ข้ามไปเนื้อหา

พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน
พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน (ค.ศ. 980)
ปีค.ศ. 980
ประเภทประติมากรรมแกะสลักไม้ปิดทองคำเปลว
มิติ74 cm × 27 cm (29 นิ้ว × 11 นิ้ว)
สถานที่มหาวิหารเอ็สเซิน เอ็สเซิน

พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน (อังกฤษ: Golden Madonna of Essen) เป็นประติมากรรมของพระแม่มารีและพระบุตรที่มีแกนที่สลักจากไม้แล้วปิดด้วยทองคำเปลว พระแม่มารีทองแห่งเอสเซินเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติของมหาวิหารเอสเซินที่เดิมเป็นแอบบีเอสเซินในนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลินในเยอรมนี และตั้งแสดงอยู่ในมหาวิหาร

“พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ที่เป็นงานประติมากรรมที่สันนิษฐานกันว่าสร้างราวปี ค.ศ. 980 เป็นประติมากรรมทั้งที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบของพระแม่มารีและพระบุตร และเป็นประติมากรรมลอยตัวที่เก่าแก่ที่สุดของทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ และเป็นงานชิ้นสำคัญที่ยังคงเหลืออยู่จากสมัยออตโตเนียน พระแม่มารีทองแห่งเอสเซินยังคงเป็นประติมากรรมอันเป็นที่สักการะของคริสต์ศาสนิกชนและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพลเมืองของประชากรในภูมิภาครูห์ พระแม่มารีทองเป็นงานชิ้นเดียวที่ยังอยู่ครบทั้งองค์ของลักษณะงานประติมากรรมที่ดูเหมือนจะเป็นงานประติมากรรมที่สร้างกันเป็นสามัญในบรรดาคริสต์ศาสนสถานหรือแอบบีที่มีฐานะดีของคริสต์ศตวรรษที่ 10 ถึง 11 ทางตอนเหนือของยุโรป งานบางชิ้นของงานลักษณะนี้มีขนาดเท่าคนจริง โดยเฉพาะรูปสลักพระเยซูตรึงกางเขน

เวลาที่สร้าง

[แก้]

ประติมากรรมชิ้นนี้สันนิษฐานกันว่าสร้างราวปี ค.ศ. 980 ซึ่งเป็นช่วงเวลาในสมัยของมาทิลดาที่ 2 (ค.ศ. 971–ค.ศ. 1011) พระราชนัดดาในจักรพรรดิออตโตที่ 1 เมื่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่แอบบีเอสเซิน ในสมัยของมาทิลดา, โซเฟียแห่งกันเดิร์สไฮม์เจ้าอาวาสองค์ต่อมา (ค.ศ. 1012–ค.ศ. 1039) และทีโอฟานู (ค.ศ. 1039–ค.ศ. 1058) แอบบีเอสเซินก็ทำการซื้อหางานศิลปะอันมีค่าที่สำคัญที่สุดมาเป็นสมบัติของแอบบี ศิลปินผู้สร้างงานชิ้นนี้ไม่เป็นที่ทราบว่าเป็นใคร แต่โดยทั่วไปสรุปกันว่าสร้างที่โคโลญหรือฮิลเดสไฮม์ ฮิลเดสไฮม์มีพระแม่มารีที่มีอายุน้อยกว่า แต่โคโลญดูเหมือนจะเป็นที่พำนักของศิลปินเพราะลักษณะของผ้าที่ทบบนพระองค์มีลักษณะคล้ายเสื้อผ้าบนตัวแบบบน “กางเขนออตโต-มาทิลดา” ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 982 ซึ่งก็เป็นสมบัติของแอบบีเอสเซินเช่นกัน ที่สร้างโดยช่างทองโคโลญ เพราะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับกางเขนเยโรของมหาวิหารโคโลญ

