ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 เอากุสตุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 เอากุสตุส
พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 ในฉลองพระองค์สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษก วาดโดย มาเซลโล บัตซาเรลลี ปัจจุบันจัดแสดงที่ปราสาทกลูโฉว
พระมหากษัตริย์แห่งโปแลนด์
แกรนด์ดยุกแห่งลิทัวเนีย
ครองราชย์7 กันยายน ค.ศ. 1764 – 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1795
ราชาภิเษก25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1764
อาสนวิหารเซนต์จอห์น วอร์ซอ
ก่อนหน้าพระเจ้าออกัสตัสที่ 3
ถัดไประบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง
(การแบ่งโปแลนด์)
พระราชสมภพ17 มกราคม ค.ศ. 1732(1732-01-17)
โวสคิน เครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย
สวรรคต12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1798(1798-02-12) (66 ปี)
เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จักรวรรดิรัสเซีย
ฝังพระศพอาสนวิหารเซนต์จอห์น วอร์ซอ
พระราชบุตร
รายละเอียด...
พระราชบุตรนอกสมรส
พระนามเต็ม
สตาญิสวัฟ อันตอญี ปอญาตอฟสกี
ราชวงศ์ปอญาตอฟสกี
พระราชบิดาสตาญิสวัฟ ปอญาตอฟสกี
พระราชมารดากอนสตันต์เซีย คซาทอริสกา
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 เอากุสตุส[a] (พระนามเดิม: สตาญิสวัฟ อันตอญี ปอญาตอฟสกี [b] 17 มกราคม ค.ศ. 1732–12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1798) หรือทรงเป็นที่รู้จักในพระนามภาษาละตินที่ทรงได้รับหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า พระเจ้าสตานีสลุสที่ 2 เอากุสตุส ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปแลนด์ และ แกรนด์ดยุกแห่งลิทัวเนีย ครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1764 จนถึง ค.ศ. 1795 และพระมหากษัตริย์รัชกาลสุดท้ายแห่งเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย

พระเจ้าสตาญิสวัฟที่ 2 ทรงมีพื้นเพมาจากตระกูลขุนนางผู้มีฐานะ ใน ค.ศ. 1755 ขณะมีพระชนม์มายุ 22 พรรษา[1] พระองค์ทรงได้ดำรงตำแหน่งนักการทูตประจำราชสำนักรัสเซีย และทรงมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับแกรนด์ดัชเชสเยกาเจรีนา (ต่อมาคือจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย) ด้วยการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากพระนาง พระองค์จึงได้รับเลือก ให้เป็นพระมหากษัตริย์โปแลนด์ ภายหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าออกัสตัสที่ 3 โดยรัฐสภาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1764[2][3][4]พระองค์ทรงกระทำสิ่งที่เหนือความคาดหมาย กล่าวคือคือทรงพยายามปฏิรูปและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนียที่มีดินแดนกว้างใหญ่แต่อ่อนแอ ความพยายามของพระองค์ก่อให้เกิดการต่อต้านจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างปรัสเซีย รัสเซีย และออสเตรีย ซึ่งพยายามคงความอ่อนแอของเครือจักรภพเอาไว้ พระองค์ยังต้องเผชิญการต่อต้านภายในประเทศจากพวกอนุรักษนิยม ซึ่งเห็นว่าการปฏิรูปของพระองค์เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพที่มีมาแต่ครั้งโบราณและเอกสิทธิ์ ของพวกเขาที่ได้มาตั้งแต่หลายศตวรรษก่อน

ช่วงต้นรัชกาลของพระองค์เป็นที่จดจำจากวิกฤตการณ์สงครามสมาพันธ์บาร์ (ค.ศ. 1768–1772) ซึ่งนำไปสู่การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่หนึ่ง (ค.ศ. 1772) ในช่วงหลังของการครองราชย์สภาเซยม์ใหญ่ (ค.ศ. 1788–1792) ได้กระทำการปฏิรูปหลายประการ รวมไปถึงรัฐธรรมนูญ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1791 การปฏิรูปเหล่านี้ถูกยกเลิกโดยสมาพันธ์ทาร์กอวิตสกาและสงครามกับรัสเซียใน ค.ศ. 1792 อันนำไปสู่การแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สอง (ค.ศ. 1793) การลุกฮือกอชชุชกอ (ค.ศ. 1794) และการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่สาม (ค.ศ. 1795) ถือเป็นจุดจบของเครือจักรภพ พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1795 และใช้เวลาบั่นปลายพระชนม์ชีพในฐานะผู้ถูกจองจำที่พระราชวังหินอ่อนในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

พระองค์ทรงเป็นผู้มีภาพลักษณ์เป็นที่ถกเถียงกันในประวัติศาสตร์โปแลนด์ นัยหนึ่งก็ทรงถูกวิจารณ์จากการที่พระองค์ล้มเหลวในการต่อต้านและหยุดยั้งการแบ่งโปแลนด์ ซึ่งทำให้รัฐโปแลนด์ล่มสลายลง ในอีกด้านหนึ่ง พระองค์ก็ทรงเป็นที่จดจำในฐานะผู้อุปถัมภ์ศิลปะและวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังทรงเป็นผู้วางรากฐานคณะกรรมาธิการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นกระทรวงศึกษาธิการแห่งแรกของโลก และทรงสนับสนุนการสร้างสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ออกเสียง: [staˈɲiswaf drugiˈauɡust]
  2. ออกเสียง: [staˈɲiswaf anˈtɔɲi pɔɲaˈtɔfskʲi]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gribble, Francis (1912). The comedy of Catherine the Great. London. p. 48.
  2. Eversley, 1915, p.39.
  3. The Partitions of Poland by Lord Eversley, London, 1915, pps:35–39.
  4. Bartłomiej Szyndler (2009). Racławice 1794. Bellona Publishing. pp. 64–65. ISBN 9788311116061. สืบค้นเมื่อ 26 September 2014.