไว้ก่อน แต่ในภายหลังได้มีการสืบค้นสาเหตุที่พระรัชทายาทมีอาการวิกลจริต พบว่ามีการเล่นคุณไสยต่ออิ้นเหริงจริง (สมัยนั้นเรื่องเวทมนต์คาถาคุณไสยเป็นความเชื่อของคนทั่วไป) จึงมีการจับกุมองค์ชายใหญ่อิ้นถี ด้วยข้อหาทำไสยศาสตร์ใส่พระรัชทายาท ปลดตำแหน่งอิ้นถีออกจากฐานันดรทุกตำแหน่งและคุมขังไว้ตลอดชีวิต ต่อมาในปี ค.ศ.1709 เมื่อจักรพรรดิคังซีได้ตรวจสอบอิ้นเหริงใหม่ เห็นว่ามีอาการเป็นปกติแล้ว จึงได้สถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นพระรัชทายาทอีกครั้ง ตลอดช่วงระยะเวลาสามปีต่อมา อิ้นเหริงยิ่งมีพฤติกรรมที่แย่ลง ยังใช้อำนาจในทางมิชอบ รังแกเหล่าพระอนุชา และที่สำคัญมีการซ่องสุมกลุ่มขุนนางเตรียมการก่อกบฏ จักรพรรดิคังซีจึงสั่งปลดจากตำแหน่งรัชทายาทเป็นการถาวร ในปี ค.ศ.1712 โดยไม่มีการแต่งตั้งรัชทายาทองค์ใหม่อีกเลยตลอดรัชกาล และได้มีการสั่งคุมขังอิ้นเหริงไว้ พร้อมกับยึดทรัพย์ปลดจากฐานันดรศักดิ์ทุกตำแหน่ง

ปี ค.ศ.1722 จักรพรรดิคังซีสวรรคต องค์ชาย 4 อิ้นเจินได้สืบทอดราชบังลังก์เป็นจักรพรรดิยงเจิ้ง อิ้นเหริงต้องเปลี่ยนพระนามเป็นยฺหวิ่นเหริง เพื่อไม่ให้ใช้คำว่า อิ้น เหมือนองค์จักรพรรดิ ในปี ค.ศ.1725 ยฺหวิ่นเหริงสิ้นพระชนม์ขณะยังถูกคุมขัง จักรพรรดิยงเจิ้งทรงสถาปนาให้เป็นเหอชั่วหลี่มี่ชินหวัง (和碩理密親王) อีกทั้งจักรพรรดิยงเจิ้งได้รับเอาโอรสองค์โตของอิ้นเหริงคือ องค์ชายหงซีมาช่วยงานราชการ และเป็นที่โปรดปรานสถาปนาให้เป็น "อี่เก๋อหลี่ชินหวัง" อีกด้วย