ลักษณะ

[แก้]
รายละเอียด

พระแม่มารีของประติมากรรมชิ้นนี้ประทับบนม้านั่งโดยมีพระเยซูที่มีขนาดใหญ่กว่าสัดส่วนเล็กน้อยบนพระเพลา พระองค์ทรงทูนิคแขนยาวรัดพระองค์คลุมด้วยผ้าคลุมพาลลาที่โอบรอบพระองค์ขึ้นไปบนพระพาหา บนพระเศียรเป็นผ้าคลุมผมที่ชายอยู่ภายใต้พาลลา ในพระหัตถ์ขวาเป็นลูกโลกที่ทรงชูไว้ด้วยหัวแม่มือและนิ้วสองนิ้ว ขณะที่พระกรซ้ายทรงประคองพระบุตรผู้ทรงเครื่องทรงอย่างพระสันตะปาปา ในอ้อมกรซ้ายของพระเยซูเป็นหนังสือที่ดูเหมือนหน้าปกจะประดับด้วยอัญมณี

ประติมากรรมสูง 74 เซนติเมตร โดยมีฐานกว้าง 27 เซนติเมตร แกนประติมากรรมสลักจากไม้ชิ้นเดียวที่น่าจะเป็นไม้จากต้นพ็อพพลา แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ก่อนหน้านั้นสรุปว่าเป็นไม้จากต้นแพร์, พลัม หรือ ไลม์ ผิวหุ้มด้วยทองคำเปลวทั้งองค์ที่หนาเพียง 0.25 มิลิเมตรที่ยึดด้วยตาปูทองขนาดจิ๋ว ขนาดของแผ่นทองที่ใช้ก็ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่ใช้บนองค์ประติมากรรม ทั้งพระพักตร์ของทั้งพระแม่มารีและพระบุตรใช้ทองเพียงแผ่นเดียว สีพระเนตรเคลือบด้วยคลัวซอนเน พระเนตรของพระแม่มารีลึกลงไปในเบ้าที่แกะไว้ แต่พระเนตรของพระบุตรเพียงแต่ปะทับไว้เฉย ๆ มือของพระบุตรทำด้วยเงินหล่อและเพิ่งมาสร้างต่อเติมในคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระหัตถ์ขวาเดิมสูญหายไป ร่องรอยของการตกแต่งเดิมจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 พบบนลูกโลก, บนขาหลังขวาของม้านั่ง และบนหนังสือ และ บนรัศมี เข็มกลัดรูปอินทรีที่ตรึงเสื้อคลุมของพระแม่มารีเป็นงานที่มาเพิ่มเติมในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เข็มกลัดตรึงภายใต้งานกอธิคมีอายุมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14

การอนุรักษ์

[แก้]

“พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ได้รับการบูรณะเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1905 เมื่อมาถึงเวลานั้นแก่นไม้ก็พรุนไปด้วยรูไชของหนอนไม้และแทบจะทำให้งานประติมากรรมทรุดฮวบลงมา นักอนุรักษ์จึงทำการหล่ออย่างระมัดระวังในแม่พิมพ์พลาสเตอร์, พ่นรูพรุนเพื่อกำจัดผงที่เกิดจากการไชชอนของหนอน, ชุ่มด้วยยาฆ่าแมลง และอุดด้วยส่วนผสมที่เป็นกาว, ชอล์ค และ น้ำ กระบวนการเป็นไปอย่างละเอียดละออเพื่อให้เข้าถึงทุกซอกทุกมุมเท่าที่จะเข้าถึงได้ จากนั้นก็อุดรูบนผิวของเนื้อไม้ด้วยตาปูที่ทำด้วยไม้โอ้ค การบูรณะเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,200 มาร์คทองที่ส่วนหนึ่งจ่ายโดยรัฐปรัสเซีย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง “พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ได้รับความเสียหายจากการพยายามรีบขนย้ายหนี ที่ทำให้แผ่นทองหลายแผ่นหลุดจากผิด ซึ่งทำให้หนอนไม้เข้าไปทำการไชชอนได้อีกครั้ง การบูรณะครั้งที่สองทำโดยคลาสเซินช่างทองชาวเอสเซิน ผู้รมประติมากรรมด้วยยาฆ่าแมลงและอุดรูด้วย “ไม้เหลว” (liquid wood) หรือพลาสติกที่ใช้กันโดยทั่วไปในการซ่อมอนุรักษ์งานไม้

