ผลต่างระหว่างรุ่นของ "เงาะ"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Pawyilee (คุย | ส่วนร่วม)
Pawyilee (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 81: บรรทัด 81:
{{รายการอ้างอิง}}
{{รายการอ้างอิง}}
== อื่น ๆ ==
== อื่น ๆ ==
[[สังข์ทอง]]
[[ซาไก]]


[[หมวดหมู่:ผลไม้]]
[[หมวดหมู่:ผลไม้]]

รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:07, 29 เมษายน 2556

เงาะ
ลูกเงาะ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Sapindaceae
สกุล: Nephelium
สปีชีส์: N.  lappaceum
ชื่อทวินาม
Nephelium lappaceum
L.

เงาะ (อังกฤษ: Rambutan; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nephelium lappaceum Linn.) เป็นไม้ผลเมืองร้อน มีถิ่น กำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยทั่วไปเงาะ เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้ดี ในบริเวณที่มีความชื้นค่อนข้างสูง เงาะในประเทศไทย จึงนิยมปลูกในบริเวณภาค ตะวันออกและภาคใต้ อาทิ พันธุ์สีทอง พันธุ์น้ำตาลกรวด พันธุ์สีชมพู พันธุ์โรงเรียน และพันธุ์เจ๊ะมง เป็นต้น แต่ พันธุ์เงาะที่นิยมปลูกเป็นการค้า มีแค่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์โรงเรียน พันธุ์สีทอง และพันธุ์สีชมพู ส่วนพันธุ์อื่นๆ จะมีปลูก กันบ้างประปรายและโดยมากมักใช้เพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือใช้ประโยชน์ เพื่อการศึกษาทางวิชาการ[1] ในอดีตประ เทศที่ผลิตและส่งออกรายใหญ่ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันพบว่าประเทศผู้ผลิตใหม่ เช่น ออสเตรเลีย และฮอนดูรัส ได้เข้ามามีส่วนแบ่งในตลาด[2]เพิ่มมากขึ้น


ลักษณะทั่วไป

เงาะเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ชอบอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสม อยู่ในช่วง 25 – 30° C ความชื้นสัมพัทธ์สูงประมาณ 75 – 85 % ดินปลูกที่เหมาะสมควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (ค่า pH) ของดินประมาณ 5.5 – 6.5 และที่สำคัญควรเลือกแหล่งปลูกที่มีน้ำเพียงพอตลอดปี เงาะเป็นไม้ผลที่มีระบบรากหาอาหารลึกประมาณ 60 – 90 เซนติเมตรจากผิวดินจึงต้องการสภาพแล้งก่อนออกดอกติดต่อกัน ประมาณ 21 – 30 วัน เมื่อต้นเงาะผ่านสภาพแล้งและมีการจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเงาะจะออกดอก ช่วงพัฒนาการของดอก (ผลิตดอก – ดอกแรกเริ่มบาน) ประมาณ 10 – 12 วัน ดอกเงาะจะทยอยบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ ใช้เวลาประมาณ 25 – 30 วัน จึงจะบานหมดช่อ อกเงาะมี 2 ชนิด คือ ดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ ต้นที่มีดอกตัวผู้จะไม่ติดผล ส่วนต้นที่มีดอกสมบูรณ์เพศนั้นเกสรตัวผู้ไม่ค่อยแข็งแรง ต้องปลูกต้นตัวผู้แซมในสวนเพื่อเพิ่มละอองเกสรหรือฉีดพ่นฮอร์โมนพืชเพื่อช่วยให้เกสรตัวผู้แข็งแรงขึ้น[3]

เงาะโรงเรียน

ส่วนชื่อ เงาะโรงเรียน มีประวัติกันเล่าว่า ประมาณปี พ.ศ. 2468 มีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ชื่อนายเค วอง มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองปีนัง เดินทางเข้ามาประเทศไทยทำเหมืองแร่ดีบุกที่ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำเมล็ดเงาะมาปลูกในบริเวณบ้านพักของตนเอง ปรากฏว่ามีเงาะต้นหนึ่งออกผลต่างไปจากต้นอื่นๆ มีรูปผลค่อนข้างกลมเนื้อกรอบ หวาน หอม เปลือกบาง

