พระราชบัญญัติ (ประเทศไทย)
มีข้อสงสัยว่าบทความนี้อาจละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ระบุไม่ได้ชัดเจนเพราะขาดแหล่งที่มา หรืออ้างถึงสิ่งพิมพ์ที่ยังตรวจสอบไม่ได้ หากแสดงได้ว่าบทความนี้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้แทนป้ายนี้ด้วย {{ละเมิดลิขสิทธิ์}} หากคุณมั่นใจว่าบทความนี้ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ ให้แสดงหลักฐานในหน้าอภิปราย โปรดอย่านำป้ายนี้ออกก่อนมีข้อสรุป |
กฎหมายไทย |
---|
รัฐธรรมนูญ |
กฎมณเฑียรบาล |
พระราชบัญญัติ |
พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญ |
พระราชกำหนด |
ประมวลกฎหมาย |
พระราชกฤษฎีกา |
กฎกระทรวง |
บริหารบัญญัติ |
องค์การบัญญัติ |
พระราชบัญญัติ (มีตัวย่อว่า "พ.ร.บ." อังกฤษ: act) เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีรัฐสภาเป็นฝ่ายที่ออกกฎหมายนี้ [1] พระราชบัญญัติถือว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้เป็นชีวิตประจำวัน กำหนดกฎเกณฑ์ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง ถือว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่รัฐได้ตราขึ้นไว้เป็นข้อบังคับกำหนดความประพฤติบุคคล พระราชบัญญัติถือว่าเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบทกฎหมายประเภทอื่นๆ เป็นรองเพียงรัฐธรรมนูญเท่านั้น [2]
การตราพระราชบัญญัตินั้นจะทำได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
คำว่า พระราชบัญญัติ เป็นชื่อเรียกกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้อนุญาต สำหรับประเทศอื่นที่พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้อนุญาต (เช่นประธานาธิบดี) จะเรียกว่า รัฐบัญญัติ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป
ประเภทพระราชบัญญัติ
[แก้]พระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท:[3]
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (Organic Law) ถือว่ามีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป เป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ที่ทำหน้าที่อธิบายขยายความและกำหนดรายละเอียดสาระสำคัญของเรื่องต่างๆ ในรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนและชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับมีบทบัญญัติโทษอย่างชัดเจน [4]
- พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายที่กำหนดกฎเกณฑ์ทั่วไป เป็นข้อบังคับกำหนดความประพฤติของบุคคล
- พระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน (Money Bill) เป็นพระราชบัญญัติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ภาษีอากร เงินตรา การกู้เงิน การค้ำประกัน หรืองบประมาณแผ่นดิน ซึ่งจะต้องใช้กระบวนการในการเสนอและการพิจารณารวมทั้งเงื่อนไขเวลาในการยกขั้นพิจารณาใหม่เมื่อถูกยับยั้ง แตกต่างจากพระราชบัญญัติทั่วไป [5]มากไปกว่านั้น ตามมาตรา 133 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2560 ร่างพระราชบัญญัติการเงินจะเสนอได้ จะต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีด้วย หากมิใช่การเสนอโดยคณะรัฐมนตรี [6]
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 134 วรรค 2 วรรค 3 และ วรรค 4 ได้กำหนดไว้ว่า หากร่างพระราชบัญญัติใดเป็นที่สงสัยว่ามีลักษณะเกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดให้มีการประชุมภายในสิบห้าวัน นับแต่ได้รับเรื่องข้อสงสัยดังกล่าว มติของที่ประชุมตามวรรค 2 ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณการ หากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรออกเสียงอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
การเสนอร่างพระราชบัญญัติทั่วไป
[แก้]ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดไว้ว่า ร่างพระราชบัญญัติจะถูกบังคับใช้ได้เป็นกฎหมายนั้น จะต้องได้รับการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และ จะเสนอได้โดย:
- คณะรัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน ซึ่งเสนอได้เฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
รูปแบบของพระราชบัญญัติ
[แก้]การเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา จะต้องเป็นไปตามรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติ ที่กำหนดไว้ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ [7]
- บันทึกหลักการและเหตุผล เพื่อเป็นการแสดงขอบเขตและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ
- ชื่อร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้ทราบว่าพระราชบัญญัติมีเนื้อหาหรือสาระที่จะใช้บังคับแก่เรื่องใด
- คำปรารภ เพื่อทราบถึงขอบเขตของพระราชบัญญัติ
- บทจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงให้ทราบว่าพระราชบัญญัติมีบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง
- วันใช้บังคับของพระราชบัญญัติ เพื่อระบุถึงสภาพบังคับของกฎหมายว่าจะให้มีผลใช้บังคับเมื่อใด
- บทยกเลิกกฎหมาย เพื่อระบุว่ากฎหมายใดจะไม่ให้มีผลใช้บังคับต่อไป
- บทนิยาม เพื่อกำหนดความหมายของถ้อยคำหรือข้อความในกฎหมาย
- มาตรารักษาการ เพื่อให้มีรัฐมนตรีเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย
- เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ จัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามลำดับความสำคัญเป็นกลุ่ม ๆ โดยมุ่งหมายให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
- บทเฉพาะกาล เพื่อรองรับการดำเนินการใด ๆ หรือผลกระทบบางประการที่เกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ
- บัญชีท้ายพระราชบัญญัติ เพื่อกำหนดรายละเอียดบางประการแทนการกำหนดในเนื้อหาของพระราชบัญญัติ
- ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีบันทึกวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติเสนอมาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติด้วย
กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภา
[แก้][8]ร่างพระราชบัญญัติจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน แล้วจึงค่อยได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎร
[แก้]การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นการพิจารณาเป็น 3 วาระ ตามลำดับดังนี้:
วาระที่ 1 ขั้นตอนรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ
[แก้]การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 1 จะลงมติว่าจะรับหลักการร่างพระราชบัญญัติหรือไม่ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมีหน้าที่ชี้แจงหลักการและเหตุผลการร่างพระราชบัญญัติ เมื่อผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติชี้แจงหลักการและเหตุผลเรียบร้อยแล้ว ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน คัดค้าน หรือตั้งข้อสังเกตุก็ตาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะให้โอกาสผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติในการชี้แจงข้อซักถามหรือข้อสังเกต เมื่อจบการอภิปรายแล้ว ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติจะขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอมติจากที่ประชุมว่าจะรับหลักการนี้หรือไม่ หรือบางกรณี สภาฯ จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ได้