พระบรมวงศานุวงศ์

[แก้]
  • พรบิดา : จักรพรรดิคังซี
  • พระมารดา : จักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน
  • พระชายาเอก
    • พระชายาเอก สกุลกัวเอ่อร์เจีย
  • พระชายารอง
    • พระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • พระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • พระชายารอง สกุลถังเจีย
  • พระอนุชายา
    • พระอนุชายา สกุลหวังเจีย
    • พระอนุชายา สกุลหลินเจีย
    • พระอนุชายา สกุลฟ่านเจีย
    • พระอนุชายา สกุลหลิวเจีย
  • ภรรยาน้อย
    • สตรี สกุลหลิว
    • สตรี สกุลเฉียน
    • สตรี สกุลชิว
    • สตรี สกุลจู
    • สตรี สกุลฉี
    • สตรี สกุลเผย
  • พระโอรส
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (4 กุมภาพันธ์ 1692 – 27 ธันวาคม 1701) โอรสในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าชายหงซี (弘晳, 25 สิงหาคม 1694 – 26 ตุลาคม 1742) อี่เก๋อหลี่ชินอ๋อง (已革理親王, 1723–1739) โอรสในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าชายหงจิ้น (弘晉, 14 พฤศจิกายน 1696 – 23 เมษายน 1717) เฟิ่งเอินฟู่กั๋วกงผิงจี๋ (奉恩輔國公) โอรสในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (1 พฤศจิกายน 1704 – 4 กุมภาพันธ์ 1706) โอรสในพระชายารอง สกุลถังเจีย
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (16 ธันวาคม 1708) โอรสในสตรี สกุลหลิว
    • เจ้าชายหงเอี้ยน (弘曣, 5 สิงหาคม 1712 – 19 พฤษภาคม 1750) เฟิ่งเอินฟู่กั๋วเก๋อซีกง (奉恩輔國恪僖公) โอรสในพระชายารอง สกุลถังเจีย
    • เจ้าชายหงเฉา (弘晀, 16 มิถุนายน 1714 – 28 สิงหาคม 1774) อี่เก๋อฟู่กั๋วกง (已革輔國公) โอรสในพระอนุชายา สกุลหวังเจีย
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (1 มีนาคม 1715 – 4 กรกฎาคม 1726) โอรสในสตรี สกุลเฉียน
    • เจ้าชายหงเหยียว (弘暚, 3 กรกฎาคม 1716 – 9 กุมภาพันธ์ 1783) องครักษ์ (三等侍衛) โอรสในสตรี สกุลชิว
    • เจ้าชายหงเหวย (弘㬙, 27 มกราคม 1719 – 25 กันยายน 1780) หลี่เก๋อจุ้นอ๋อง (理恪郡王, 1739–1780) โอรสในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • เจ้าชายหงปิง (弘昞, 8 กุมภาพันธ์ 1720 – 4 พฤษภาคม 1763) โอรสในพระอนุชายา สกุลหวังเจีย
    • เจ้าชายหงหวั่น (弘晥, 6 พฤศจิกายน 1724 – 29 พฤษภาคม 1775) เฟิ่งเอินฟู่กั๋วกง (奉恩輔國公) โอรสในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
  • พระธิดา
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (27 พฤษภาคม 1693 – มิถุนายน 1693) ธิดาในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (11 มีนาคม 1694 – มีนาคม 1694) ธิดาในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าหญิงเหอซั่วเก๋อเก๋อ (25 กันยายน 1697 – 5 พฤษภาคม 1735) ธิดาในพระชายาเอก สกุลกัวเอ่อร์เจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (16 มีนาคม 1706 – 16 มีนาคม 1706) ธิดาในพระอนุชายา สกุลฟ่านเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (4 มกราคม 1708 – กุมภาพันธ์/มีนาคม 1712) ธิดาในพระอนุชายา สกุลฟ่านเจีย
    • เจ้าหญิงเหอซั่วซูเซิ่นกงจวู่ (和碩淑慎公主, 24 มกราคม 1708 – 23 ตุลาคม 1784) ธิดาในพระชายารอง สกุลถังเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (25 พฤศจิกายน 1711 – พฤศจิกายน/ธันวาคม 1716) ธิดาในสตรี สกุลหลิว
    • เจ้าหญิงเหอซั่วเก๋อเก๋อ (2 มีนาคม 1714 – 21 พฤศจิกายน 1760) ธิดาในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • เจ้าหญิงตัวหลัวเก๋อเก๋อ (10 มกราคม 1715 – 12 กรกฎาคม 1762) ธิดาในพระอนุชายา สกุลหลินเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (27 กรกฎาคม 1717 – กุมภาพันธ์/มีนาคม 1720) ธิดาในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (27 กรกฎาคม 1717 – 29 มีนาคม 1725) ธิดาในพระอนุชายา สกุลหลิวเจีย
    • เจ้าหญิงเหอซั่วเก๋อเก๋อ (14 พฤศจิกายน 1717 – 30 เมษายน 1776) ธิดาในสตรี สกุลฉี
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (4 กุมภาพันธ์ 1718 – พฤษภาคม/มิถุนายน 1719) ธิดาในสตรี สกุลจู
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (25 เมษายน 1722 – สิงหาคม/กันยายน 1722) ธิดาในสตรี สกุลเผย