มอซซาเรลลา
มอซซาเรลลา (อิตาลี: mozzarella) เป็นเนยแข็งชนิดหนึ่ง มีต้นกำเนิดจากภาคใต้ของประเทศอิตาลี ตามธรรมเนียมแล้วผลิตจากน้ำนมควายเมดิเตอร์เรเนียนอิตาลีด้วยกรรมวิธีปัสตาฟีลาตา (pasta filata) ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วเป็นการแช่ กวน และนวดลิ่มน้ำนมในอ่างหางนมร้อนหรือน้ำร้อน เนยแข็งที่ได้จะมีเนื้อสัมผัสกึ่งนุ่ม ยืดหยุ่น และมีกลิ่นรสไม่แรง นิยมนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในพิซซาและอาหารจากพาสตาชนิดต่าง ๆ หรือเสิร์ฟกับมะเขือเทศฝานและใบโหระพาฝรั่งในสลัดกาปรี
มอซซาเรลลาได้รับการขึ้นทะเบียนการรับรองความชำนาญพิเศษแบบดั้งเดิม (Traditional Speciality Guaranteed) จากสหภาพยุโรปในปี พ.ศ. 2541 แผนการคุ้มครองนี้กำหนดให้มอซซาเรลลาที่จำหน่ายในสหภาพยุโรปต้องผลิตตามสูตรดั้งเดิม แต่ก็ไม่ได้กะเกณฑ์ที่มาของนมที่ใช้ผลิตเนยแข็งชนิดนี้ ดังนั้นจึงอาจใช้นมชนิดได้ก็ได้รวมทั้งนมวัว[1] อย่างไรก็ตาม ในอิตาลี มอซซาเรลลาชนิดที่ผลิตจากนมควายเป็นชนิดที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียง โดยมอซซาเรลลาควายของอิตาลีที่จำหน่ายในชื่อ "มอซซาเรลลาควายคัมปาเนีย" (Mozzarella di Bufala Campana) ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้แผนการการคุ้มครองการตั้งชื่อจากแหล่งกำเนิด (Protected Designation of Origin) ของสหภาพยุโรป และต้องผลิตในท้องที่ที่ได้รับการเลือกสรรในแคว้นคัมปาเนีย, ลัตซีโย, ปุลยา และโมลีเซเท่านั้น[2][3]
มอซซาเรลลาสดโดยทั่วไปมีสีขาว แต่บางครั้งอาจมีสีครีมหรือสีเหลืองอ่อนขึ้นอยู่กับอาหารที่สัตว์กินเข้าไป[4] เนื่องจากมอซซาเรลลาสดจะมีความชื้นสูง แต่เดิมจึงมักบริโภคภายในไม่กี่วันหลังจากผลิตเสร็จ[5] แต่ก็สามารถเก็บไว้ในน้ำเกลือเข้มข้นได้นานประมาณหนึ่งสัปดาห์[6] หรือนานกว่านั้นเมื่อจำหน่ายในบรรจุภัณฑ์ที่ผนึกสุญญากาศ โดยมอซซาเรลลาที่มีความชื้นต่ำ (เพราะเอาน้ำออกมาก) สามารถแช่เย็นเก็บไว้ได้นานถึงหนึ่งเดือน[7] และมอซซาเรลลาขูดฝอยที่มีวางจำหน่ายทั่วไปบางชนิดก็มีอายุการเก็บรักษานานถึงหกเดือน[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Commission Regulation (EC) No 2527/98". Official Journal of the European Communities. European Commission. 41: L 317/14–18. 26 November 1998. สืบค้นเมื่อ 28 July 2014.
- ↑ "Amendment Application Council Regulation (EC) No 510/2006". Official Journal of the European Communities. European Commission. 50: C 90/5–9. 25 March 2007. สืบค้นเมื่อ 28 July 2014.
- ↑ "Commission Regulation (EC) No 103/2008". Official Journal of the European Communities. European Commission. 51: L 31/31. 5 February 2008. สืบค้นเมื่อ 28 July 2014.
- ↑ Lambert, Paula. "Mozzarella Cheese". Sally's Place. Media Holdings. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-14. สืบค้นเมื่อ 1 April 2008.
- ↑ Kotkin, Carole (October–November 2006). "Burrata mozzarella's creamy cousin makes a fresh impression". The Wine News Magazine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-24. สืบค้นเมื่อ 1 April 2008.
- ↑ Staff. "Mozzarella". Healthnotes. PCC Natural Markets. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-25. สืบค้นเมื่อ 1 April 2008.
- ↑ Correll, John. "Chapter 8 – Cheese". The Original Encyclopizza: Pizza Ingredient Purchasing and Preparation. Fulfillment Press. ISBN 978-0-9820920-7-1. สืบค้นเมื่อ 1 April 2008.
- ↑ Staff. "Shreds: Mozzarella, Low Moisture, Part Skim, Shredded, 6 oz". Organic Valley. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-23. สืบค้นเมื่อ 1 April 2008.