การบูรณะครั้งล่าสุดทำเมื่อปี ค.ศ. 2004 ภายในมหาวิหาร โดยมีการตั้งห้องอนุรักษ์ภายในสังฆทรัพยคูหา เพื่อตรวจสภาพของประติมากรรมโดยการฉายรังสีเอกซ์และการส่องกล้องเพื่อตรวจสอบช่องหรือรูภายในประติมากรรม นอกจากนั้นก็ได้นำตัวอย่างไม้ และ สิ่งสกปรกที่เกาะไปทำการวิจัยทางเคมี ผู้เชี่ยวชายให้คำแนะนำว่างานประติมากรรมควรจะรักษาไว้ในสถานที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและไม่ควรจะเป็นบริเวณที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ นักอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ไม้ริอา เริททิงเกอร์ และ มิคาเอลา ฟอน เวลคทำการซ่อมส่วนที่เป็นม้านั่ง และ ช่างเงินปีเตอร์ โบลจ์ทำการขัดผิวที่เป็นโลหะ และ พระหัตถ์ขวาที่ทำด้วยเงินของพระบุตรที่ดำลงไปให้วาววามขึ้น

ประวัติ

[แก้]

บันทึกจากยุคกลาง

[แก้]
ด้านหน้าด้านตะวันตกของมหาวิหารเอสเซิน

เมื่อใดหรือผู้ใดที่จ้างหรืออุทิศทรัพย์ในการสร้างประติมากรรมชิ้นนี้นั้นไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด และหลักฐานตามลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงก็แทบจะหาไม่ได้ในช่วงสองร้อยปีแรกที่สร้างขึ้น แต่ที่ทราบแน่คือเป็นงานที่ตกมาเป็นสมบัติของแอบบีในปี ค.ศ. 993 เมื่อจักรพรรดิออตโตที่ 3 เสด็จประพาสแอบบีและพระราชทานมงกุฎ ที่เรียกว่า “มงกุฎยุวกษัตริย์” ที่ยังคงเป็นของมหาวิหารมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ตั้งแต่เมื่อมีการกล่าวถึงพระแม่มารีทองเป็นครั้งแรกก็กล่าวถึงว่าได้รับการรักษาไว้ระหว่างการสงคราม ความความขัดแย้งระหว่างสังฆมณฑลโคโลญและลอร์ดแห่งอิเซนแบร์กเกี่ยวกับผู้ใดควรจะมีอำนาจปกครองแอบบีเอสเซินเป็นผลให้อัครสังฆราชเองเกิลแบร์ตที่ 2 แห่งแบร์กถูกฆาตกรรมโดยฟรีดริชแห่งอิเซนแบร์กในปี ค.ศ. 1225 แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนอย่างใดต่อประติมากรรม หรือไม่แม้แต่ระหว่างกรณีที่ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายร้อยปีที่ว่าเมืองเอสเซินควรจะเป็นราชนครรัฐอิสระหรือควรจะขึ้นต่อแอบบี

ตราอาร์มของเมืองเมืองเอสเซินในปี ค.ศ. 1244 เป็นภาพพระแม่มารีทองขนาบระหว่างนักบุญคอสมาสและดาเมียน เอกสารแรกที่กล่าวถึงพระแม่มารีทองมาจาก “Liber Ordinarius” ของปี ค.ศ. 1370 ที่บรรยายถึงพิธีและการแห่พระรูปอย่างละเอียด คำบรรยายที่กล่าวว่าแคนนอนรับพระแม่มารีทองจากมือของเหรัญญิกเพื่อนำไปแห่เนื่องในโอกาส “วันสมโภชน์ความบริสุทธิ์ของพระแม่มารี” (Purification of the Virgin) ทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระแม่มารีทองได้รับการนำออกมาแสดงต่อสาธารณชนเพียงปีละครั้ง นอกจากนั้นไปแล้วก็เก็บรักษาไว้จากสายตาประชาชน สถานที่เก็บก็สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นด้านหน้าด้านตะวันตกที่มีลักษณะเหมือนป้อมปราการของมหาวิหารเอสเซิน หรือที่ “armarium dictum sychter” ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อเติมจากทางเดินกลางตอนใต้

ประติมากรรมเพิ่งมาถูกเรียกว่า “พระแม่มารีทอง” ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หนังสือศาสนาที่เขียนราวปี ค.ศ. 1370 เพียงแต่บรรยายว่าเป็น “dat gulden bild onser vrouwen” (ไทย: ประติมากรรมทองของพระแม่มารี) การสำรวจทรัพย์สินของแอบบีในปี ค.ศ. 1626 บันทึกว่าเป็น “Noch ein gross Marienbelt, sitzend uff einen sthuell mit lauteren golt uberzogen” (ไทย: ประติมากรรมพระแม่มารีอีกชิ้นหนึ่ง ที่ประทับบนม้านั่งและหุ้มด้วยทองคำแท้)