ในกรณีที่ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาลหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอ ให้คณะรัฐมนตรีรับร่างไปพิจารณาก่อนที่สภาฯจะลงมติรับหลักการก่อนก็ได้ เมื่อครบกำหนดเวลา ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะสั่งบรรจุร่างพระราชบัญญัติเข้าระเบียบวาระเพื่อการพิจารณา
หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการ ร่างพระราชบัญญัตินั้นก็ตกไปและจะไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในลักษณะเดียวกันได้อีกในสมัยประชุมนั้นๆ ในทางกลับกัน หากร่างพระราชบัญญัติผ่านวาระที่ 1 จะเข้าสู่วาระที่ 2 ขั้นตอนการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ
วาระที่ 2 ขั้นตอนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการ
[แก้]การพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ สามารถกระทำได้ 2 ลักษณะดังนี้
ลักษณะที่ 1 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยจะต้องได้รับการร้องขอจากคณะรัฐมนตรี หรือ ได้รับการร้องขอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมีจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนและที่ประชุมลงมติเสียงข้างมากอนุมัติให้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหากมติมีมากกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรทุกคนทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น กรรมาธิการลักษณะนี้ มักจะใช้สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่จำเป็นเร่งด่วนหรือร่างพระราชบัญญัติที่ไม่มีรายละเอียดซับซ้อนมากนัก หรือ ไม่ยาวมากเกินไปที่จะพิจารณา โดยเป็นการพิจารณาครั้งเดียวสามวาระ ไม่มีขั้นตอนคำขอแปรญัตติ เป็นการพิจารณาเป็นรายมาตราในชั้นกรรมาธิการและเป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่สองในคราวเดียวกัน
ลักษณะที่ 2 การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการที่สภาแต่งตั้ง อาจจะเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ หรือ คณะกรรมาธิการวิสามัญก็ได้ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการ ชุดนั้นเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติก็ให้เสนอคำขอ “แปรญัตติ” ต่อประธานคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นภายใน 7 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สภารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ เว้นแต่สภาจะได้กำหนดเวลาแปรญัตติสำหรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว จะทำรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการเสนอต่อประธานสภา โดยในรายงานจะแสดงร่างเดิม การแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราใดบ้าง คำแปรญัตติ การสงวนคำแปรญัตติ หรือการสงวนความเห็นของกรรมาธิการ หากกรณีมีข้อสังเกตที่ควรเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ศาล หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ควรทราบหรือควรปฏิบัติก็ให้บันทึกไว้ด้วยเพื่อให้สภาพิจารณา
วาระที่ 3 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ
[แก้]การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 3 จะไม่มีการอภิปรายใดๆทั้งสิ้น และจะแก้ไขข้อความอย่างใดมิได้ โดยที่ประชุมจะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวุฒิสภา
[แก้]การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยวุฒิสภา จะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติจากสภาผู้แทนราษฎร หากร่างพระราชบัญญัติมีลักษณะเกี่ยวข้องกับการเงิน จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้เว้นแต่วุฒิสภาจะมีมติให้ขยายเวลาออกไปเป็นกรณีพิเศษ แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน กำหนดเวลาดังกล่าวให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติมาถึงวุฒิสภา หากวุฒิสภาไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายในเวลากำหนด ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินั้น กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติการเงิน ให้ถือว่าความเห็นต่อลักษณะดังกล่าวของร่างพระราชบัญญัติเป็นที่สุด
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา จะทำในลักษณะเดียวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วย 3 วาระเช่นกัน [8]
ในกรณีที่วุฒิสภาเห็นชอบในวาระที่ 3 เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแต่อย่างใด ให้ถือว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าร่างพระราชบัญญัติถวายแก่พระมหากษัตริย์ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัติจากรัฐสภา เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ร่างพระราชบัญญัตินั้น ถือว่ามีผลบังคับใช้ทางกฎหมายทันที
หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อนและส่งคืนให้แก่สภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ได้เมื่อเวลาผ่านพ้นไป 180 วัน นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นคืน (ยกเว้นถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเกี่ยวข้องกับการเงิน ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ทันที) และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติเดิมด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้ทันที [9]
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ
[แก้]ตามมาตรา 146 รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ.2560 หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแล้ว แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และ พระราชทานร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนมาที่รัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วยังไม่พระราชทานร่างพระราชบัญญัตินั้นคืนมาที่รัฐสภา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามเสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้ง หากพ้นกำหนด 30 แล้ว พระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-02. สืบค้นเมื่อ 2019-08-02.
- ↑ https://www.im2market.com/2018/01/28/4699
- ↑ https://www.im2market.com/2018/01/28/4699
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-06. สืบค้นเมื่อ 2019-08-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-25. สืบค้นเมื่อ 2019-08-02.
- ↑ 6.0 6.1 "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-04-07. สืบค้นเมื่อ 2019-08-02.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2019-08-02.
- ↑ 8.0 8.1 "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2019-08-02.
- ↑ https://www.baanjomyut.com/library_4/politics/11_28.html