ประติมากรรมหินแดแกบาลุส
ประติมากรรมหินแดแกบาลุส (โรมาเนีย: Sculptura în stâncă a lui Decebal) หรือ รูปหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุส (Chipul regelui dac Decebal) เป็นงานแกะสลักขนาดมหึมาแสดงรูปใบหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุส (ครองราชย์ ค.ศ. 87–106) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งดากิอา ผู้ต่อสู้ต้านทานจักรพรรดิดอมิติอานุสและจักรพรรดิตรายานุสแห่งจักรวรรดิโรมัน เพื่อปกป้องเอกราชของอาณาจักรของตนซึ่งมีอาณาเขตใกล้เคียงกับประเทศโรมาเนียในปัจจุบัน
ประติมากรรมนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองออร์ชอวา เทศมณฑลเมเฮดินตส์ สร้างขึ้นในระหว่างปี 1994 ถึง 2004 บนพื้นที่หินโผล่ริมแม่น้ำดานูบในช่วงประตูเหล็กซึ่งทำหน้าที่เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศโรมาเนียกับประเทศเซอร์เบีย ประติมากรรมนี้ถือเป็นงานสลักหินนูนต่ำที่สูงที่สุดในยุโรป ด้วยความสูง 55 เมตร (180 ฟุต) และความกว้าง 25 เมตร (82 ฟุต)
การสร้าง
[แก้]ยอซิฟ กอนสตันติน เดรอกัน นักธุรกิจชาวโรมาเนีย มอบหมายว่าจ้างให้สร้างประติมากรรมนี้ขึ้น โดยใช้เวลา 10 ปี กับประติมากร 12 คน กว่าที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ หัวหน้าประติมากรคือฟลอริน กอตาร์ชา ชาวออร์ชอวา[1] นักธุรกิจผู้นี้ได้ซื้อบริเวณหินโผล่นี้ในปี 1992 และมอบหมายให้มารีโอ กาเลออตตี นักออกแบบชาวอิตาลี มาประเมินสถานที่จริงและสร้างแปลนแรกเริ่ม หกปีแรกของการก่อสร้างหมดไปกับการระเบิดหินให้เป็นรูปพื้นฐานอย่างง่าย และอีกสี่ปีที่เหลือเป็นการแกะสลักรายละเอียด[2]
ด้านล่างใบหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุสมีจารึกภาษาละตินว่า "DECEBALUS REX—DRAGAN FECIT" ("กษัตริย์แดแกบาลุส — สร้างขึ้นโดยเดรอกัน") ประติมากรรมนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับป้ายระลึกแกะสลักที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำดานูบในเซอร์เบียและหันหน้าเข้าสู่โรมาเนีย ป้ายระลึกนี้มีชื่อว่าตราบูลาไตรยานา ซึ่งจารึกเชิดชูความสำเร็จของจักรพรรดิตรายานุสในการสร้างถนนทางทหารไปตามลำน้ำดานูบ จึงเป็นการระลึกถึงการที่กษัตริย์แดแกบาลุสปราชัยแก่จักรพรรดิตรายานุสในปี 105 เป็นผลให้อาณาจักรดากิอาตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน นอกจากนี้ เดรอกันยังต้องการให้ชาวเซอร์เบียฝั่งตรงข้ามแกะสลักรูปศีรษะของจักรพรรดิโรมันองค์นี้ให้ประจันหน้ากับใบหน้าของกษัตริย์แดแกบาลุส แต่ทางเซอร์เบียปฏิเสธ[3]
ความสำคัญ
[แก้]เดรอกันเป็นหนึ่งในผู้นำของขบวนการ protochronism และ Dacianism ซึ่งเป็นแนวคิดชาตินิยมที่พยายามจะแสดงภาพโรมาเนียในฐานะอู่อารยธรรมหลักผ่านการระบุโรมาเนียเป็นจักรวรรดิดากิอาและธราเชีย ซึ่งเข้าใจกันว่าในเวลานั้นครอบครองพื้นที่ยุโรปกลางได้[4][5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Daniela Schily, Matthias Eickhoff, Donau: von Regensburg zum Schwarzen Meer, DuMont Reiseverlag, 2010, p.237.
- ↑ "Fundatia Europeana Dragan, DECEBALUS REX DRAGAN FECIT, History of the monument". Decebalusrex.ro. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-14. สืบค้นเมื่อ 2014-08-15.
- ↑ Thorpe, Nick, The Danube: A Journey Upriver from the Black Sea to the Black Forest, Yale University Press, 2014. p.336.
- ↑ Katherine Verdery, National Ideology under Socialism. Identity and Cultural Politics in Ceaușescu's Romania, University of California Press, 1991
- ↑ Lucian Boia, History and Myth in Romanian Consciousness, Central European University Press, Budapest, 2001, p.105
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Sculpture of Decebalus (ในภาษาโรมาเนีย)
- Official website: Dragan European Foundation