พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
เสวกเอก นายพันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ปลัดทูลฉลองกรมพระกลาโหมคนที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์
สกุลมิตรภักดี
[แก้]พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) เป็นผู้เริ่มใช้นามสกุล "มิตรภักดี" ตามประวัติศาสตร์ ดังนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงเป็นเจ้านายของพระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติขนานนามสกุลในรัชกาลที่ 6 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ก็ได้ประทานนามสกุลให้แก่พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ว่า "มิตรภักดี" พระองค์ยังได้มีรับสั่งด้วยเหตุที่ประทานนามสกุล "มิตรภักดี" ว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครองราชแล้ว ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่านายมิตรมหาดเล็กข้าหลวงเดิมนี้ เป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อเรา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็น ผู้ว่าราชการ สำเร็จราชการ เมืองนครสวรรค์ มีบรรดาศักดิ์ราชทินนาม ว่า พระยาไกรเพชร รัตนสงคราม รามภักดี พิริยะพาหะ เหตุฉะนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จึงได้ถือเอาพระราชกระแสรับสั่งของพระบิดาอันเป็นศิริมงคลนี้ มาประทานเป็นนามสกุล ว่า "มิตรภักดี" ของตระกูลนี้สืบมา
ประวัติ
[แก้]เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2415 ตรงกับ วันพุธ แรม 9 ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก บิดาคือ พระยามหานทีศรีบรรพตภูมิพิทักษ์ (จั่น มิตรภักดี) จางวางเมืองนครสวรรค์ (ผู้ว่าราชการจังหวัด)- ราชทินนาม มหานทีศรีบรรพตภูมิพิทักษ์ แปลว่า ผู้พิทักษ์ปกป้องรักษาภูเขาและแม่น้ำใหญ่ ซึ่งก็คือแม่น้ำเจ้าพระยา อันมีแหล่งกำเนิดมาจากปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ มารดาคือคุณหญิงเจิม มหานทีศรีบรรพตภูมิพิทักษ์ บรรพบุรุษต้นตระกูล มิตรภักดี ทางฝ่ายบิดานั้น สามารถสืบขึ้นไปได้จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับดังนี้ ทวดของ พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) คือ เจ้าพระยายมราช (บุนนาค ตะเฆ่ทับ) ปู่ คือ พระยาไกรเพชร รัตนสงคราม รามภักดี พิริยะพาหะ (มิตร)
พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) เมื่ออายุ 13 ปี ได้ศึกษาวิชาหนังสือไทยที่สำนักโรงเรียนวัดเลไลย จังหวัดนครสวรรค์ ศึกษาอยู่ 4 ปี ตามหลักสูตรในเวลานั้น แล้วเข้ารับราชการเป็นเสมียนกรมกลาง กระทรวงวังได้รับเงินเดือนๆ ละ 15 บาท เมื่อพ.ศ. 2433 หลังจากนั้น พ.ศ. 2434 ย้ายไปเป็นเสมียนในกองข้าหลวงต่างพระองค์ มณฑลอุดร ได้รับเงินเดือนๆ ละ 20 บาท ครั้นถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2435 ได้ทำการสมรสกับนางสาวเจิม นาครทรรพ บุตรีหลวงพรหมสัสดี (แมลงภู่)และ นางพรหมสัสดี (ขาว) ซึ่งมีเคหะสถานอยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2436 (ร.ศ.112) ทำหน้าที่แพทย์ในกองข้าหลวงต่างพระองค์ มณฑลอุดร ได้รับเงินเดือนๆ ละ 40 บาท พ.ศ. 2441 เลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยข้าหลวงคลังมณฑลอุดร ได้รับเงินเดือนๆ ละ 100 บาท และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนผจงสรรพกิจ ถือศักดินา ๔๐๐ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441[1]แล้วเลื่อนขึ้นเป็น หลวงผจงสรรพกิจ ถือศักดินา ๖๐๐ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2442[2]ครั้นพ.ศ. 2443 ย้ายไปเป็นเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม ได้รับเงินเดือนๆ ละ 200 บาท วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2447 เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดบัญชีกระทรวงกลาโหมและได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ เป็น พระนรินทรราชเสนี ถือศักดินา ๘๐๐[3]ครั้นวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2451 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ เป็น พระยานรินทรราชเสนี ถือศักดินา ๘๐๐[4]หลังจากนั้น พ.