ข้ามไปเนื้อหา

มาร์กาเรต เบิร์ก-ไวต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มาร์กาเรต เบิร์ก-ไวต์ (อังกฤษ: Margaret Bourke-White; 14 มิถุนายน ค.ศ. 1904 – 27 สิงหาคม ค.ศ. 1971) เป็นช่างภาพหญิงชาวอเมริกันที่ถ่ายภาพแนวสารคดี (en:Photojournalism) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพโรงงานอุตสาหกรรมในสหภาพโซเวียต ทั้งยังเป็นช่างภาพและนักข่าวสงคราม (War photographer) คนแรกที่เป็นผู้หญิงที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสมรภูมิรบ และนอกจากนี้ยังเป็นช่างภาพหญิงคนแรกของนิตยสารไลฟ์ (en:Life Magazine) ภาพถ่ายของมาร์กาเร็ตปรากฏบนปกนิตยสารดังกล่าวในฉบับปฐมฤกษ์ เธอเสียชีวิตด้วยโรคพาร์กินสันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 1971รัฐคอนเนทิคัต หลังจากเริ่มมีอาการของโรคดังกล่าวเมื่อ 8 ปีก่อนหน้านั้น

มาร์กาเร็ต นับเป็นช่างภาพหญิงคนสำคัญคนหนึ่งของวงการถ่ายภาพของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวงการภาพถ่ายสารคดีและภาพข่าว

ประวัติ

[แก้]

มาร์กาเร็ต บูร์ก ไวท์ เป็นบุตรสาวของโจเซฟ ไวท์ (Joseph White) ชาวยิว-โปแลนด์ และ มินนี่ บูร์ก (Minnie Bourke) สตรีอังกฤษเชื้อสายไอริช เธอเกิดในย่านเดอะบรองซ์ (The Bronx) ทางตอนเหนือของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่ไปเติบโตที่บาวนด์ บรู๊ค รัฐนิวเจอร์ซี และจบการศึกษาระดับมัธยมจาก เพลนฟิลด์ ไฮสกูล (Plainfield High School) ทั้งนี้ เมื่อแรกเกิด เธอมีชื่อว่า มาร์กาเร็ต ไวท์ (Margaret White) แต่ในปี 1927 เธอได้เติมนามสกุลแม่ลงไปในชื่อของตัวเองแล้วใส่ขีดคั่น (Hyphen) จึงกลายเป็น Margaret Bourke-White อย่างที่โลกรู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากพ่อของมาร์กาเร็ตเป็นวิศวกรและนักประดิษฐ์ เธอจึงเรียนรู้ที่จะเป็นพวกสมบูรณ์แบบนิยม ในขณะที่แม่ก็เป็นแม่บ้านที่มีความคิดริเริ่มในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้เธอมีความปรารถนาจะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โรเจอร์ พี่ชายของมาร์กาเร็ตบรรยายถึงพ่อแม่ของพวกเขาว่า ทั้งคู่เป็นนักคิดอิสระผู้ใส่ใจในการสร้างความก้าวหน้าให้ตนเองและมนุษยชาติอย่างจริงจัง โรเจอร์จึงกล่าวว่า ไม่เคยสงสัยในความสำเร็จของน้องสาวเลย โดยกล่าวถึงอุปนิสัยส่วนตัวของเธอว่า ไม่ใช่คนสันโดษหรือไร้มนุษยสัมพันธ์ และนอกจากโรเจอร์แล้ว มาร์กาเร็ตยังมีพี่สาวอีก 1 คน ชื่อ รูธ ไวท์ ซึ่งมีชื่อเสียงจากงานที่อเมริกัน บาร์ แอสโซซิเอชั่น (American Bar Association) ในชิคาโก

ความสนใจด้านถ่ายภาพของมาร์กาเร็ตเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเป็นงานอดิเรกที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อซึ่งเป็นคนหลงใหลในกล้องถ่ายภาพ อย่างไรก็ตาม เธอได้เข้าเรียนด้านสัตววิทยาแขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (herpetology) ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อปี 1922 โดยที่ยังมีความสนใจด้านการถ่ายภาพอยู่ และยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่ได้เรียนกับคลาเรนซ์ ไวท์ (Clarence White) ช่างภาพชาวอเมริกัน (แต่ทั้งสองไม่ได้เป็นญาติกัน) ซึ่งเปิดโรงเรียนสอนถ่ายภาพ Clarence H. White School of Photography

