ข้ามไปเนื้อหา

ภาพยนตร์เกาหลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาพยนตร์เกาหลี คือภาพยนตร์ที่พูดภาษาเกาหลี ในที่นี้รวมถึงภาพยนตร์ที่มาจากประเทศเกาหลีเหนือและประเทศเกาหลีใต้ แต่ภาพยนตร์จากเกาหลีใต้สามารถตีตลาดสู่ระดับนานาชาติ ทั้งตลาดบันเทิงเอเชีย และตลาดบันเทิงยุโรป รวมไปถึงตลาดอเมริกา จนกลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ 10 อันดับแรกของประเทศ ปัจจุบันตลาดภาพยนตร์ของเกาหลีใต้มีมูลค่า 37,000 ล้านบาทต่อปี และหากนับรวมตลาดวิดีโอและดีวีดีแล้ว จะเป็นเงินมากถึงปีละ 62,000 ล้านบาท จากเดิมที่ภาพยนตร์เกาหลีใต้มีส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศในปี 2536 เพียงแค่ 15.9% ต่อมาในปี 2540 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 25.5%

สำหรับแนวภาพยนตร์ของเกาหลีในปัจจุบัน เฉลี่ยเป็นหนังผี (Horror) ประมาณ 10% ตลก (Comedy) 20% รักสะเทือนอารมณ์ (Melo-Drama) 30% แอคชั่น (Action) 10% และหนังหลายรสชาติ (Mix) 30%

ส่วนแนวภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมจากคนเกาหลี คือ ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรักและสงครามเกาหลี หรือแนวเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของชีวิตคนเกาหลีจริง ๆ โดยภาพยนตร์ส่วนมากเกาหลี ล้วนมีเนื้อหาและการนำเสนอที่เป็นพราะภาพยนตร์ที่ถูกสร้างออกมาส่วนใหญ่เข้าถึงชีวิตจิตใจของคนดูได้อย่างแท้จริง

ประวัติ

[แก้]

ในสมัยที่เกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ภาพยนตร์เกาหลีส่วนใหญ่ถูกทำลายไปในสงคราม ภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ ในสมัยนั้นญี่ปุ่นยังคุมเข้มเซ็นเซอร์ทั้งเนื้อหาและทุนสร้าง อิทธิพลของญี่ปุ่นยังครอบงำอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีอยู่หลายปี ถึงขนาดมีการห้ามไม่ให้คนเกาหลีสร้างภาพยนตร์ภาษาเกาหลีออกมาฉายในโรงอย่างเด็ดขาด

จนกระทั่งมีสนธิสัญญาสงบศึกปี พ.ศ. 2496 ประธานาธิบดี Rhee Syng Man ประกาศให้ยกเว้นภาษีต่าง ๆ ในโรงภาพยนตร์ โดยหวังจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลี เปิดรับความช่วยเหลือทั้งด้านเทคโนโลยี และอุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีเฟื่องฟูขึ้นมา โดยแนวของภาพยนตร์เน้นคือภาพยนตร์แนวสะเทือนอารมณ์ทั้งหลาย รวมทั้งภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น ซึ่งมีการหยิบเอาวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนเกาหลีมาสร้างเป็นบทภาพยนตร์ที่กินใจคนดู

ภายหลังนายพลปาร์คจุงฮีก่อรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2504 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ก็เริ่มตกต่ำลง เนื่องจากรัฐบาลชุดใหม่ออกกฎระเบียบควบคุมภาพยนตร์อย่างเข้มงวด โดยห้ามมีเนื้อหาทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ส่งผลกระทบทำให้เนื้อหาภาพยนตร์เกาหลีใต้เป็นเรื่องซ้ำซาก ไม่มีเนื้อหาแปลกใหม่ที่เป็นความสนใจของประชาชน ประกอบกับได้รับผลกระทบจากการแพร่ภาพโทรทัศน์และวิดีโอเทป โดยประชาชนหันมานิยมชมโทรทัศน์ที่บ้าน แทนที่จะไปชมที่โรงภาพยนตร์ ประกอบกับรัฐบาลได้เข้ามาเข้มงวดกับการตรวจพิจารณาอนุมัติการสร้างภาพยนตร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2523-2535 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีจึงกลับมาดีขึ้น ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับการชมภาพยนตร์ในโรงมากขึ้น

