พระยาเจือง
ตำนานพระยาเจือง เป็นตำนานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่แพร่หลายในกลุ่มชนชาติไท เช่น ล้านนา สิบสองปันนา เชียงตุง และล้านช้าง เป็นต้น ดูแปลกแตกต่างจากตำนานอื่นที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนาอย่าง ชินกาลมาลีปกรณ์ และไม่ใช่ตำนานการสร้างเมืองแบบ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่[1] แต่มีลักษณะคล้าย ตำนานพระร่วง แต่ไม่น่าเป็นบุคคลเดียวกัน
ตำนานกล่าวถึงพระยาเจืองซึ่งเป็นวีรบุรุษของชนชาติไทแทบทุกกลุ่ม มีการจดบันทึกในลักษณะของชาดกแทรกภาษาบาลีไว้อ่านในที่ประชุมด้วยฉันทลักษณ์ท้องถิ่นภาษานั้น
สำนวน
[แก้]ตำนานพระยาเจืองฉบับล้านนาหรือเรียกว่า นิสัยบาเจือง มีต้นฉบับจารลงใบลานอักษรธรรมล้านนาแต่งเป็นภาษาบาลีสลับกับท้องถิ่น มีลักษณะการแปลยกศัพท์ที่เรียกว่านิสัย ตอนต้นของข้อความระบุว่าผู้แต่งคือ พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้แต่งอ้างว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์วังสมาลินีซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน (อดีตนิทาน ปัจจุบันนิทาน และอนาคตนิทาน) โดยตำนานพระยาเจืองอยู่ในส่วนที่เรียกว่า "อนาคตนิทาน" ฉบับที่อยู่ในหอสมุดแห่งชาติมีชื่อว่า นิสัยบาเจือง ส่วนฉบับที่ปริวรรตโดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและศรีธน คำแปง ใช้ชื่อว่า ตำนานพระยาเจือง
วรรณกรรมสิบสองปันนาปรากฏเป็นตำนานและพงศาวดาร 3 สำนวนและเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะอีก 1 สำนวน ยังพบเรื่องราวของเจ้าแสงต่อซึ่งมีเรื่องราวคล้ายตำนานพระยาเจืองอีก 1 สำนวน วรรณกรรมสิบสองปันนาระบุตรงกันว่าพระยาเจืองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งสิบสองปันนา มีมเหสีชื่อ รัมมณี มีโอรส 4 องค์ ซึ่งมอบหมายให้ครองดินแดนต่าง ๆ
ฉบับเชียงตุงไม่พบตัวละครที่ชื่อเจืองแต่พบว่ามีเรื่อง อ้ายแสงต่อ คล้ายเรื่องราวเจ้าแสงต่อกับเรื่องเจ้าเจืองหาญของสิบสองปันนา ปรากฏใน ตำนานเมืองเชียงตุง
ฉบับล้านช้างพบเป็นลายลักษณ์อักษร 3 ฉบับ แต่งเป็นร้อยกรองสองเรื่อง คือ ท้าวบาเจือง และ ท้าวยี่บาเจือง (หรือ ท้าวฮุ่งท้าวเจือง) พบแต่งเป็นร้อยแก้วหนึ่งเรื่องคือ กิ่งเจืองหาน และวรรณกรรมมุขปาฐะอีกหนึ่งเรื่องคือ ท้าวยี่กับเจืองห้าว ฉบับล้านช้างไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวีรกรรม[2]
บทประพันธ์เรื่อง เจืองหาญ แพร่หลายอยู่ในกลุ่มไทดำในเวียดนาม[3]
เนื้อหา
[แก้]ส่วนใหญ่ระบุพระนามวีรบุรุษเพียงพระนามเดียวคือ เจือง (อาจเขียนแตกต่างกันบ้างเช่น เจียง เจื๋อง และเจิง)
ระยะเวลาประสูติ ตำนานเมืองพะเยา ระบุ พ.ศ. 1584 และ ตำนานพื้นเมืองสิบสองปันนา ระบุ พ.ศ. 1580 ส่วนปีที่สิ้นพระชนม์ ฉบับที่ระบุศักราชไว้น้อยที่สุดคือ ตำนานพื้นเมืองสิบสองปันนา คือ พ.ศ. 1636 และ พงศาวดารลานนา ระบุไว้มากที่สุดคือ พ.ศ. 1748 วรรณกรรมจากล้านนาระบุว่าพระยาเจืองสืบเชื้อสายมาจากลวจักกราช ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองเงินยางเชียงแสน ใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าพญาเจืองเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 19 ของวงศ์กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยาง บางฉบับระบุว่าเป็นบรรพบุรุษของพระเจ้าเม็งราย[4] พงศาวดารเงินยางเชียงแสน ระบุว่า ขุนเจืองเป็นโอรสของขุนจอมธรรม ประสูติที่เชียงรายหรือพะเยาหรือฝาง[5]
ด้านการเป็นวีรบุรุษ เป็นบรรพบุรุษผู้นำแห่งแว่นแคว้น แต่ละที่มีหลากหลายสำนวนกันไป มีเรื่องราวเหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นถึงความเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษ มีความสัมพันธ์กับเทพ มีเหตุการณ์มหัศจรรย์ตอนประสูติซึ่งคงได้รับอิทธิพลจากพุทธประวัติและชาดก[6]
วรรณกรรมจากล้านนาและล้านช้างทุกฉบับกล่าวถึงการไปรบกับแกวซึ่งได้ชนะสงคราม จากนั้นได้อภิเษกเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่
สถานที่อันเนื่องในตำนาน
[แก้]- ทุ่งไหหินตั้งอยู่ที่เชียงแขวง ทางตอนเหนือของประเทศลาว เป็นที่ราบสูง มีหินใหญ่ลักษณะคล้ายไหตั้งอยู่ทั่วบริเวณ มีอายุอยู่ในยุคโลหะตอนปลายไม่น้อยกว่า 2,500 ปี มีตำนานที่ว่าด้วยไหดังกล่าวเป็นไหเหล้าของขุนเจือง[7]
- ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช จังหวัดพะเยา ประเทศไทย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อานันท์ กาญจนพันธุ์. "ตำนานพระยาเจือง การศึกษาทางประวัติศาสตร์" (PDF).
- ↑ ไข่มุก อุทยาวดี. "แนวทางการใช้หลักฐานประเภทตำนานประวัติศาสตร์ ในการศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ร่วมกับหลักฐานอื่น" (PDF).
- ↑ ชูศักดิ์ ศุกรนันทน์. "ความเป็นวีรบุรุษของท้าวฮุ่งหรือเจือง : มุมมองจากมหากาพย์เรื่อง "ท้าวฮุ่ง-ท้าวเจือง"" (PDF).
- ↑ ไข่มุก อุทยาวดี. "การจัดประเภทตำนานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย" (PDF).
- ↑ อนุสรณ์การพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. p. 104.
- ↑ "เปรียบเทียบเรื่องราวของพญาเจืองในมหากาพย์เรื่องท้าวบาเจืองกับวรรณกรรมเกี่ยวกับพญาเจืองสำนวนอื่น".
- ↑ ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา. ""ทุ่งไหหิน" มรดกโลกในลาว กับตำนาน "ทุ่งแห่งไหเหล้า" ของ "ขุนเจือง" ?". ศิลปวัฒนธรรม.