ภายหลังการเสียชีวิตของพ่อ เธอก็ลาออกจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว แล้วเปลี่ยนที่เรียนอีก 2-3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งเธอเป็นสมาชิกสโมสรหญิง Alpha Omicron Pi, Purdue University ในรัฐอินเดียนา และมหาวิทยาลัย Case Western Reserve ในเคลฟแลนด์ โอไฮโอ และในที่สุดก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลด้วยวุฒิศิลปศาสตร์บัณฑิตในปี 1927 หนึ่งปีต่อมา มาร์กาเร็ตย้ายจากนิวยอร์กไปยังเคลฟแลนด์ โอไฮโอ แล้วเริ่มสร้างสตูดิโอถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ โดยสร้างผลงานภาพถ่ายเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในปี 1924 ระหว่างที่ยังเรียนหนังสือ เธอแต่งงานกับเอเวอร์เรตต์ แชปแมน (Everett Chapman) แต่หย่าร้างกันในอีก 2 ปีต่อมา

ภาพถ่ายเชิงสถาปัตยกรรมและการพาณิชย์

[แก้]

หนึ่งในลูกค้าของ มาร์กาเร็ต คือ โอทิส สตีล คัมพานี (Otis Steel Company) ความสำเร็จของเธอเกิดจากทั้งเทคนิคส่วนตัว และทักษะต่างๆ ที่เรียนรู้จากผู้คน ซึ่งประสบการณ์จากการทำงานให้บริษัทโอทิสเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ดังที่อธิบายไว้ในหนังสือ ‘พอร์ตเทรต ออฟ มายเซลฟ์’ (Portrait of Myself) ซึ่งเธอเขียนขึ้นในภายหลัง

เริ่มแรกนั้น มีการคัดค้านที่จะปล่อยให้เธอถ่ายภาพด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างแรก คือ การทำเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ ดังนั้นพวกเขาต้องมั่นใจว่ามันจะไม่กระทบต่อความปลอดภัยของชาติ อย่างที่สอง เธอเป็นผู้หญิง และในยุคนั้นผู้คนก็ยังสงสัยว่า ผู้หญิงและกล้องที่บอบบางของเธอจะสามารถทนต่อความร้อนสูง ความเสี่ยง ความสกปรก และสถานการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่

ต่อมา เมื่อได้รับอนุญาต ปัญหาทางด้านเทคนิคก็เริ่มต้นขึ้น เนื่องจากฟิล์มขาวดำในยุคนั้นไวต่อแสงสีน้ำเงินไม่ใช่สีแดงหรือสีส้มของเหล็กร้อนๆ แม้เธอมองเห็นถึงความงาม แต่ภาพถ่ายจะออกมาเป็นสีดำทั้งหมด มาร์กาเร็ตแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้ช่วยถือแมกนีเซียมที่ลุกไหม้ซึ่งสร้างแสงสีขาวและแสงสว่างให้กับฉาก ความสามารถของเธอส่งผลให้ภาพเหล่านั้นเป็นหนึ่งในภาพถ่ายโรงงานเหล็กที่ดีที่สุดในยุคนั้น

ภาพถ่ายเชิงสารคดี (en:Photojournalism)

[แก้]

ในปี 1929 มาร์กาเร็ตตกลงรับตำแหน่งบรรณาธิการร่วมและช่างภาพที่นิตยสารฟอร์จูน (en:Fortune Magazine) จนถึงปี 1930 ต่อมา เฮนรี่ ลูซ (en:Henry Luce) เจ้าพ่อแห่งวงการนิตยสารจ้างเธอเป็นช่างภาพข่าวหญิงคนแรกของไลฟ์แมกกาซีน (en:Life Magazine) เมื่อปี 1936 ภาพการก่อสร้างเขื่อน Fort Peck ของมาร์กาเร็ตได้ปรากฏบนหน้าปกฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อ 23 พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้นเอง โดยเป็นภาพที่ได้รับความนิยมมากถึงขนาดมีการนำไปพิมพ์ในชุดแสตมป์ที่ระลึกฉลอง 100 ปีของการไปรษณีย์สหรัฐ โดยถูกใช้เป็นภาพตัวแทนของยุคทศวรรษ 1930

อย่างไรก็ตาม แม้เธอตั้งชื่อภาพว่า New Deal, Montana: Fort Peck Dam แต่ความจริงแล้วมันคือภาพของทางน้ำล้นซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเขื่อนไปทางตะวันออก 3 ไมล์ ตามเว็บเพจของเหล่าทหารช่างของกองทัพสหรัฐ (United States Army Corps of Engineers)

ช่วงกลางยุคทศวรรษ 1930 มาร์กาเร็ตถ่ายภาพผู้ประสบภัยแล้งในเหตุการณ์ดัสต์โบวล์ (en:Dust Bowl) ซึ่งเป็นพายุฝุ่นที่เกิดจากการเพาะปลูกผิดวิธีจนหน้าดินแห้งเป็นฝุ่น และถูกลมพัดปลิวว่อนกลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ในอเมริกา ตีพิมพ์ลงในนิตยสารไลฟ์ ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1937