โดยในปี พ.ศ. 2531 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลง คือ เมื่อหัวหน้ากองทัพ โร ตี วู ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อนุญาตให้ลดความเข้มงวดของกฎหมายในการตรวจพิจารณาอนุมัติสิ่งบันเทิงและวิทยุ และต่อมาได้มีการยกเลิกข้อกำหนดที่เข้มงวดของการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ

ภาพยนตร์เรื่อง เทกึกกี เลือดเนื้อเพื่อฝัน วันสิ้นสงคราม

ผู้สร้างภาพยนตร์เกาหลีได้พัฒนาการสร้างภาพยนตร์เพื่อให้สร้างแข่งขันกับภาพยนตร์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ผู้ชมก็หันไปให้ความสนใจกับภาพยนตร์จากต่างประเทศมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลเกาหลีที่เข้ามาแทรกแซงกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกครั้ง และครั้งนี้เองที่ส่งผลมาจนถึงตลาดรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีปัจจุบัน ที่ขยายวงกว้างออกไปยังตลาดต่างประเทศ ไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่ในตลาดเกาหลีเท่านั้น

รัฐบาลเกาหลีได้กำหนดจำนวนวันเข้าฉายของภาพยนตร์เกาหลี ว่าต้องฉายอย่างน้อย 106 วันใน 1 ปี[ต้องการอ้างอิง] หลังจากนั้น ได้มีการกำหนดว่าในปริมาณภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงทั้งหมด ต้องมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนโรงที่ฉายภาพยนตร์เกาหลี และรัฐบาลยังให้เงินสนับสนุนกับผู้สร้างภาพยนตร์ปีละ 10 เรื่อง เรื่องละประมาณ 20 ล้านบาท จากการสนับสนุนตรงนี้แหละที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเฟื่องฟูมาถึงทุกวันนี้ และทำให้เกิดบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่ขึ้นในเกาหลีมากกว่า 1,000 บริษัท มีภาพยนตร์เกาหลีออกสู่ตลาดประมาณ 70-80 เรื่อง

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้เริ่มประสบผลสำเร็จทางธุรกิจในช่วงประเทศเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นจุดพลิกผันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ คือ ภาพยนตร์เรื่อง Shiri ซึ่งทุ่มทุนสร้างประมาณ 120 ล้านบาท และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก สร้างรายได้เฉพาะภายในประเทศเกาหลีใต้เป็นเงินมากถึง 800 ล้านบาท

จากนั้นภาพยนตร์เกาหลีใต้อีกหลายเรื่องก็เดินหน้าประสบผลสำเร็จอย่างท่วมท้นเมื่อนำออกฉายภายในประเทศ เป็นต้นว่า ภาพยนตร์เรื่อง Friends ประสบความสำเร็จมากเมื่อนำออกฉายในปี 2544 โดยมีผู้ชมในเกาหลีใต้มากถึง 8.1 ล้านคน[ต้องการอ้างอิง]

ภาพยนตร์เรื่อง “Taegukgi : The Brotherhood of War” หรือ “เท กึก กี เลือดเนื้อเพื่อฝัน วันสิ้นสงคราม” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามเกาหลี ทุ่มทุนสร้างสูงถึง 560 ล้านบาท ใช้นักแสดงมากถึง 25,000 คน ประสบผลสำเร็จอย่างมาก มีผู้ชมชาวเกาหลีใต้ถึง 10 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 48 ล้านคนของเกาหลีใต้

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่นๆ

[แก้]