ปลากะพงแดงหน้าตั้ง
ปลากะพงแดงหน้าตั้ง | |
---|---|
ปลากะพงแดงหน้าตั้งในวัยอ่อน | |
ในวัยโตเต็มที่ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Lutjanidae |
สกุล: | Lutjanus |
สปีชีส์: | L. sebae |
ชื่อทวินาม | |
Lutjanus sebae (Cuvier, 1816) | |
ชื่อพ้อง | |
|
ปลากะพงแดงหน้าตั้ง (อังกฤษ: Emperor red snapper) เป็นปลาน้ำเค็มกระดูกแข็งชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lutjanus sebae อยู่ในวงศ์ปลากะพงแดง (Lutjanidae)
มีรูปร่างป้อมสั้น ด้านข้างแบน ส่วนของท่อนหางยาว หัวโต บริเวณหัวส่วนบนมีลักษณะลาดชัน นัยน์ตามีขนาดใหญ่ ปากกว้างมีฟันซี่เล็ก ๆ เรียงเป็นแผง ครีบหลังมีฐานยาว ปลายเรียวแหลม ครีบก้นอยู่ใกล้กับคอดหางและมีส่วนปลายแหลม ครีบหูและครีบท้องมีส่วนที่เป็นก้านครีบแข็งมีจำนวนใกล้เคียงกัน ครีบหางยาวและเว้าลึก สีจะเข้มหรือจางขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของปลา ขณะที่เป็นปลาวัยอ่อนลำตัวจะมีสีชมพูและมีแถบสีดำเข้ม 3 แถบ พาดบริเวณส่วนหน้าผ่านนัยน์ตาไปจนบริเวณคาง ข้างลำตัวบริเวณครีบหู และข้างลำตัวโค้งจากบริเวณครีบหลังตอนที่ 2 ไปจรดท่อนหาง ดูแลสวยงามเห็นได้ชัดเจน เมื่อปลาโตขึ้น บริเวณส่วนหัวลาดชันขึ้น แถบดังกล่าวจะกลายเป็นสีแดงและเริ่มลดขนาดลง และเมื่อเจริญเติบโตเต็มวัย แถบสีดังกล่าวจะค่อย ๆ เลือนจางจนหายไปเมื่อปลาโตเต็มที่ เหลือแต่เพียงเป็นจุดสีแดงเรื่อ ๆ บนพื้นลำตัวสีขาวอมแดงเท่านั้น
มีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดขนาด 1 เมตร น้ำหนักราว 20-30 กิโลกรัม
พบกระจายพันธุ์อยู่ในบริเวณแนวปะการังและชายฝั่งของอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน ในวัยเล็กมักอาศัยอยู่คู่กับเม่นทะเล โดยว่ายผ่านไปมาระหว่างขนของเม่นทะเล เพื่อป้องตัวกันจากนักล่า
เป็นปลาที่นิยมรับมาบริโภคโดยการปรุงสุดเช่นเดียวกับปลากะพงแดงชนิดอื่น ๆ รวมทั้งเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ซึ่งพฤติกรรมในสถานที่เลี้ยงนั้น ปลากะพงแดงหน้าตั้งเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายมาก ทรหดอดทน ทนทานต่อโรค และกินอาหารง่ายแบบตะกละไม่เลือกทั้งอาหารสดหรืออาหารเม็ด[1][2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ช.ช้างน้ำ, "ไอ้หน้าตั้ง" หน้า 122-125 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 15 กันยายน 2011
- ↑ กะพงแดงหน้าตั้ง จากสนุกดอตคอม