พงศาวดารเมืองพระตะบอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พงศาวดารเมืองพระตะบอง เป็นพงศาวดารที่แต่งโดยเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) มีเนื้อหาแบ่งเป็นสองส่วนคือ พงศาวดารเมืองพระตะบองและวงศ์สกุลผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง ส่วนแรกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้พระราชเสนาทำพงศาวดารเมืองพระตะบองทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานรับรองว่าพระตะบองเป็นเมืองในพระราชอาณาเขตของสยามมานานแล้ว และนำไปสู่การทำสัญญาข้อตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2410 โดยฝรั่งเศสยอมรับรองว่าพระตะบองและเสียมราฐอยู่ในอาณาเขตของสยาม ขณะเดียวกันก็ให้สยามรับรองว่ากัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส[1][2] ส่วนที่สอง เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) เป็นผู้ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจะพิมพ์นั้นก็รวมเอาทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2462 ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร เป็นภาคที่ 16 ใช้ชื่อว่า พงษาวดารเมืองพระตะบอง ของ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์

พงศาวดารเมืองพระตะบอง จับความตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อครั้งพระนารายน์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) ครองกรุงกัมพูชาธิบดีแล้วลำดับเหตุการณ์โดยย่อมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร (นักองค์ราชาวดี) กับเรื่องวงศ์สกุลผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง ตั้งแต่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองคนแรกมาจนเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการคนที่ 7 เมื่อจะพิมพ์ใน พ.ศ. 2462 ซึ่งปรากฏว่า เมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เป็นของฝรั่งเศสแล้วนั้น มีการแต่งเพิ่มความมาจนถึงเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สําเร็จราชการเมืองพระตะบองคนที่ 8 และเป็นคนสุดท้าย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ระยับศรี กาญจนะวงศ์. 2522. บทบาทของเจ้าเมืองพระตะบองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2337 - 2449. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. "ความสัมพันธ์สยาม-กัมพูชา ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19: ภาพสะท้อนผ่านศิลปะ และสถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดดำเร็ยซอ เมืองพระตะบอง" (PDF).
  3. ธิบดี บัวคำศรี. "พงศาวดารกัมพูชาที่แปลชำระและที่นิพนธ์เป็นภาษาไทยระหว่าง พ.ศ. 2339–2459 กับหน้าที่ที่มีต่อชนชั้นปกครองไทย (2002)".

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]