ต่มาพ.ศ. 2497 นายเค วอง เลิกกิจการเหมืองแร่และขายที่ดินพร้อมบ้านให้แก่กระทรวงธรรมการในขณะนั้น (กระทรวงศึกษาธิการ) และปรับปรุงใช้เป็นสถานที่เรียนเรียกว่า โรงเรียนนาสาร ส่วนเงาะที่นายเค วอง ปลูกไว้ก็ได้ขยายพันธุ์ออกไปสู่ประชาชนทั่วไปโดยใช้ต้นพันธุ์เดิม จึงเรียกกันว่าเงาะโรงเรียน

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายชัช อุตตมางกูร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายผลเงาะโรงเรียนและขอพระราชทาน ชื่อพันธุ์เงาะใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสว่า "เงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว" นับแต่นั้นมาเงาะพันธุ์นี้จึงได้เรียกว่า "เงาะโรงเรียน" อย่างเป็นทางการ [4]

ประโยชน์

เงาะมีสารที่มีชื่อว่า แทนนิน ซึงแทนนินนี้สามารถใช้ฟอกหนัง ย้อมผ้า บำบัดน้ำเสีย ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ป้องกันแมลง ทำเป็นปุ๋ย ทำเป็นกาว และทำยารักษาโรค แต่มีโทษคือ แทนนินมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในกระเพาะอาหาร หากกินเข้าไปมากจะทำให้รู้สึกท้องอืด หรือท้องผูก มีอาการเหมือนกับการดื่มน้ำชา

การปลูก

วิธีการปลูก

ทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูกซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก วิธีนี้ดินในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น และสามารถปลูกโดยวิธีไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก) เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีการนี้ระบายน้ำดีน้ำไม่ขังโคนต้น แต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก ซึ่งต้นเงาะจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูก คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่ถ้าจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก


ระยะปลูก

จำนวนการปลูกประมาณ 25 - 40 ต้นต่อไร ในระยะปลูก 6 – 8 X 6 – 8 เมตร ถ้าใช้ระยะปลูกชิด 6 X 6 เมตร จะตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มอย่างใกล้ชิดไม่ให้ทรงพุ่มชนและบังแสงกัน สำหรับสวนที่ใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงาน ควรเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงาน แต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น ปลูกในเดือนเมษายน

การดูแลรักษา

ให้น้ำสม่ำเสมอช่วงเจริญทางใบ งดน้ำช่วงปลายฝน ต้นเงาะที่มีใบแก่และสมบูรณ์ทั้งต้นและผ่านสภาพแล้งติดต่อกันนาน 21 – 30 วัน จะแสดงอาการขาดน้ำ (ใบห่อ) ให้กระตุ้นการออกดอกโดยการให้น้ำในปริมาณมากเต็มที่ จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7 – 10 วัน เมื่อพบว่าตายอดเริ่มพัฒนาเป็นตาดอก ก็เริ่มให้น้ำอีกครั้งปริมาณเท่าเดิมเพื่อเร่งการพัฒนาของตาดอก แต่ถ้าหลังจากให้น้ำครั้งที่ 1 แล้ว พบว่าตา ยอดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลอมเขียว แสดงว่าให้น้ำมากเกินไปตายอดพัฒนาเป็นตาใบแทนที่จะเป็นตาดอก ต้องหยุดน้ำและปล่อยให้เงาะกระทบแล้งอีกครั้งจนเห็นว่าสีเขียวน้ำตาลของตายอดเปลี่ยนเป็นน้ำตาลทองของตาดอก ก็เริ่มให้น้ำในอัตรา ½ ของครั้งแรก จากนั้นเมื่อแทงช่อดอกและติดผลแล้วควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ เพื่อเร่งพัฒนาการของดอก และเร่งพัฒนาการของผลให้ขึ้นลูกได้เร็วและผลโต[5]