ศ. 2453 ย้ายไปเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกรมพระกลาโหม และเป็นปลัดทูลฉลองกรมพระกลาโหมคนที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นพ.ศ. 2454 ย้ายไปเป็นเจ้ากรมสัสดี และได้รับยศ พันเอก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2455[5]ครั้นวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2455 ย้ายไปสำรองราชการกรมพระคชบาล[6]แล้วย้ายไปเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมแสงสรรพาวุธ (ตำแหน่งรองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. 2459 ได้รับเงินเดือนๆ ละ 550 บาท ครั้นพ.ศ. 2460 พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ได้ทำรายงานขอลาออกจากหน้าที่ ตามคำสั่งประกาศทหารบกฉบับที่ 137/12375 พ.ศ. 2460 หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2464 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กลับเข้ารับราชการ เป็นปลัดบัญชาการกรมพระอัศวราช (เจ้ากรมม้าหลวง)[7]ครั้นพ.ศ. 2468 ได้ออกจากราชการ ครั้นถึง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นนายทหารพ้นราชการ เพราะอายุเกินกำหนดนายทหารนอกราชการ
พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ได้ไปราชการทัพโดยเสด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการเมืองอุดรธานี ซึ่งขณะนั้นได้มีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรื่องเขตแดน นอกจากราชการประจำและราชการทัพแล้ว พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี)ได้ปฏิบัติราชการพิเศษ ดังนี้ 1.เป็นข้าหลวงพิเศษตัดสินปักปันเขตแดน เมืองสกลนคร เมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร และทำแผนที่บริเวณเมืองเหล่านี้ 2.เป็นข้าหลวงพิเศษไปรับข้าหลวงฝรั่งเศส ซึ่งสำเร็จราชการฝ่ายแม่น้ำโขง ณ เมืองเวียงจันทร์ 3.ได้เป็นผู้รักษาพยาบาลคนป่วยไข้ก่อนเข้ามากองทัพ และเมื่อรักษาหายแล้วก็ส่งคนหายป่วยเข้าประจำกองทัพทางแก่งเจ๊กและเมืองหล่มศักดิ์ 4.ได้ตรวจราชการทางแม่น้ำโขง 5.ได้ทำแผนที่ตั้งแต่จังหวัดสระบุรีผ่านดงพระยากลางจนถึงจังหวัดหนองคาย
ครอบครัว
[แก้]พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) มีภรรยา 4 คน ดังนี้
- ภรรยาหลวงคือคุณหญิงเจิม นรินทรราชเสนี (เจิม นาครทรรพ มิตรภักดี) บุตรีหลวงพรหมสัสดี (แมลงภู่) กรมการกรุงเก่า สมัยรัชกาลที่ 4 บรรพบุรุษทางฝ่ายภรรยาหลวงนั้น สืบเนื่องมาตั้งแต่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) โดยบุตรธิดามีชื่อคล้องจองกัน ดังนี้
- เด็กชาย แดงใหญ่ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 11 เดือน (ยังไม่ได้ตั้งชื่อจริง)
- เสวกตรี พระสุนทรพินิจ (บริบูรณ์ มิตรภักดี)
- เด็กหญิง ภูนสวัสดิ์ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 8 เดือน
- พันตรี หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) ผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- นางประไพพิศ เป็นภรรยา นายเคเถา ศุภวานิช มีบุตรธิดา คือ 1.นางถ่ายเถา สุจริตกุล สมรสกับ ศ. ดร. สมปอง สุจริตกุล 2.นายถ่องเถา ศุภวานิช หลังจากนายเคเถาเสียชีวิต ได้สมรสกับนายบุญชิต เกตุรายนาค มีบุตรธิดา คือ 1.นางรื่นรวย เกตุรายนาค (มีบุตรชายชื่อ นายธนน วีอารยะ) 2.นางสาวชิตาภา เกตุรายนาค 3.นายปัญญาสัย เกตุรายนาค
- ภรรยาคนที่ 2 ชื่อ คุณจันทร มีบุตรคือ พลตรี ขุนสวัสดิ์รณภักดิ์ (สวัสดิ์ มิตรภักดี) ภายหลังใช้นามสกุล "สวัสดิ์รณภักดิ์" สืบสกุลวงศ์ต่อไป
- ภรรยาคนที่ 3 ไม่ทราบชื่อ มีธิดาคือนางอัมพร
- ภรรยาคนที่ 4 ชื่อคุณทองคำ มีบุตรธิดา ดังนี้
- นางพจนา มิตรภักดี
- นายพาที มิตรภักดี
อนิจกรรม