อีกหนึ่งภาพที่มีชื่อเสียงของมาร์กาเร็ตคือ ภาพกลุ่มคนผิวดำผู้ประสบภัยแล้งยืนอยู่หน้าป้ายที่มีข้อความว่า “มาตรฐานการใช้ชีวิตที่สูงที่สุดในโลก” (World's Highest Standard of Living) โดยมีภาพวาดครอบครัวคนขาวนั่งอยู่ในรถยนต์ ซึ่งถ่ายไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1937 ต่อมาภาพถ่ายดังกล่าวกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบปกอัลบั้ม There's No Place Like America Today ของ เคอร์ทิส เมย์ฟิลด์ (Curtis Mayfield) ศิลปินผิวสีชาวอเมริกันเมื่อปี 1975

ในปี 1939 มาร์กาเร็ตแต่งงานกับ เออร์สกิน คอลด์เวลล์ (Erskine Caldwel) นักเขียนนวนิยาย และหย่าร้างกันในปี 1942 ทั้งคู่เคยร่วมงานกันในหนังสือชื่อ You Have Seen Their Faces ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ทางตอนใต้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก (Great Depression) ตีพิมพ์เมื่อปี 1937

นอกจากนี้ เธอยังเดินทางไปยังทวีปยุโรปเพื่อบันทึกว่าเยอรมนี ออสเตรีย และเชกโกสโลวาเกียถูกปฏิบัติอย่างไรเมื่ออยู่ภายใต้ลัทธินาซี และรัสเซียถูกจัดการอย่างไรภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์ ขณะที่อยู่ในรัสเซีย เธอได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากคือ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) มีรอยยิ้ม เช่นเดียวกับภาพแม่และย่า (หรือยาย?) ของเขาขณะเยือนจอร์เจีย

มาร์กาเร็ตทำงานเป็นช่างภาพให้นิตยสารไลฟ์จนถึงปี 1940 แต่ก็กลับมาทำงานที่นี่อีกครั้งเมื่อปี 1941-42 และอีกครั้งในปี 1945 จนกระทั่งกึ่งเกษียณเมื่อปี 1957 อันเป็นช่วงที่เธอยุติอาชีพการเป็นช่างภาพนิตยสาร ต่อมาจึงเกษียณเต็มขั้นในปี 1969 ทั้งนี้ มาร์กาเรตเริ่มมีห้องแล็บครั้งแรกที่นิตยสารไลฟ์แห่งนี้เอง

สงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้]

มาร์กาเร็ตเป็นนักข่าวหญิงคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสมรภูมิรบระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเดินทางไปยังสหภาพโซเวียตในปี 1941 โดยเป็นช่างภาพชาวต่างชาติเพียงคนเดียวในกรุงมอสโควขณะที่กองทัพเยอรมันกำลังบุกโจมตี เธอสามารถจับภาพทะเลเพลิงเหล่านั้นไว้ได้ ขณะที่สงครามกำลังดำเนินอยู่ เธอยังติดตามกองทัพอากาศของสหรัฐในแอฟริกาเหนือ อิตาลี และเยอรมัน โดยเข้าสู่สมรภูมิที่กำลังต่อสู่กันในประเทศอิตาลี นอกจากนี้ยังเคยอยู่ในสถานการณ์การทำลายล้างในเมอร์ดิเตอร์เรเนียน เคยเกยตื้นบนอาร์คติก ไอส์แลนด์ และรอดตายจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกที่เชซาพีค (Chesapeake) หลังจากนั้นเธอก็เป็นที่รู้จักในหมู่พนักงานของนิตยสารไลฟ์ในนาม ‘แม็กกี้ ผู้ทำลายไม่ได้’ (Maggie the Indestructible)

เธอยังได้บันทึกเรื่องราวการจมของเรือ SS Strathallan ซึ่งเปนเรือรบอังกฤษที่มุ่งหน้าไปยังแอฟริกาไว้ในบทความ “Women in Lifeboats” ในนิตยสารไลฟ์ ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1943 อีกด้วย และต่อมาในฤดูใบไม้ผลิปี 1945 มาร์กาเร็ตเดินทางพร้อมนายพล George S. Patton นายทหารสหรัฐ ไปยังแคมป์ Buchenwald อันอื้อฉาวในเยอรมัน ซึ่งเธอกล่าวในเวลาต่อมาว่า “การใช้กล้องถ่ายภาพเกือบจะเป็นการปลดเปลื้องสำหรับฉัน มันคั่นกลางนิดเดียวระหว่างตัวฉันกับความน่าสะพรึงกลัวที่อยู่ตรงหน้า”

