ข้ามไปเนื้อหา

ฝนเหลือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองทัพอากาศสหรัฐ ฉีดพ่นสารฆ่าวัชพืชในแผ่นดินเวียดนาม

ฝนเหลือง (อังกฤษ: Agent Orange หรือ Herbicide Orange, ย่อ: HO) เป็นสารฆ่าวัชพืชและเป็นสารเร่งใบร่วง (defoliant) ซึ่งถูกใช้งานโดยกองทัพสหรัฐในสงครามสารฆ่าวัชพืชที่เรียกว่า ปฏิบัติการแรนช์แฮนด์ (Operation Ranch Hand)[1] ระหว่างสงครามเวียดนามตั้งแต่ปี 1961 ถึง 1971[2] ฝนเหลืองเกิดจากการผสมสารฆ่าวัชพืชสองชนิด คือ 2,4,5-T และ 2,4-D อย่างละเท่ากัน

ระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1940 และ 1950 สหรัฐและสหราชอาณาจักรร่วมกันพัฒนาสารฆ่าวัชพืชซึ่งสามารถใช้ในสงคราม ผลิตภัณฑ์เหล่านี้บางชนิดถูกวางตลาดเป็นสารฆ่าวัชพืช สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ใช้สารฆ่าวัชพืชและสารเร่งใบร่วงเพื่อทำลายพืชผล พุ่มไม้ และไม้ยืนต้น ในพื้นที่ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในวิกฤตการณ์มาลายา ซึ่งต่อมา สหรัฐก็นำข้อมูลจากปฏิบัติการในมาลายา ไปใช้ดำเนินการกิจกรรมฝนเหลืองของตนเอง[3]

แผนที่การใช้ฝนเหลืองในประเทศเวียดนาม

กลางปี 1961 ประธานาธิบดีโง ดิ่ญ เสี่ยมแห่งเวียดนามใต้ ร้องขอให้สหรัฐทำฝนเหลืองในประเทศเวียดนามใต้ ในเดือนสิงหาคม กองทัพอากาศเวียดนามใต้เริ่มปฏิบัติการฝนเหลืองด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ แต่คำขอของประธานาธิบดีเสี่ยมทำให้เกิดการถกเถียงในทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ[1] แต่ท้ายที่สุด ทางการสหรัฐก็ตัดสินใจใช้ฝนเหลือง โดยชี้ว่าสหราชอาณาจักรเคยใช้ฝนเหลืองแล้วในช่วงวิกฤตการณ์มาลายา ส่งผลให้ในเดือนพฤศจิกายน 1961 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี อนุญาตให้เริ่มปฏิบัติการแรนช์แฮนด์ ซึ่งเป็นชื่อรหัสของโครงการฝนเหลืองในเวียดนามโดยกองทัพอากาศสหรัฐ

บริษัทมอนซานโต้และดอว์เคมิคัล ผู้ผลิตฝนเหลืองให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐ[4]: 6  ซึ่งได้ชื่อ "Agent Orange" เนื่องจากสีของถังลายส้มที่ใช้ขนส่ง และเป็นสารที่เรียก "สารฆ่าวัชพืชรุ้ง"[5] ที่ใช้กันกว้างขวางที่สุด 2,4,5-T ที่ใช้ผลิตฝนเหลืองถูกปนเปื้อนด้วย 2,3,7,8-TCDD ซึ่งเป็นสารประกอบไดออกซินซึ่งเป็นพิษร้ายแรง ในบางพื้นที่ ความเข้มข้นของ TCDD ในดินและน้ำสูงกว่าระดับที่สำนักป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐถือว่าปลอดภัยเป็นหลายร้อยเท่า[6][7]

เนื่องจากการใช้สารฆ่าวัชพืชในสงคราม ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่ในบทบัญญัติแห่งกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายการสงคราม จึงมีการเสนอร่างอนุสัญญาที่เตรียมโดยคณะทำงานที่ตั้งขึ้นในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการลดกำลังรบ (CCD) ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในปี 1976 ซึ่งในปีเดียวกันนั้น คณะกรรมการชุดแรกของสมัชชาใหญ่ตัดสินใจส่งเนื้อความร่างอนุสัญญาให้สมัชชาใหญ่ซึ่งลงมติรับข้อมติที่ 31/72 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1976 โดยเนื้อความของอนุสัญญาที่แนบเป็นภาคผนวก อนุสัญญาดังกล่าว ที่เรียกว่า อนุสัญญาการดัดแปลงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปิดถูกลงนามและได้รับสัตยาบันในวันที่ 18 พฤษภาคม 1977 แลมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1978 อนุสัญญาฯ ห้ามมิให้มีการการใช้งานสารฆ่าวัชพืชเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารหรือเป็นความปรปักษ์ อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ยาวนานหรือรุนแรง หลายประเทศไม่ถือว่าอนุสัญญาห้ามการใช้สารฆ่าวัชะชและสารเร่งใบร่วงโดยสิ้นเชิง แต่จะพิจารณาเป็นรายกรณี[8][9]

แม้อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการลดกำลังรบ ค.ศ. 1978 ข้อ 2(4) พิธีสารที่ 3 ต่ออนุสัญญาอาวุธมี "ข้อยกเว้นป่า" (The Jungle Exception) ซึ่งห้ามมิให้ภาครัฐโจมตีเขตป่า "ยกเว้นในกรณีที่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น ถูกใช้โดยพลรบหรือถูกใช้เป็นที่กำบัง ปกปิด หรืออำพรางทางทหาร หรือป่านั้นเป็นวัตถุประสงค์ทางทหาร" ซึ่งส่งผลให้บุคคลหรือกำลังพลที่อยู่ในป่าดังกล่าว จะไม่ได้ความคุ้มครองจากการโจมตีด้วยนาปาล์ม หรือสารอย่างฝนเหลือง[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Buckingham. "The Air Force and Herbicides" (PDF). AFHSO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-11-23. สืบค้นเมื่อ 2016-01-17.
  2. Agent Orange Linked To Skin Cancer Risk
  3. Bruce Cumings (1998). The Global Politics of Pesticides: Forging Consensus from Conflicting Interests. Earthscan. p. 61.
  4. "Agent Orange" entry in Encyclopedia of United States National Security, edited by Richard J. Samuel. SAGE Publications, 2005. ISBN 9781452265353
  5. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ hay-1982-p151
  6. Fawthrop, Tom; "Vietnam's war against Agent Orange", BBC News, June 14, 2004
  7. Fawthrop, Tom; "Agent of Suffering", Guardian, February 10, 2008
  8. Convention on the Prohibition of the Military or Any Other Hostile Use of Environmental Modification Techniques
  9. "Practice Relating to Rule 76. Herbicides". International Committee of the Red Cross. 2013. สืบค้นเมื่อ 24 August 2013.
  10. Detter, Ingrid. [The Law of War], [Ashgate pub. 2013] pg. 255.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]