พัน จินเหลียน
พัน จินเหลียน (จีนตัวย่อ: 潘金莲; จีนตัวเต็ม: 潘金蓮; พินอิน: Pān Jīnlián; เวด-ไจลส์: P'an Chin-lien; "ดอกบัวทอง") ตามสำเนียงกลาง หรือ พัวกิมเหลียน ตามสำเนียงฮกเกี้ยน เอกสารไทยบางทีเรียก นางบัวคำ หรือ นางบัวทอง เป็นตัวละครหลักในนวนิยายจีนเรื่อง บุปผาในกุณฑีทอง (金瓶梅) ประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ช่วงราชวงศ์หมิง และเป็นตัวละครรองในนวนิยายจีนเรื่อง ซ้องกั๋ง (宋江) ประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ช่วงราชวงศ์ยฺเหวียน เป็นหนึ่งในตัวร้ายที่มีชื่อเสียงที่สุดในวัฒนธรรมจีน จนกลายเป็นตัวอย่างของแม่ยั่วเมือง (femme fatale)[1] ทั้งกลายเป็นเทพีประจำโสเภณีและโรงโสเภณี[2]
ชื่อ
[แก้]เชื่อกันว่า นามของพัน จินเหลียน นั้นได้รับแรงบันดาลใจจากพัน ยฺวี่หนู (潘玉奴) นางสนมของเซียว เป่าเจฺวี้ยน (蕭寶卷) กษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉีใต้ (南齊) ผู้คลั่งใคล้ฝ่าเท้าของนางซึ่งบีบรัดจนเล็กผิดรูปเหมือนดอกบัว
เรื่อง
[แก้]พัน จินเหลียน เป็นภริยาของอู่ ต้าหลาง (武大郎; "พี่ใหญ่อู่") หรือ บู๊ตัวหนึง ตามสำเนียงฮกเกี้ยน ผู้เป็นพี่ชายของอู่ ซง (武松) หรือ บู๊สง ตามสำเนียงฮกเกี้ยน
พัน จินเหลียน เป็นหญิงสาวรูปโฉมงดงามเป็นหนึ่ง แต่อู่ ต้าหลาง เป็นชายร่างเตี้ยอัปลักษณ์ ทำให้ผู้คนโจษจันว่า เป็นคู่ที่ผิดฝาผิดตัว
พัน จินเหลียน ไม่พอใจในชีวิตสมรส และลักลอบมีความสัมพันธ์กับซีเหมิน ชิ่ง (西門慶) หรือ ไซบุนเข่ง ตามสำเนียงฮกเกี้ยน
วันหนึ่ง อู่ ต้าหลาง จับได้ว่า พัน จินเหลียน คบชู้สู่ชาย นางกับชายชู้จึงช่วยกันฆ่าอู่ ต้าหลาง ด้วยยาพิษ และติดสินบนให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรอำพรางสาเหตุการตาย
อู่ ซง เกิดสงสัยในการตายของพี่ จึงออกสืบสวนด้วยตนเองจนรู้ความจริง
เรื่อง ซ้องกั๋ง ระบุว่า อู่ ซง สังหารพัน จินเหลียน และซีเหมิน ชิ่ง อย่างโหดเหี้ยม โดยมีการพรรณนาการฆ่าจนได้ชื่อว่า เป็นฉากโดดเด่นฉากหนึ่งในวรรณกรรมจีน
ส่วนเรื่อง บุปผาในกุณฑีทอง ว่า พัน จินเหลียน หนีไปสมรสกับซีเหมิน ชิ่ง แต่เมื่อซีเหมิน ชิ่ง เสียชีวิตเพราะการร่วมเพศอย่างหักโหม อู่ ซง จึงตามไปฆ่าพัน จินเหลียน
การดัดแปลง
[แก้]โอวหยาง ยฺหวี่เชี่ยน (歐陽予倩) นำเรื่องของนางไปแต่งเป็นบทละครสมัยใหม่เรื่อง พัน จินเหลียน เมื่อ ค.ศ. 1928 โดยให้นางเป็นหญิงที่เป็นตัวของตัวเองสูง แต่ตกเป็นเหยื่อของระบบสังคมแบบอนุรักษนิยมที่ชายเป็นใหญ่[1] โอวหยาง ยฺหวี่เชี่ยน ยังรับบทพัน จินเหลียน ด้วยตนเอง[3]
เรื่องราวของพัน จินเหลียน ยังเป็นที่นิยมในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ทั้งในจีนและญี่ปุ่น นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา มีภาพยนตร์และละครโทรทัศน์แล้วอย่างน้อย 20 เรื่องที่มีนางเป็นตัวละครหลัก[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Yeh, Wen-Hsin (2000). Becoming Chinese: Passages to Modernity and Beyond. University of California Press. p. 273. ISBN 978-0-520-22218-2.
- ↑ Charles Russell Coulter; Patricia Turner (4 July 2013). Encyclopedia of Ancient Deities. Routledge. p. 371. ISBN 978-1-135-96390-3.
- ↑ "Ouyang Yuqian (1889—1962)" (ภาษาจีน). Ministry of Culture of China. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 6 May 2015.
- ↑ "盘点: 20版潘金莲谁更妩媚" (ภาษาจีน). Sina. สืบค้นเมื่อ 17 July 2013.