ผุสชา โทณะวณิก
ผุสชา โทณะวณิก | |
---|---|
เกิด | 8 มกราคม พ.ศ. 2503 |
อาชีพ | นักร้อง, พิธีกร, นักเล่านิทาน |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2529 – ปัจจุบัน |
สังกัด | จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ |
โทรทัศน์ทองคำ | 1 รางวัล |
เมขลา | 3 รางวัล |
ผุสชา โทณะวณิก (ชื่อเล่น ตุ้ม) มีความสามารถหลากหลาย ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง มีชื่อเสียงจากการเป็นพิธีกรโทรทัศน์รายการจันทร์กะพริบ และคอนเสิร์ตคอนเทสต์ เป็นนักร้องเสียงหวานที่มีผลงานมาแล้ว 4 อัลบั้มเพลงที่โด่งดัง คือ ฝัน..ฝันหวาน เธอยังเป็นจิตอาสาร้องเพลงเพื่อเด็กและศาสนาให้แก่เสถียรธรรมสถานและสถาบันวิมุตตยาลัยและยังเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านการพูด การนำเสนอ การเป็นพิธีกรให้แก่คนรุ่นใหม่ และบุคลากรในองค์กรต่าง ๆ
ประวัติ
[แก้]ผุสชา โทณะวณิก ศึกษาที่โรงเรียนสมถวิล ราชดำริ เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.2 ได้เรียนเปียโนที่ศูนย์ดนตรีวาทินี และเป็นนักร้องนำประจำวงวาทินี ได้ออกรายการโทรทัศน์และงานต่าง ๆ ร่วมกับวง จนเรียนจบ ม.ศ.5 จากโรงเรียนสตรีวิทยา 2 จากนั้นผุสชาเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกการละคร เมื่อเรียนปี 2 ได้ตั้งวงดนตรีหญิงชื่อ "เบลลาดอนน่า" ซึ่งมีสมาชิกอย่าง ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ พิไลวรรณ บุญล้น เวนิกา วิล ออกแสดงตามงานของมหาวิทยาลัยและเล่นตามงานข้างนอกด้วย
จึงทำให้รู้จักกับ ชรัส เฟื่องอารมย์ และพนเทพ สุวรรณะบุณย์ (วงแฟลช) ที่เล่นประจำอยู่ที่เดอะไนล์ โรงแรมแมนดาริน ขณะนั้น ชรัสกำลังทำอัลบั้มชุดแรกกับวงแฟลช และเมื่อมาพบผุสชาขณะกำลังซ้อมอยู่กับวงเบลลาดอนน่าก็รู้สึกพอใจกับการร้องและน้ำเสียง จึงขอให้ไปช่วยบันทึกเสียงร้องประสานในชุดแรกของเขา และต่อมาชรัส เฟื่องอารมย์ ก็ได้ชวนผุสชาให้ออกงานเดี่ยว โดยเขาจะทำหน้าที่ดูแลการผลิต
ผุสชาออกผลงานชุดแรก ฝัน ฝันหวาน ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ภายใต้สังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อัลบั้มชุดนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ทำให้ในวันแรกมียอดสั่งจองเทปถึง 70,000 ม้วน และส่งผลให้ชื่อ "ผุสชา โทณะวณิก" เป็นนักร้องโด่งดังในทันที ผุสชามีผลงานชุดที่ 2 ตามมา ชื่อ โปรดฟังฉัน ในปี พ.ศ. 2531 และผลงานชุดที่ 3 คือ "วันและคืน" ในปี พ.ศ. 2538 โดยมี ธเนส สุขวัฒน์ เป็นโปรดิวเซอร์ และออกผลงานชุดสุดท้าย ริทึมออฟผุสชา (Rhythm of Pusacha) ในปี พ.ศ. 2544 กับยูนิเวอร์แซล เป็นการคัฟเวอร์เพลงเก่าผลงานประพันธ์ของ สุรพล โทณะวณิก คุณอาของเธอ[1] มาร้องใหม่ในแนวละตินแจ๊ส โดยธเนส สุขวัฒน์ เป็นโปรดิวเซอร์
ในขณะที่ผุสชาเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง แต่เธอกลับยังทำงานในสิ่งที่เธอเรียนมาไปพร้อม ๆ กัน คือ งานผลิตรายการโทรทัศน์ที่บริษัทเจเอสแอล และได้เริ่มงานเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ในเวลาต่อมา ผลงานที่สร้างชื่อเสียงในการเป็นพิธีกร คือ รายการเพลงน้ำแข็งใส่น้ำหวาน[2] รายการประกวดเพลงที่โด่งดัง คอนเสิร์ตคอนเทสต์ คู่กับปัญญา นิรันดร์กุล ในปี 2529 และรายการ จันทร์กะพริบ คู่กับ ดร.อภิวัฒน์ วัฒนางกูร ความสามารถด้านการเป็นพิธีกรของผุสชานั้นได้รับการยอมรับจากสถาบันต่าง ๆ โดยเธอได้รับรางวัลพิธีกรยอดเยี่ยมถึง 6 รางวัล
ผลงาน
[แก้]อัลบั้มเพลง
[แก้]- ฝัน ฝันหวาน (2529)
- โปรดฟังฉัน (2531)
- วันและคืน (2538)
- ริธึ่ม ออฟ ผุสชา (Rhythm of Pusacha) (2544)
อัลบัมจิตอาสา
- " ชมสวน" (2541)
- "ดอกไม้บาน"
- " ความรักศรัทธาปาฏิหาริย์ (25 ปีเสถียรธรรมสถาน)"
- เพลงประกอบละคร ใกล้ไกลหัวใจเดียวกัน 2542
พิธีกร
[แก้]- สะพายกล้อง
- ลุ้นละไม
- เกมตะลุย
- คอนเสิร์ต คอนเทสต์
- จันทร์กะพริบ
- เจ็ดกะรัต
- คนนี้ที่หนึ่ง
- รักเกินร้อย
- วันสุดท้าย
- มหัศจรรย์วันเสาร์
คอนเสิร์ต
[แก้]- คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ 1986 (2529)
- คอนเสิร์ต Earth Day (ครั้งที่ 1) (2534)
พากย์เสียง - เล่านิทาน
[แก้]- The Hunchback of Notre Dame คนค่อมแห่งนอเทรอ-ดาม (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2539) ให้เสียง เอสเมอรัลด้า
- เล่าร้องทำนองสนุก สื่อการศึกษาสำหรับประถมศึกษาตอนต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ผุสชา โทณะวณิก กับจังหวะของชีวิต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-07-07. สืบค้นเมื่อ 2009-03-06.
- ↑ ประวัติย่อ ผุสชา โทณะวณิก