คุณค่าทางโภชนาการ

เงาะเป็นผลไม้อีกชนิดที่มีขายกันอยู่ทั่วไป เป็นผลไม้รสหวานและ อมเปรี้ยวรับประทานเงาะสดสามารถแก้อาการท้องร่วงชนิดรุนแรง ได้ผลดี นอกจากนี้ผลเงาะนำมาต้ม นำน้ำที่ได้มาเป็นยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย รักษาอาการอักเสบในช่องปาก และโรคบิดท้องร่วง มีข้อควรระวัง คือเม็ดในของเงาะมีพิษแม้ว่าจะเอาไปคั่วจนสุกแล้ว แต่ถ้ารับประทานมากเกินไปจะมีอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ดังนั้นไม่ควรจะรับประทานเม็ด[6]


ประวัติเงาะสีชมพู

ไฟล์:เงาะสีชมพู.jpg
ผลของเงาะสีชมพู

เงาะสีชมพู มีถิ่นกำเนิดที่บ้านครูกี เมธาวัน ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย มีการเจริญเติบโตดี ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศ ให้ผลดกมีผิวและขนเป็นสีชมพูสด เนื้อหนา ฉ่ำน้ำ บอบช้ำง่าย ไม่ทนทานต่อการขนส่ง

เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ก่อน จังหวัดจันทบุรีแทบจะไม่มีผลไม้พื้นถิ่นของตัวเองเลย แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศเหมาะแก่การทำสวน และอุปนิสัยคนจันทน์ที่ขยัน ช่างสังเกต และชอบการเพาะปลูก เมื่อพบเห็นผลไม้แปลกๆก็มักจะนำเมล็ด กิ่งตอน กลับมาปลูกที่บ้าน ซึ่งเมื่อประมาณกว่า 80 ปีที่ผ่านมา ชาวสวนจันทบุรีหลาย ๆ คน นิยมนำกิ่งตอนและเมล็ดของเงาะบางยี่ขันจากกรุงเทพฯ กลับมาปลูกยังเมืองจันทน์ ที่ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง ก็บังเอิญมีชาวสวนไปพบเงาะต้นหนึ่งที่งอกออกมาจากเมล็ดเงาะบางยี่ขัน เมื่อสังเกตดูก็เห็นว่ามีลักษณะต่างออกไปจากเงาะบางยี่ขัน คือเป็นเงาะที่มีสีชมพูสด สวยงาม เนื้อมีรสหวานกรอบ และร่อนจากเมล็ดดีมาก

ชาวบ้านจึงเรียกเงาะพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์มาจากเงาะบางยี่ขันว่า เงาะพันธุ์หมาจู เนื่องจากว่าเงาะพันธุ์นี้มีขนยาวสวยงามคล้ายหมาจู ซึ่งเงาะพันธุ์หมาจูนี่มีลักษณะแตกต่างไปจากเงาะบางยี่ขันก็คือ เงาะบางยี่ขันเนื้อไม่ร่อน และผลมีสีส้ม ส่วนเงาะพันธุ์หมาจู เนื้อหวาน ร่อน กรอบ และมีผลเป็นสีชมพูเข้ม แลดูสวยงามโดยเฉพาะยามที่ขึ้นดกเต็มต้น จากนั้นมาเงาะพันธุ์หมาจูปลูก ก็ได้มีการปลูกเพิ่มมากขึ้นแพร่หลายไปทั่วจังหวัดจันทบุรี พร้อมกันนี้ชาวสวนก็ได้เรียกชื่อเงาะพันธุ์นี้เสียใหม่ตามลักษณะสีสันของผลเงาะว่า “เงาะพันธุ์สีชมพู” หรือ “เงาะสีชมพู” หรือ “เงาะสี” ในภาษาชาวบ้าน[7]

ประวัติเงาะโรงเรียน

ไฟล์:เงาะสีทอง.jpg
ช่อของเงาะสีทอง เมื่อแก่สีขนอ่อนกว่าเงาะโรงเรียน เปลือกหนากว่า

เงาะโรงเรียน หรือ เงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในโลก เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เงาะโรงเรียน มีชื่อมาจากสถานที่ต้นกำเนิดของเงาะ คือ โรงเรียนนาสาร อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เงาะต้นแม่พันธุ์มีเพียงต้นเดียว ปลูกด้วยเมล็ดเมื่อ พ.ศ. 2469

