ฟีลิปโป ตอมมาโซ มารีเนตตี
ฟิลิปโป ทอมมาโซ มาริเนตติ | |
---|---|
เกิด | ฟิลิปโป ทอมมาโซ มาริเนตติ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1876 อะเล็กซานเดรีย, อียิปต์ |
เสียชีวิต | ผิดพลาด: ต้องการวันเกิดที่ถูกต้อง (วันที่สอง): ปี เดือน วัน เบลลาโจ, อิตาลี |
อาชีพ | นักเขียน, กวี |
แนวร่วมในทางวรรณคดี | ฟิวเจอริสม์ |
ฟิลิปโป ตอมมาโซ เอมิลิโอ มาริเนตติ (อิตาลี: Filippo Tommaso Emilio Marinetti) (22 ธันวาคม 1876 – 2 ธันวาคม 1944) เป็นนักเขียนและกวีชาวอิตาลี เขาเป็นที่จดจำในฐานะผู้ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะในกระแสฟิวเจอริสม์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอิตาลี
มาริเนตติ ได้รับการศึกษาจากนักบวชคณะเยซูอิตในอะเล็กซานเดรีย ก่อนที่จะย้ายมาศึกษาวิชากฎหมายที่ปารีส ในปี 1893 และสำเร็จการศึกษาในปี 1899 อย่างไรก็ตาม มาริเนตติตัดสินใจที่จะเป็นนักเขียนแทนที่จะเป็นทนายความ โดยงานเขียนของเขานั้นมีอิทธิพลต่อความคิดของศิลปินอิตาลีในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก และเขายังเป็นหนึ่งในผู้ที่ให้การสนับสนุนพรรคสันนิบาตการต่อสู้แห่งอิตาลี (Fasci Italiani di Combattimento) ของเบนิโต มุสโสลินีอีกด้วย
ผลงาน
[แก้]ผลงานชิ้นแรกๆ ที่ทำให้มาริเนตติเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ "คำแถลงการณ์ฟิวเจอริสม์" (Manifeste de fondation du Futurisme) ตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์รายวัน "เลอ ฟิกาโร" (Le Figaro) ของฝรั่งเศส ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1909 โดยแถลงการณ์นั้นได้แสดงถึงความไม่พอใจต่อรูปแบบทางการเมืองและศิลปะแบบเก่าๆ โดยแนวคิดแบบฟิวเจอริสม์นั้นให้คุณค่าและชื่นชมในเทคโนโลยี เครื่องยนต์ และความเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งในทัศนะของเขา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวแทนแห่งชัยชนะทางด้านเทคโนโลยีของมนุษย์ที่มีเหนือธรรมชาติ
ในปี 1912 มาริเนตติได้ตีพิมพ์ "แถลงการณ์ว่าด้วยวิธีการประพันธ์แนวฟิวเจอริสม์" (Manifesto tecnico della letteratura Futurista) ซึ่งว่าด้วยวิธีการเขียนบทกวีและการประพันธ์ร้อยแก้วแบบร่วมสมัยด้วยการยกเลิกการใช้วากยสัมพันธ์ คำคุณศัพท์ และคำวิเศษณ์ แล้วแทนที่ด้วยการใช้คำนามแบบสุ่มขึ้นมา อีกทั้งยังใช้คำกริยาที่ไม่ผันตามประธาน (infinitive) และบอกเวลาของการกระทำนั้นๆ (tense) โดยวิธีการนี้เรียกว่า "ถ้อยคำในอิสรภาพ" (parole in libertà) เป็นการเขียนบทกวีที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ ตัวอย่างบทกวีภาพของมาริเนตติ เช่น "Une assemblée tumultueuse. Sensibilité numérique" และ "Zang Tumb Tumb" เป็นต้น
อิทธิพลของมาริเนตติ