การย้ายพระรูปหนีภัยและสมัยใหม่ตอนต้น

[แก้]

สงครามสามสิบปีทำให้มีความจำเป็นต้องทำการย้ายพระแม่มารีทองไปซ่อน ในปี ค.ศ. 1634 มาเรีย คลารา ฟอน สเปาร์ พฟลอม และ วาเลอร์เจ้าอาวาสของแอบบีนำหนีไปยังโคโลญพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ของแอบบี พระแม่มารีทองจึงอยู่ที่โคโลญจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1648 ในช่วงเวลานั้นพระแม่มารีทองก็ได้รับการนำเข้าขบวนแห่ในโคโลญ และเป็นงานชิ้นที่เด่นกว่าสมบัติใดของโคโลญ ตามคำกล่าวอ้างของทางแอบบิเอสเซิน

การย้ายพระรูปหนีภัยครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1794 ก่อนที่กองทัพของฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศสจะคืบหน้าเข้ามา ครั้งนี้นำไปซ่อนไว้ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าใกล้เมืองชตีลเลอ แอบบีเอสเซินถูกยุบในปี ค.ศ. 1803 หลังจากการปฏิรูปดินแดนในเยอรมนี พระแม่มารีทองจึงตกไปเป็นของวัดเซนต์โยฮันน์ซึ่งเป็นวัดประจำท้องถิ่นที่ใช้ตัวแอบบีเดิมเป็นวัด ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประติมากรรมก็ถูกล็อกรักษาไว้ในสังฆทรัพยคูหาและแทบจะไม่ได้รับการตรวจหรือศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์

คริสต์ศตวรรษที่ 20

[แก้]

พระแม่มารีทองอยู่ที่เอสเซินตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ถูกย้ายหนีอีก หลังจากการปฏิวัติโดยคอมมิวนิสต์ในบริเวณรูห์ในฤดูร้อนของปี 1920 แล้วเจ้าหน้าที่ของวัดเซนต์โยฮันน์ก็กลัวว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้นอีก จึงได้ตัดสินใจหาทางซ่อนพระแม่มารีทองในที่ที่ปลอดภัยและต้องไม่เป็นที่ทราบโดยนักบวชเองด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการยักยอกหรืออื่น ๆ เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้ช่างทองจากอาเคินให้หาที่ให้ ช่างทองทำการตกลงกับสังฆมณฑลอีกแห่งหนึ่งว่าจะทำการซ่อนพระแม่มารีทองและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เคยเป็นของแอบบีเอสเซินในสถานที่ที่ตนเองและผู้ได้รับมอบหมายเท่านั้นที่จะทราบ แม้แต่พระสังฆราชก็ทราบเพียงแต่แผนการคร่าว ๆ และไม่ทราบสถานที่แท้จริงที่จะทำการซ่อน เอกสารบรรยายรายละเอียดของที่ซ่อนนำไปฝากไว้ที่สังฆมณฑลดัตช์ในกรณีที่คนกลางถูกสังหาร แผนการดังกล่าวเป็นแผนที่รัดกุมเป็นอันมากจนกระทั่งแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่ทราบว่าที่ซ่อนในช่วงนั้นคือที่ใด แต่ที่ทราบคือได้รับการบรรจุในกระเป๋าเดินทางกระดาษเก่า ๆ และถูกนำไปยังสถานที่ที่ตั้งอยู่ในสังฆมณฑลฮิลเดสไฮม์ เอกสารบรรยายรายละเอียดของที่ซ่อนไว้ที่สังฆมณฑลดัตช์ก็ได้รับการทำลายหลังจากที่ได้นำพระรูปกลับมายังเอสเซินโดยปลอดภัยในปี ค.ศ. 1925 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง เมื่อนำกลับช่างทองและบุตรชายก็ไปนำพระรูปจากที่ซ่อน นั่งรถไฟชั้นสี่และถือพระรูปที่อยู่ในกระเป๋าถือธรรมดา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรัพย์สินของเอสเซินถูกนำไปซ่อนที่วอร์ชไตน์ก่อน ต่อมาที่ปราสาทอัลเบร็คท์สบวร์กในแซกโซนี และในที่สุดก็ถูกนำไปซ่อนไว้ในหลุมหลบภัยทางอากาศที่ซีก จนกระทั่งมาพบโดยทหารอเมริกันเมื่อปลายสงคราม ในเมื่อสังฆทรัพยคูหาที่เอสเซินถูกทำลายโดยลูกระเบิดระหว่างสงคราม พระแม่มารีทองจึงมิได้รับการนำกลับจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1950 ก่อนที่จะนำกลับก็ถูกนำไปตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐแห่งเฮสเซียนที่มาร์บวร์ก ต่อมาที่ปราสาทดิคใกล้เรย์ดท ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1949 ก็ตั้งแสดงอยู่ในงานแสดงศิลปะที่บรัสเซลส์ ต่อมาจนกระทั่งเดือนตุลาคมที่อัมสเตอร์ดัม และในที่สุดก็กลับมายังเอสเซิน จนกระทั่งการก่อสร้างมหาวิหารเอสเซินเสร็จ พระแม่มารีทองก็ได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องนิรภัยของธนาคารที่เอสเซิน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาพระแม่มารีทองก็ประทับอยู่ที่เอสเซินตลอดมา

