คลองบางลำพู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองบางลำพู

คลองบางลำพู เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุงทางตอนเหนือ โดยเป็นคลองขุดขนาดกว้างและลึกพอสมควรที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองมหานาค ด้วยเหตุนี้คลองบางลำพูในอดีตจึงมีเรือจำนวนมากล่องมาค้าขายและจอดเรียงรายอยู่ริมคลอง

ด้วยความที่ภูมิสถานของคลองมีต้นลำพูอยู่มาก ยามค่ำคืนก็มีหิ่งห้อยมาเกาะตามต้นลำพูส่องแสงระยิบระยับจึงเรียกชื่อบางดังกล่าวว่า "บางลำพู" ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการขุดลอกคลองเพื่อขยายพระนครในปี พ.ศ. 2326 เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดสังเวชวิศยารามวรวิหารไปจรดคลองมหานาค จึงเรียกชื่อคลองตามชื่อบางว่า "คลองบางลำพู"[1]

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คลองบางลำพูเคยเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารครอบพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2394 หลังจากนั้นเป็นต้นมา บางลำพูก็มีความเจริญเพิ่มขึ้นโดยลำดับ มีผู้คนเข้ามาตั้งบ้านเรือนริมคลอง ด้วยอาศัยคลองเป็นเส้นทางคมนาคมและทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นแหล่งค้าขายสินค้าจำพวกผลหมากรากไม้และเรือต่าง ๆ เช่น เรือประทุน หรือเรือสำปั้น เป็นต้น[1] เมื่อล่วงเข้ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตัดถนนและสะพานแทนการคมนาคมด้วยคลองบางลำพู ทำให้เกิดความเจริญและมีตลาดร้านรวงมากมาย[2]

ในยุคหลังคลองบางลำพูมีปัญหาด้านมลพิษ อนุชนรุ่นหลังจึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์คลองไว้ เช่น การปรับสภาพน้ำ และภูมิทัศน์ริมคลอง จนได้รับการพิจารณาจากผังเมืองกรุงเทพมหานครให้เป็น "คลองต้นแบบการพัฒนา"[3]

คลองรามบุตรี[แก้]

มีคลองขนาดเล็กสายหนึ่งใกล้กับคลองบางลำพูเชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยาเลาะข้างวัดชนะสงครามออกไปทางวัดบวรนิเวศวิหาร ปัจจุบันคลองดังกล่าวถูกถมเป็นถนนรามบุตรีบางคนจึงเรียกอดีตคลองดังกล่าวว่า "คลองถม"[1]

ส่วนที่เรียกชื่อว่า "รามบุตรี" ก็เนื่องจากหม่อมเจ้าหญิงเป้า สุริยกุล พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยา กรมพระรามอิศเรศ ทรงสร้างสะพานข้ามคลองไว้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานชื่อสะพานนั้นว่า "สะพานรามบุตรี" และทำพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 ครั้นเมื่อมีการถมคลองจึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อถนนรามบุตรีแทน[4][5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ปราณี กล่ำส้ม. ย่านเก่าในกรุงเทพฯ [เล่ม ๑]. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ. 2549, หน้า 85-87
  2. อภิญญา นนท์นาท. "วันวานที่ย่านบางลำพู". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา "ร่วมใจฟื้นคืนชีวิตคลองบางลำพู"". สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. ปราณี กล่ำส้ม. ย่านเก่าในกรุงเทพฯ [เล่ม ๑]. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ. 2549, หน้า 97-99
  5. "บางลำพู" (PDF). โรงเรียนวัดชนะสงคราม. สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)