[แก้]นายพันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) ป่วยเป็นอัมพาตมาหลายปี และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ณ บ้านเลขที่ 547 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันตรี หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) ซึ่งได้ทำความดีความชอบแก่ประเทศชาติ โดยเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองและขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน หีบทองลายสลัก และเครื่องยศประกอบศพแก่ พันเอก พระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) สิริรวมอายุ 71 ปี
ตำแหน่งและยศ
[แก้]- ธันวาคม พ.ศ. 2453 ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม[8]
- เมษายน พ.ศ. 2454 ผู้รั้งเจ้ากรมสัสดี[9]
- 11 เมษายน พ.ศ. 2455 พันเอก
- 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 - มรรคนายก วัดยานนาวา[10]
- 17 สิงหาคม พ.ศ. 2455 นายหมู่ตรี ในกองเสือป่า[11]
- 25 ตุลาคม พ.ศ. 2455 พ้นจากตำแหน่งเจ้ากรมสัสดี ไปสำรองราชการกรมพระคชบาล[12]
- 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2463 - ว่าที่นายหมวดตรี[13]
- พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ปลัดบัญชาการกรมพระอัศวราช[14]
- 28 พฤษภาคม 2464 – หัวหมื่น[15]
- 1 กันยายน 2468 – ปลดออกจากราชการ[16]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2466 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[17]
- พ.ศ. 2459 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[18]
- พ.ศ. 2437 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
- พ.ศ. 2452 – เหรียญบุษปมาลา (ร.บ.ม.)[19]
- พ.ศ. 2436 – เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา (ร.ศ.)
- พ.ศ. 2441 – เหรียญประพาสมาลา (ร.ป.ม.)
- พ.ศ. 2446 – เหรียญทวีธาภิเศก (ท.ศ.)
- พ.ศ. 2450 – เหรียญรัชมงคล (ร.ร.ม.)
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัชมังคลาภิเศก รัชกาลที่ 5 (ร.ม.ศ.5)
- พ.ศ. 2454 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 (ร.ร.ศ.6)
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2459 - เข็มข้าหลวงเดิม[20]
- พ.ศ. 2468 - เข็มอักษรพระบรมนามาภิธัยย่อ ว.ป.ร. ชั้นที่ 2
- พ.ศ. 2454 - เสมา ส.ผ.ทองคำลงยา ประดับเพ็ชร์
- พ.ศ. 2458 - เสมาทองคำมีอักษรพระบรมนามาภิธัยย่อ ว.ป.ร.ลงยา ชั้นที่ 3
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตร (หน้า ๓๖๒)
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ "ตั้งตำแหน่งยศนายทหารบก" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-27. สืบค้นเมื่อ 2020-06-25.
- ↑ แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่อง ย้ายและตั้งตำแหน่งหน้าที่ราชการ
- ↑ ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก
- ↑ "แจ้งความกระทรวงกลาโหม" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-27. สืบค้นเมื่อ 2020-07-27.
- ↑ แจ้งความกระทรวงกลาโหม
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรมรรคนายก
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระราชทานยศนายเสือป่า (หน้า ๔๑๗๙)
- ↑ ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก
- ↑ "พระราชทานยศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 592. 5 มิถุนายน 1921.
- ↑ "ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 16 สิงหาคม 1925.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๗๖, ๗ มกราคม ๒๔๖๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๘๗๓, ๑๔ มกราคม ๒๔๕๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญบุษปมาลา, เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๕๔, ๖ มีนาคม ๒๔๕๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม, เล่ม ๓๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๑๙, ๑๖ เมษายน ๒๔๕๙