ประติมานวิทยา

[แก้]

อิทธิพล

[แก้]

พระแม่มารีทองเป็นทั้งงานประติมากรรมทั้งที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบของพระแม่มารีและพระบุตร และเป็นประติมากรรมลอยตัวที่เก่าแก่ที่สุดของทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ และเป็นงานหนึ่งในสองชิ้นของงานปิดทองของรูปลักษณ์ของลัทธินิยมของยุคกลาง งานปิดทองหรือหุ้มทองมักจะกล่าวถึงในเอกสารของยุคกลาง และนอกไปจากรูปของนักบุญฟิเดสที่แอบบีที่ Conques en Rouergue ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสแล้ว ก็ไม่มีงานอื่นใดที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็น (พระแม่มารีฮิลเดสไฮม์ถูกลอกแผ่นทองที่ครั้งหนึ่งเคยมีหุ้มออก) และเป็นที่ทราบกันว่าจักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงมีกางเขนที่มีพระรูปของพระเยซูขนาดเท่าคนจริงที่ทำด้วยทองที่ชาเปลพาเลไทน์แห่งอาเคิน ที่เป็นงานประเภทเดียวกันชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนั้นก็ยังมีพระรูปอื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่าที่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ที่ได้รับการบันทึกไว้ในคริสต์ศาสนสถานแองโกล-แซ็กซอนและอื่น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นประติมากรรมพระเยซูตรึงกางเขนที่บางครั้งก็จะขนาบด้วยพระแม่มารีและนักบุญจอห์น เช่นงานที่สร้างโดยสเปียร์ฮาฟ็อคในคริสต์ศตวรรษที่ 11

การที่ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นปฏิมากรรมลอยตัวและมีตาเคลือบทำให้เห็นว่าเป็นงานที่มีอิทธิพลจากศิลปะไบแซนไทน์ที่เริ่มเผยแพร่เข้ามาในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หลังการอภิเศกสมรสของจักรพรรดิออตโตที่ 2 กับธีโอฟานูผู้เป็นเจ้าหญิงไบแซนไทน์ในปี ค.ศ. 972 แม้ว่างานประติมากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้จะมิใช่งานแบบประเพณีนิยมไบแซนไทน์หลังจากสมัยที่เกิดการทำลายรูปเคารพสมัยไบแซนไทน์ขึ้น ลักษณะโดยทั่วไปบ่งให้เห็นว่าประติมากรผู้สร้างงานไม่มีความชำนาญในการแกะสลักปฏิมากรรมลอยตัว เพราะด้านหน้าและหลังดูไม่มีความสมมาตรต่อกัน

ความสำคัญทางศาสนาและการเมือง

[แก้]