[แก้]แนวคิดฟิวเจอริสม์ของมาริเนตตินั้น ได้กลายมาเป็นที่ยอมรับของศิลปินอิตาลีรุ่นใหม่ เช่น อุมแบร์โต บอชโชนี, คาร์โร คารา, จีโน เซเวรินี โดยพวกเขาได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เกี่ยวกับจิตรกรฟิวเจอริสม์ (Manifesto dei pittori futurist) ในปี 1910 พร้อมกันนั้นในช่วงระหว่างปี 1910 - 1913 มาริเนตติยังได้มีโอกาสเดินทางไปบรรยายแนวคิดฟิวเจอริสม์ทั้งในรัสเซียและอังกฤษ ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานของศิลปินในกระแสฟิวเจอริสม์ของทั้งสองประเทศในเวลาต่อมา เช่น รูปแบบศิลปะแบบคูโบ-ฟิวเจอริสม์ (Cubo-Futurism) ในรัสเซีย และกระแสแบบคติวัฏฏารมณ์ (Vorticism) ในอังกฤษ เป็นต้น
ในช่วง"สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง" มาริเนตติถูกจับกุมในปี 1915 พร้อมกันนั้นเขายังได้ส่งเสริมให้ศิลปินในกระแสฟิวเจอริสม์สร้างสรรค์งานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงคราม ตัวอย่างเช่น "Canon en action" ของจีโน เซเวรินี นอกจากนี้ บทกวีของมาริเนตติยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักแต่งเพลงอย่าง ลุยจี รุสโซโล ได้เริ่มทดลองประพันธ์เพลงแนวใหม่ที่เรียกว่า "นอยส์มิวสิค" (noise music) พร้อมกับออกแถลงการณ์ " L'Arte dei Rumori" ในปี 1913 และตีพิมพ์ครั้งแรกโดยกลุ่มศิลปินดาด้า (Dada) ในปี 1916
อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดฟิวเจอริสม์ของมาริเนตตินั้น เป็นกระแสความเคลื่อนไหวหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการศิลปะสมัยใหม่และวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งยังคงปรากฏให้เห็นในวัฒนธรรมร่วมสมัยในปัจจุบัน เช่น งานวรรณกรรมแนวไซเบอร์พังก์ เป็นต้น
ความสัมพันธ์กับฟาสซิสม์
[แก้]ในระหว่างที่มาริเนตติถูกจับกุมนั้น เขาได้พบกับมุสโสลินีเป็นครั้งแรก ภายหลังจากได้อิสรภาพแล้ว เขาได้ก่อตั้งพรรคการเมืองฟิวเจอริสม์ (Partito Politico Futurista) ขึ้นในปี 1918 โดยสนับสนุนแนวคิดแบบชาตินิยม และต่อต้านแนวคิดแบบราชาธิปไตย ซึ่งมุสโสลินีได้ใช้เป็นเครื่องมือและสนับสนุนตัวเขาให้ขึ้นสู่อำนาจในปี 1922 ในช่วงเวลานี้มาริเนตติพยายามสนับสนุนให้ศิลปะฟิวเจอริสม์ให้เป็นศิลปะของรัฐอย่างเป็นทางการ แต่ก็ประสบความล้มเหลว โดยมุสโสลินีนั้นให้การสนับสนุนศิลปะในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ศิลปินนั้นสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองของเขาและยังคงทำงานให้กับรัฐ
ผลงานของมาริเนตติ
[แก้]- Il Vestito Antineutrale. Manifesto Futurista (1914)
- Vive la France (1914 - 1915)
- Zang Tumb Tumb: Adrianopoli Ottobre 1912: Parole in Libertà Filippo (1914)
- The Riot in Milan (1914)
- The Dirigible (1915)
- Elegant Speed - Liberated Words (1st Record) (1918 - 1919)
- Une assemblée tumultueuse. Sensibilité numérique (1919)
- In the Evening, Lying on Her Bed, She Reread the Letter from Her Artilleryman at the Front (1919)
- Les mots en liberté futuristes (1919)
- Osvobozená slova (1922)
อ้างอิง
[แก้]- Sylvia Martin; Uta Grosenick (ed.), Futurism, Taschen, Germany, 2005. (ISBN 3-8228-2966-8)
- Marianne W. Martin, Futurist Art and Theory, 1909-15, Hacker art books, New York, 1978, c1968. (ISBN 0-87817-192-4)