ผู้ปลูกเงาะต้นแม่พันธุ์นี้ เป็นชาวจีนสัญชาติมาเลเซีย ชื่อ นายเค หว่อง (Mr. K Wong) มีภูมิลำเนาเดิมอยู่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกที่หมู่บ้านเหมืองแกะ ตำบลนาสาร อำเภอนาสาร ตั้งอยู่บนฝั่งคลองฉวาง ตรงข้ามกับที่ตั้งของโรงเรียนนาสารในปัจจุบัน นายเค หว่อง ได้ซื้อที่ดินริมทางรถไฟด้านทิศตะวันตก จำนวน 18 ไร่ สร้างบ้านพักของตนและได้นำเมล็ดพันธุ์เงาะจากปีนัง มาปลูกทางทิศเหนือของบ้านทั้งสิ้น 4 ต้น (ขณะนี้เงาะพันธุ์นี้ที่เมืองปีนังสูญพันธุ์แล้ว) แต่มีเพียงต้นที่สองเท่านั้นที่มีลักษณะพิเศษ เมื่อสุกแล้วรสชาติหวาน หอม เนื้อกรอบ เปลือกบาง เงาะต้นนี้ก็คือ “เงาะพันธุ์โรงเรียน”

พ.ศ. 2479 เมื่อ นายเค หว่อง เลิกกิจการเหมืองแร่กลับเมืองปีนัง ได้ขายที่ดินผืนนี้พร้อมบ้านพักแก่กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ทางราชการจึงปรับปรุงให้เป็นอาคารเรียน และย้ายโรงเรียนนาสารจากวัดนาสารมาอยู่ที่อาคารแห่งนี้ เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 แต่เงาะพันธุ์โรงเรียนก็ไม่ได้แพร่หลาย เนื่องจากการส่งเสริมด้านการเกษตรไม่ดีพอ และทางโรงเรียนสงวนพันธุ์ไว้ ไม่ให้แพร่หลายในระหว่าง พ.ศ. 2489-2489 มีผู้ตอนกิ่งไปขยายพันธุ์ได้เพียง 3-4 รายเท่านั้น สาเหตุที่สงวนพันธุ์น่าจะเนื่องมาจาก กลัว “ต้นแม่พันธุ์” จะตาย ต่อมาปี พ.ศ. 2499 นายคำแหง วิชัยดิษฐ์ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านนาสาร และพิจารณาแล้วว่า เงาะต้นนี้เป็นเงาะพันธุ์ดี ควรให้มีการขยายพันธุ์อย่างแพร่หลาย จึงอนุญาตให้คนทั่วไปตอนกิ่งแพร่พันธุ์ได้[8]

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายชัช อุตตมางกูร ผู้นำชาวสวนเงาะได้ทูลเกล้าฯถวายผลเงาะโรงเรียน และขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะนี้เสียใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ชื่อเงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว" ตั้งแต่นั้นมา เงาะพันธุ์นี้จึงได้ชื่อว่า เงาะโรงเรียน อย่างเป็นทางการ อนึ่ง เพื่อความเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดงาน วันเงาะโรงเรียน ขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคมของทุกปี[9]

ที่จังหวัดตราด มีเงาะที่กลายพันธุ์ไปจากเงาะโรงเรียนเรียกว่าเงาะสีทอง ลักษณะที่ต่างไปคือขนสีอ่อนกว่า เปลือกหนากว่า และมีรสเปรี้ยวมากกว่า


อ้างอิง

  1. อิทธิฤทธิ อึ้งวิเชียร. เงาะ. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
  2. กรมวิชาการเกษตร (2546). เอกสารวิชาการ ศัตรูเงาะ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  3. กรมส่งเสริมการเกษตร. เงาะ. [online]. เข้าถึงได้จาก http://www.doae.go.th/plant/rambutan.htm
  4. เงาะโรงเรียน
  5. http://www.geocities.com/psplant/pomo02
  6. องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. เงาะ [online] เข้าถึงได้จาก http://www.mof.or.th/fruit-ngaw.htm
  7. ผู้จัดการออนไลน์ 15 กรกฎาคม 2547 http://www.manager.co.th/
  8. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. [Online] เข้าถึงได้จาก http://202.142.223.167/th/culture/view.php?ItemID=99&GroupName=S
  9. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. เงาะโรงเรียน. [Online] เข้าถึงได้จาก http://school.obec.go.th/webkrusun/plant/title6/rambut.htm

อื่น ๆ

สังข์ทอง ซาไก