งานประติมากรรมพระแม่มารีทองแห่งเอสเซินก็เช่นเดียวกับงานศิลปะยุคกลางอื่น ๆ ที่เป็นงานที่เต็มไปด้วยลักษณะอันซับซ้อนของสามัญสัญลักษณ์ต่าง ๆ พระแม่มารีทรงพระภูษาแบบที่เรียบง่ายขณะที่พระเยซูผู้มีพระวรกายที่ใหญ่กว่าที่ควรบนพระเพลาทรงพระภูษาแบบพระสันตะปาปาอันมีค่า ขนาดเป็นการแสดงถึงความสำคัญของพระเยซูผู้ทรงเป็นผู้มาไถ่บาป ในทางตรงกันข้ามพระแม่มารีทรงเป็นเพียงผู้ดำเนินตามรอยพระบาทตามที่บันทึกในพระวรสารนักบุญลูค 1:38: “ส่วนมารีย์จึงทูลว่า "ดูเถิด ข้าพเจ้าเป็นหญิงคนใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามคำของท่านเถิด" แล้วทูตสวรรค์นั้นจึงจากเธอไป”[1] แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ประทับบนบัลลังก์แห่งปัญญาเช่นบัลลังก์โซโลมอนที่บรรยายใน1 พงศ์กษัตริย์ 10:18: “กษัตริย์ทรงกระทำพระที่นั่งงาช้างขนาด ใหญ่ด้วย และทรงบุด้วยทองคำอย่างงามที่สุด”[2] บนพระเพลาเป็นพระบุตรผู้ทรงพระภูษาที่แสดงความเป็นประมุขคนสำคัญของสวรรค์ หนังสือในพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธา เมื่อพิจารณากันว่าพระเยซูในยุคกลางจะแสดงเป็นสัญลักษณ์ของผู้สอน ฉะนั้นพระกรขวาที่หายไปก็อาจจะเป็นพระกรที่อยู่ในท่าประทานพร แต่พระพักตร์ของพระเยซูหันไปทางพระแม่มารี แต่สายพระเนตรของพระแม่มารีมองไปทางผู้ชื่นชม ฉะนั้นพระแม่มารีจึงไม่เป็นแต่เพียงผู้ตามที่ไม่มีบทบาท แต่ทรงเป็นเหมือนผู้ประสานระหว่างผู้ศรัทธาและพระมหาไถ่

ความหมายของลูกโลกในพระหัตถ์ขวาของพระแม่มารีตีความกันไปได้หลายอย่าง ที่อาจจะเป็นนัยยะถึง “ลูกโลกประดับกางเขน” ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ “ลูกโลกประดับกางเขน” มิได้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์จนกระทั่งเมื่อมาถึงการบรมราชาภิเษกของจักรพรรดิคอนราดที่ 2 ในปี ค.ศ. 1024 และการแสดงการถือ “ลูกโลกประดับกางเขน” ก็มักจะถือทั้งมือมิใช่เพียงสามนิ้วตามที่ปรากฏในประติมากรรมชิ้นนี้ ฉะนั้นลูกโลกจึงควรจะเป็น “แอปเปิลแห่งการไถ่บาป” — ทำนองเดียวกับที่อีฟถือแอปเปิลแห่งความชั่วร้ายที่เก็บมาจากต้นไม้แห่งความรู้แห่งความดีและความชั่ว ฉะนั้นพระแม่มารีจึงเชื่อกันว่าทรงเป็นผู้ถือผลแอปเปิลที่เป็นสัญลักษณ์ของการมาแก้บาป โดยการมากำเนิดของพระเยซู พระแม่มารีจึงถือว่าเป็นอีฟของพันธสัญญาใหม่

อีกความหมายหนึ่งของลูกกลมใกล้เคียงกับทฤษฎี “ลูกโลกประดับกางเขน” แม้ว่าจะยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จนอีกร้อยปีต่อมา แต่ความคิดที่ว่าลูกกลมเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือโลกเป็นความคิดที่เป็นที่เข้าใจกันแล้วในสมัยที่สร้างงานประติมากรรม การใช้สัญลักษณ์ของอำนาจปรากฏในหนังสือวิจิตรคาโรแล็งเชียงและออตโตเนียน ถ้าว่ากันตามทฤษฎีนี้แล้วพระแม่มารีก็จะเป็นผู้ถือโลกทั้งโลกในอุ้งพระหัตถ์ ในนามของผู้มีอำนาจที่แท้จริงบนพระพระเพลาของพระองค์ — พระบุตร

