ปลาฉลามหัวค้อน
ปลาฉลามหัวค้อน ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนยุคกลาง-ปัจจุบัน | |
---|---|
บริเวณส่วนหัว อันเป็นลักษณะเด่น | |
ฝูงปลาฉลามหัวค้อนหยัก (S. lewini) ที่หมู่เกาะกาลาปาโกส | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับใหญ่: | Selachimorpha |
อันดับ: | Carcharhiniformes |
วงศ์: | Sphyrnidae Gill, 1872 |
สกุล | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของปลาฉลามหัวค้อน | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลาฉลามหัวค้อน (อังกฤษ: hammerhead shark) เป็นปลาฉลามในวงศ์ Sphyrnidae
ลักษณะ
[แก้]ปลาฉลามหัวค้อนมีรูปร่างที่แปลกตาแตกต่างไปจากปลาฉลามในวงศ์หรือสกุลอื่น ๆ คือ มีส่วนหัวที่แบนราบและแผ่ออกข้างคล้ายปีกหรือแลดูคล้ายค้อนทั้งสองข้าง โดยมีดวงตาอยู่สุดปลายทั้งสอง ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีไว้เพื่ออะไร แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าช่วยทำให้พุ่งตัวขึ้นในแนวดิ่งได้ดีขึ้น อีกทั้งยังใช้เป็นประสาทสัมผัสรับรู้และช่วยลดแรงต้านน้ำให้เหลือน้อยลงในการไล่งับอาหารและในเวลาเอี้ยวหัวในเวลาว่ายน้ำ ตำแหน่งของตาที่อยู่สุดปลายปีกสองข้างนั้นทำให้ปลาฉลามหัวค้อนมีประสาทสายตาดีกว่าปลาฉลามจำพวกอื่น ๆ โดยสามารถมองเห็นภาพในมุมกว้างได้มากกว่าและสามารถทำให้มองเห็นเป็นภาพ 3 มิติ มีรูจมูกที่แยกจากกันเพื่อประสิทธิภาพในการดมกลิ่น[1] และยังสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าแบบอ่อน ๆ เพื่อจับหาที่อยู่ของอาหารได้ด้วย ไม่ว่าจะอยู่กลางทะเลหรือซ่อนอยู่บริเวณหน้าดินก็ตาม แต่ทว่าก็มีข้อเสียคือ ไม่สามารถที่จะเห็นภาพหรือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในระยะใกล้ได้[2]
มีสีลำตัวเป็นสีเทาอมน้ำตาลหรือสีเทาอมดำ หรือจนเกือบดำในบางชนิด ใต้ท้องเป็นสีขาว มีปากเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวอยู่ด้านล่างส่วนหัว
พฤติกรรม
[แก้]ปลาฉลามหัวค้อนมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 10–20 ตัว พบกระจายพันธุ์อยู่ในทะเลแถบอบอุ่นทั่วทุกมุมโลก เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว มีขนาดลำตัวตั้งแต่ไม่เกิน 1.5 เมตร จนถึง 6 เมตร ชอบกินอาหารจำพวกปลากระดูกแข็งขนาดเล็กกว่า รวมถึงปลากระเบนซึ่งเป็นปลากระดูกอ่อนเหมือนกันด้วย นอกจากนี้ยังชอบกิน หมึก, กุ้ง, ปู และหอย รวมทั้งอาจล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลขนาดใหญ่ เช่น โลมาหรือแมวน้ำ ได้ด้วยในบางชนิด โดยมักว่ายหากินตั้งแต่แนวปะการังไปจนถึงใต้ท้องทะเลลึกกว่า 275 เมตร ชอบว่ายน้ำโดยไม่หยุดไปมาตลอด ซึ่งสามารถว่ายน้ำได้ระยะไกล ๆ ในวันหนึ่ง ๆ โดยมีความเร็วในการว่ายประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีอายุขัยโดยเฉลี่ย 25 ปี
ปลาฉลามหัวค้อนจะออกลูกเป็นตัว ตกคราวละ 4–37 ตัว โดยการผสมพันธุ์จะเกิดก่อนที่ตัวเมียจะตกไข่นานถึง 2 เดือน ปลาตัวเมียจะเก็บน้ำเชื้อของตัวผู้ไว้ในต่อมสร้างเปลือกไข่ ซึ่งไข่จะเจริญมาจากรังไข่ข้างขวาซึ่งจะทำหน้าที่เพียงข้างเดียว ตัวอ่อนในมดลูกจะได้รับอาหารและออกซิเจนจากถุงไข่แดงและพู่เหงือก ซึ่งจะหายไปเมื่อโตขึ้น[3]