หลังสงคราม เธอเขียนหนังสือชื่อว่า Dear Fatherland, Rest Quietly ซึ่งช่วยให้เธอรับมือกับความเหี้ยมโหดที่พบเห็นระหว่างและหลังสงคราม

การบันทึกความรุนแรงในการแบ่งแยกดินแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน

[แก้]

มาร์กาเร็ตมีชื่อเสียงพอๆ กันทั้งจากภาพมหาตมา คานธีกับเครื่องปั่นด้าย (Gandhi at his Spinning Wheel) และภาพโมฮัมเหม็ด อาลี จินนาห์ (Mohammed Ali Jinnah) ผู้สถาปนาปากีสถานขณะนั่งบนเก้าอี้ โดยที่ Somini Sengupta นักหนังสือพิมพ์หญิงชื่อดังชาวอินเดีย เจ้าของรางวัล George Polk Award ปี 2004 สาขาผู้สื่อข่าวต่างประเทศกล่าวว่า “มาร์กาเร็ตคือหนึ่งในผู้บันทึกเหตุการณ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในการแบ่งแยกอินเดียกับปากีสถาน เธอบันทึกภาพท้องถนนที่กลาดเกลื่อนไปด้วยซากศพ เหยื่อที่ตายโดยดวงตายังเบิกโพลง ผู้อพยพกับดวงตาที่เหม่อลอย ภาพถ่ายของเธอดูเหมือนกรีดร้องอยู่บนหน้ากระดาษ”

ภาพถ่ายจำนวน 66 ภาพของมาร์กาเร็ตถูกรวบรวมไว้ในหนังสือนวนิยายชื่อ en:Train to Pakistan ของ en:Khushwant Singh ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1956 โดยมีการพิมพ์ซ้ำเมื่อปี 2006 ภาพถ่ายจำนวนมากในหนังสือเล่มนี้ถูกจัดแสดงที่ศูนย์การค้า The posh shopping center Khan Market ในเมืองเดลี ประเทศอินเดีย

อัลเฟรด (en:Alfred Eisenstaedt) ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและผู้ร่วมงานของมาร์กาเร็ตกล่าวว่า เธอมีความสามารถพิเศษในการอยู่ถูกที่ถูกเวลา ซึ่งเธอได้สัมภาษณ์และถ่ายภาพมหาตมา คานธีเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการลอบสังหารในปี 1948 ที่สำคัญคือ ไม่มีงานไหนหรือภาพใดไม่สำคัญสำหรับเธอ

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

อย่างไรก็ตาม ชีวประวัติของมาร์กาเร็ต บูร์ก ไวท์ ยังถูกผลิตเป็นภาพยนตร์เรื่อง Double Exposure: The Story of Margaret Bourke-White เมื่อปี 1989 และยังมีภาพยนตร์เรื่อง Gandhi (คานธี) ปี 1982 ที่มีฉากมาร์กาเร็ตเดินทางไปถ่ายภาพและพูดคุยกับคานธีอีกด้วย

แหล่งเก็บสะสมผลงานภาพถ่าย

[แก้]

ภาพถ่ายของมาร์กาเร็ตอยู่ที่บรูคลินมิวเซียม (en:Brooklyn Museum) เมืองเคลฟแลนด์, พิพิธภัณฑ์ศิลปะ (en:Museum of Art), พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art) ในนิวยอร์ก และหอสมุดรัฐสภา (en:Library of Congress) ในวอชิงตัน ดี.ซี.

หนังสือโดยมาร์กาเร็ต บูร์ก ไวท์

[แก้]
  • You Have Seen Their Faces (1937; ร่วมกับ Erskine Caldwell)
  • North of the Danube (1939; ร่วมกับ Erskine Caldwell)
  • Shooting the Russian War (1942)
  • They Called it “Purple Heart Valley” (1944)
  • Halfway to Freedom; a report on the new India (1949)
  • Dear Fatherland, rest quietly (1946)
  • Portrait of Myself (1963)
  • The Taste of War (คัดสรรงานเขียนของมาร์กาเร็ต บรรณาธิการโดย Jonathon Silverman)

หนังสือที่เกี่ยวกับมาร์กาเร็ต บูร์ก ไวท์

[แก้]
  • For the world to see: the life of Margaret Bourke-White โดย Jonathon Silverman (1983)
  • Margaret Bourke-White: a biography โดย Vicki Goldberg (1986)
  • The Photographs of Margaret Bourke-White edited โดย Sean Callahan (1972)
  • Margaret Bourke-White: a photographer’s life โดย Emily Keller (1996)
  • Margaret Bourke-White: the early work, 1922-1930. โดย Ronald E. Ostman และ Harry Littell
  • Photojournalism, 1855 to the present โดย Reuel Golden (2006)
  • Key readings in journalism บรรณาธิการโดย Elliot King และ Jane L. Chapman (2012)

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]