ข้ามไปเนื้อหา

พระมงคลบพิตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระมงคลบพิตร
ชื่อเต็มพระมงคลบพิตร
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะศิลปะอยุธยา
ความกว้าง9.55 เมตร (หน้าตัก)[1]
ความสูง12.45 เมตร (เฉพาะองค์พระไม่รวมฐานบัว)[1]
วัสดุก่ออิฐเป็นแกนแล้วบุด้วยทองสำริดหุ้มทอง
สถานที่ประดิษฐานวิหารพระมงคลบพิตร อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ความสำคัญเป็นพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปประธานประจำวิหารพระมงคลบพิตร ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระมงคลบพิตร ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในรัชกาลใดแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่มีการสันนิษฐานว่าสร้างใน สมัยอยุธยาตอนต้นระหว่างปี พ.ศ. 1991 – 2145[2] เพราะพระพักตร์แม้จะมีลักษณะค่อนข้างเป็นวงรี แต่ก็ยังคงเห็นเค้าพระพักตร์เป็นเหลี่ยมอยู่ ซึ่งเป็นพุทธลักษณะแบบอยุธยาตอนต้น เมื่อพิจารณาถึงเส้นพระขนงที่โค้ง ก็จะพบว่าเป็นศิลปะที่ ผสมผสานกับศิลปะสุโขทัยอีกด้วย องค์พระก่อด้วยอิฐแล้วหุ้มสำริดแผ่น นับเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย

จากหลักฐานมีอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2146 พระเจ้าทรงธรรมได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชะลอหลวงพ่อวัดมงคลบพิตร จากด้านตะวันออกของวังหลวงมาไว้ทางด้านตะวันตก ณ ที่ประดิษฐานปัจจุบัน และยังได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมณฑปที่มีลักษณะเช่นเดียวกับมณฑปพระพุทธบาทสระบุรีสวมไว้ด้วย

ในสมัยพระเจ้าเสือ เกิดอสุนีบาตต้องยอดพระมณฑป เกิดไฟไหม้พังลงมาต้องพระศอของพระมงคลบพิตรหัก พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเครื่องบนออกแล้วสร้างใหม่เป็นพระวิหาร แต่คงทำเครื่องยอดอย่าง มณฑปของเดิม ต่อมาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศน์เป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ และได้รื้อยอดมณฑปเดิมเปลี่ยนเป็นพระวิหารหลังคาคล้ายในปัจจุบัน เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหารและพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ ชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาหัก

พระมงคลบพิตร ก่อนการบูรณะและหลังการบูรณะขั้นเบื้องต้นในสมัยรัชกาลที่ 7

ในปี พ.ศ. 2474 สมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา คุณหญิงอมเรศร์สมบัติกับพวก ได้ขอยื่นเรื่องซ่อมแซมวิหาร แต่รัฐบาลไม่อนุญาต เนื่องจากต้องการที่จะรักษาตามแบบอย่างทางโบราณคดี โดยจะออกแบบให้ปูชนียสถานกลางแจ้งเหมือนไดบุซึของญี่ปุ่น แต่ด้วยเวลานั้นรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณพร้อมในการดำเนินการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและองค์พระพุทธเสียใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในคราวบูรณะพระมงคลบพิตรในปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้พบพระพุทธรูปบรรจุไว้ในพระอุระด้านขวา เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม นายอูนุ นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าในขณะนั้น ได้บริจาคเงินจำนวนสองแสนบาท ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลไทยอีกสองแสนห้าหมื่นบาท

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 วัดมงคลบพิตร, เว็บไซด์:https://watboran.wordpress.com/ .สืบค้นเมื่อ 07/01/2560
  2. วิหารพระมงคลบพิตร - จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, เว็บไซด์:ww2.ayutthaya.go.th/ .วันที่ 07/01/2560
  • วิไลรัตน์. 2546. กรุงศรีอยุธยา. อมรินทร์พริ้นติ้ง

ดูเพิ่ม

[แก้]