ปลาฉลามหัวค้อนที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก แถบหมู่เกาะกาลาปาโกส มีพฤติกรรมว่ายออกหากินเป็นฝูง และไม่เพียงแค่ว่ายน้ำไปพร้อมกันเท่านั้น แต่พวกยังมีระบบสังคมหรือแม้แต่การสื่อสารปรากฏออกมาผ่านพฤติกรรมทั้งการสั่นหัวอย่างรุนแรง การเร่งความเร็วอย่างกะทันหัน การบิดตัวอย่างแปลกประหลาด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องนี้เชื่อว่าท่าทางเหล่านี้คือการสื่อสารที่เกิดขึ้นภายในกลุ่ม โดยจะรวมตัวกันอยู่ที่แถว ๆ ภูเขาไฟใต้ทะเลระหว่างวัน แต่เมื่อถึงตอนกลางคืนก็จะแยกย้ายกันออกไปหาอาหารของตัวเอง ปลาฉลามหัวค้อนมักจะทำกิจวัตรทุกอย่างที่เป็นเส้นตรง และจะกลับมาตอนรุ่งเช้า ก่อนจะเริ่มต้นทำทุกอย่างเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่ง
ปลาฉลามหัวค้อนถือเป็นนักล่าที่ปราดเปรียวว่องไว ถือว่ามีความว่องไวกว่าปลาฉลามนักล่าขนาดใหญ่กว่า อย่างปลาฉลามขาวหรือปลาฉลามเสือ การปักและหมุนเป็นพฤติกรรมที่ปลาฉลามหัวค้อนจะใช้ส่วนหัวกดปลากระเบนให้ดำดิ่งลงไปติดพื้นทะเล จากนั้นก็จะหมุนตัวเพื่อเลือกชิ้นส่วนของปลากระเบนในการกัดกิน การใช้หัวปักเหยื่อคือหนึ่งในความสามารถของการปรับตัวกับขนาดหัวที่ใหญ่ ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่แปลกประหลาดแต่ก็มีประสิทธิภาพมากที่สุดประการหนึ่งเช่นกัน[1]
การจำแนกทางอนุกรมวิธาน
[แก้]พบทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่
- สกุล Sphyrna
- สกุลย่อย Sphyrna
- Sphyrna lewini (Griffith & Smith, 1834)
- Sphyrna mokarran (Rüppell, 1837)
- Sphyrna zygaena (Linnaeus, 1758)
- Sphyrna couardi Cadenat, 1951
- สกุลย่อย Mesozygaena
- Sphyrna corona Springer, 1940
- สกุลย่อย Platysqualus
- Sphyrna media Springer, 1940
- Sphyrna tiburo (Linnaeus, 1758)
- Sphyrna tudes (Valenciennes, 1822)
- สกุลย่อย Sphyrna
- สกุล Eusphyra
- Eusphyra blochii (Cuvier, 1816) ก่อนหน้าจัดอยู่ในสกุล Sphyrna (เรียก Sphyrna blochii)
ความสัมพันธ์กับมนุษย์
[แก้]ชนิดที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้แก่ S. lewini, S. mokarran และ S. zygaena ซึ่งมีขนาดใหญ่และดุร้ายเมื่อถูกจับหรือรบกวน
ในประเทศไทย
[แก้]พบในน่านน้ำไทยเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ E. blochii และ S. tudes ซึ่งสามารถนำมาบริโภคหรือนำมาปรุงเป็นหูฉลามได้เหมือนฉลามจำพวกอื่น[4]
ปลาฉลามหัวค้อน ยังมีชื่อเรียกอื่นในภาษาไทยอีก เช่น "อ้ายแบ้"[5] หรือ "ราหู" เป็นต้น
ในประเทศไทย ปัจจุบันมีปลาฉลามหัวค้อนชนิด S. lewini เลี้ยงอยู่ในสยามโอเชียนเวิลด์ ภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ความยาว 1 เมตร จำนวน 3 ตัว[2] ฉลามหัวค้อนสั้นกินสัตว์น้ำทุกชนิด ความยาวประมาณ 50-100 ซ.ม.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ทางด่วนของฉลามหัวค้อน". เดลินิวส์. 22 June 2014. สืบค้นเมื่อ 23 June 2014.
- ↑ 2.0 2.1 นิตยสาร อควาเรี่ยมบิส ฉบับที่ 5 ปีที่ 1 ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 หน้า 101 ฉลามหัวค้อน...นักล่าเหยื่อตัวฉกาจ โดย นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ
- ↑ [ลิงก์เสีย] ปลาฉลามหัวค้อน โดย จารุจินต์ นภีตะภัฏ
- ↑ "ฉลามหัวค้อนสั้น, อ้ายแบ้สั้น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-26. สืบค้นเมื่อ 2013-09-26.
{{cite web}}
: ระบุ|accessdate=
และ|access-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archivedate=
และ|archive-date=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ|archiveurl=
และ|archive-url=
มากกว่าหนึ่งรายการ (help) - ↑ ความหมายของคำว่า ฉลาม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542