ภาพพจน์ของมารดาถือสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือโลกสำหรับบุตรชายอาจจะเป็นนัยยะของความหมายทางการเมืองที่กว้างไกลในช่วงเวลาที่สร้างงานศิลปะ จักรพรรดิออตโตที่ 2 พระปิตุลาของมาทิลดาเจ้าอาวาสแห่งแอบบีเอสเซินเสด็จสวรรคตในกรุงโรมในปี ค.ศ. 983 ทิ้งราชบัลลังก์ไว้ให้แก่ออตโตพระราชโอรสพระองค์เดียวที่ทรงมีผู้มีพระชนมายุเพียงสามพรรษา พระราชมารดาธีโอฟานูจึงทรงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แก่พระราชโอรสผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิออตโตที่ 3 จนเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 991 เมื่อทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ธีโอฟานูก็ทรงพยายามป้องกันสิทธิของพระราชโอรสจากการอ้างของเฮนรีที่ 2 ดยุคแห่งบาวาเรีย ฉะนั้นพระแม่มารีทองจึงอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการแสดงถึงการกระทำของธีโอฟานู “โดยอำนาจของพระเจ้า” ในการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของพระราชโอรสผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมในการปกครองจักรวรรดิ จนเมื่อพระราชโอรสจะทรงบรรลุนิติภาวะ และอาจจะเป็นการอนุมานได้ว่าธีโอฟานูทรงอุทิศประติมากรรมชิ้นนี้ให้แก่แอบบี ในการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจ มาทิดาคงจะเข้าข้างจักรพรรดิออตโตที่ 3 และธีโอฟานู ตระกูลของมาทิลดามีประวัติว่าเป็นคู่อริของเฮนรีมาเป็นเวลานาน และมาทิลดาเองก็เป็นทายาทส่วนตัวของพี่ชายออตโตที่ 1 ดยุคแห่งบาวาเรีย ผู้ที่ในปี ค.ศ. 976 ได้รับอาณาจักรดยุคแห่งบาวาเรียหลังจากการปฏิวัติของเฮนรี อีกประการหนึ่งก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เมื่อจักรพรรดิออตโตที่ 3 เสด็จมาประพาสแอบบีในปี ค.ศ. 993 พระองค์ก็และพระราชทาน “มงกุฎยุวกษัตริย์” ให้แก่แอบบีเพื่อเป็นการแสดงถึงความขอบพระทัยต่อการสนับสนุนของแอบบีเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็เป็นได้

อ้างอิง

[แก้]
  • Falk, Brigitta. “„ein Mutter gottesbild mit gold plattirt“ – Zum Erhaltungszustand der Goldenen Madonna des Essener Doms.” Alfred Pothmann – Hüter und Bewahrer – Forscher und Erzähler - Gedenkschrift. Essen 2003, ISBN 3-00-012328-8
  • Fehrenbach, Frank. Die goldene Madonna im Essener Münster. edition tertius, Ostfildern 1996, ISBN 3-930717-23-9
  • Gerchow, Jan. “Der Schatz des Essener Frauenstifts bis zum 15. Jahrhundert. Zur Geschichte der Institution.” Alfred Pothmann – Hüter und Bewahrer – Forscher und Erzähler – Gedenkschrift. Essen 2003, ISBN 3-00-012328-8
  • Hlawitschka, Eduard. “Kaiserinnen Adelheit und Theophanu.” Frauen des Mittelalters in Lebensbildern. Styria Verlag, Graz 1997.
  • Humann, Georg. Die Kunstwerke der Münsterkirche zu Essen. Düsseldorf 1904.
  • Konnegen, Lydia. “Verborgene Schätze. Der Essener Münsterschatz in Zeiten des Ruhrkampfes.” Münster am Hellweg. Mitteilungsblatt d. Vereins für die Erhaltung des Essener Münsters. Essen 2005, S. 67ff.
  • Leonard Küppers, Paul Mikat: Der Essener Münsterschatz. Fredebeul & Koenen, Essen 1966.
  • Pothmann, Alfred. “Der Essener Kirchenschatz aus der Frühzeit der Stiftsgeschichte.” Herrschaft, Bildung und Gebet – Gründung und Anfänge des Frauenstifts Essen. Klartext, Essen 2000, ISBN 3-88474-907-2

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน