ผ้าซิ่นทิวมุก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผ้าซิ่นทิวมุกจกดาว

สิ่นทิวมุกจกดาว หรือซิ่นทิวมุกจกดาว เป็นผ้าโบราณของเจ้านายสตรีชั้นสูงแห่งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย มีลักษณะผสมผสานเทคนิคการทอคือ การวางเครือเป็นซิ่นทิว การยกมุก และการจกดาว ถือเป็นผ้าซิ่นที่หายากและพบที่จังหวัดอุบลราชธานีเพียงแห่งเดียว

ประวัติ[แก้]

อัญญานางเมืองอุบลนุ่งซิ่นทิวมุกจกดาวและซิ่นตีนตวย

"สิ่นทิวมุกจกดาว" (ออกเสียงตามสำเนียงอุบล) เป็นผ้าที่มีแหล่งกำเนิดในเมืองอุบลราชธานี ในอดีตเป็นผ้านุ่งสำหรับอัญญานางหรือเจ้านายสตรีสายเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช แต่ละคุ้มแต่ละโฮงมีกันผืนสองผืนเท่านั้น เล่าสืบกันมาว่าช่างทอผู้ริเริ่มก็คืออัญญานางเลื่อน เชื้อสายเจ้านายเมืองอุบล ในราวสมัยรัชกาลที่ 5[1] ครั้นท่านสิ้นวิธีการทอก็สูญหายหาคนทอไม่ได้ไปนับหลายสิบปี จนกระทั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมกับกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านลาดสมดี อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ได้เริ่มโครงการฟื้นฟูผ้าพื้นเมืองลายโบราณจังหวัดอุบลราชธานี จึงมีการฟื้นฟูการทอซิ่นทิวมุกจกดาวขึ้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2551[2]

ซิ่นทิวมุกจกดาวบราณที่หลงเหลือในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี บริจาคโดยนางสงวนศักดิ์ คูณผล ซึ่งเก็บรักษาต่อมาจากมารดา คือ นางวรเวธวรรณกิจ (ทับทิม โชติบุตร) ซึ่งเป็นพระสหายสหชาติกับ หม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช[3] สันนิษฐานว่าได้รับมอบมาจาก หม่อมบุญยืน ชุมพล ณ อยุธยา (อัญญานางบุญยืน บุญรมย์) อีกหนึ่งผืนเป็นผ้าห่อคัมภีร์ในพิพิธภัณฑสถาน วัดศรีอุบลรัตนาราม อีกส่วนหนึ่งอยู่ในความครอบครองของทายาทเจ้านายเชื้อสายเมืองอุบล คือ เรือตรีสุนัย ณ อุบล และ นายบำเพ็ญ ณ อุบล[4]

โครงสร้างลวดลายและสีสัน[แก้]

ซิ่นทิวมุกจกดาว มีโครงสร้างหลัก แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนตัวซิ่น และหัวซิ่น เหมือนกับซิ่นทิว ซึ่งเป็นผ้าซิ่นชนิดเดียวของอีสานที่เป็นลายขวาง ซึ่งโดยปรกติการวางลวดลายจะวางแนวตั้งหรือลายล่อง กล่าวกันว่าเป็นซิ่นที่ทอยาก เนื่องจากต้องใช้สมาธิสูงในการนับเส้น ให้เป็นริ้วเป็นทิวเสมอกันทั้งผืน แต่ซิ่นทิวมุกจกดาวจะมีลักษณะพิเศษมากกว่าสิ่นทิวทั่วไปคือ ต้องสืบเครือทำเป็นทิว คือเป็นลายขวางอันเป็นลักษณะที่ช่างชาวอีสานไม่ใคร่ถนัด แล้วทำการยกมุก ซึ่งเป็นเทคนิคการทอโดยเพิ่มเส้นยืนพิเศษบนกี่ทอผ้า ในตัวซิ่นจะเป็นริ้วสีเหลืองเล็กๆขวางไปตามตัวซิ่น และใช้ไหมสีขาว จกเป็นเส้นสีขาวตั้งเรียงถี่ จากนั้นก็จกเป็นลายดาวเล็กๆตามช่อง ต่อหัวด้วยหัวซิ่นจกดาว

เมื่อพิจารณาลวดลายโดยภาพรวมของซิ่นทิวมุกจกดาวจะเห็นว่า เป็นซิ่นที่มีลายขวางลำดัว โดยลายมุกจะเป็นช่วงที่เป็นเส้นสีเหลือง และลายจกเส้นสีขาวเรียงถี่ และจกดาวขนาดเล็ก คั่นเป็นช่วง ๆ จนหมดผืน เทคนิคการยกมุกดังกล่าวนี้ยังพบในซิ่นชาวไทแดงในเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน และชาวมะกองในแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว ด้วยเช่นกัน

การใช้สอย[แก้]

นางแบบสวมซิ่นทิวมุก ในงานแสดงแบบผ้าอุบลราชธานีเจริญศรีโสธร 2553

ผ้าซิ่นทิวมุกจกดาว ถือเป็นผ้าที่ทอได้ยากยิ่ง ต้องอาศัยความอุตสาหะ ในการทอ หนึ่งผืนใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือน ด้วยการผสานเทคนิคที่ลงตัวทำให้ได้ลักษณะซิ่นที่เรียบหรู ทรงพลัง และบ่งบอกถึงเกียรติยศของผู้สวมใส่ ดังนั้นจึงพบว่าซิ่นชนิดนี้มีเพียงเจ้านายสตรีชั้นสูงในเมืองอุบลเท่านั้นถึงมีสิทธิ์สวมใส่ โดยการนุ่งจะสวมซิ่นอีกหนึ่งผืนไว้ข้างใน แล้วจึงนุ่งซิ่นทิวมุกจกดาวทับ เพื่อป้องกันการสัมผัสกับร่างกายโดยตรงอันจะทำให้ผ้าเสื่อมสภาพได้ง่าย[5] ต่อมาเมื่อมีการรื้อฟื้นการทอขึ้นใหม่ จึงมีการปรับประยุกต์ใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น งานสดุดีวีรกรรมเจ้าคำผง หรืองานพิธีการสำคัญต่างๆ

การทอในปัจจุบัน[แก้]

ปัจจุบันการทอซิ่นทิวมุกจกดาว ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และในภาคเอกชนคือ บ้านคำปุน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมชั้นดีของเมืองอุบล ได้มีการทอขึ้นมาเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวอุบลอย่างต่อเนื่อง โดยการเลือกสรร วัสดุชั้นดี เช่น ไหมคำจากฝรั่งเศส เป็นต้น ในปีพ.ศ. 2553 อาจารย์ ดร.คำล่า มุสิกา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผศ.ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย อาจารย์ประจำคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกันรื้อฟื้นการทอซิ่นทิวมุกจกดาวแบบโบราณขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนั้นได้ทดลองทอซิ่นทิวมุกจกดาวสีม่วงขึ้นอีกจำนวนหนึ่งด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. สุนัย ณ อุบล และคณะ. (2536). ผ้ากับวิชีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว สายเมืองอุบล. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  2. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2551) www.ubu.ac.th/~research/new_art/.../pamai%20's%20news.pdf
  3. สุวิชช คูณผล (2545) ผ้าซิ่นไหมโบราณวัตถุอายุ 100 ปี www.ubu.ac.th/~research/new_art/ACONTENT/Old-sin-mai.pdf
  4. พิทยาธรี [นามแฝง] (2540). ผ้าทอเมืองอุบลของสุนัย ณ อุบล. ไลฟ์แอนด์เดคคอร์. ปีที่ 6, ฉบับที่ 71 (ก.ค. 2540) : หน้า 138-142.
  5. มานิสา ปิยะสิงห์ (2541). เรือตรี ดร. สุนัย ณ อุบล ผู้รักษาผ้าสองแผ่นดิน. กินรี. ปีที่ 15 ฉบับที่ 7 (ก.ค. 2541) : หน้า 50-54.