นักบุญซาราห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซาราห์
นักบุญซาราห์ในแซ็งต์-มารี-เดอ-ลา-แมร์
เกิดเบเรนีกี
นับถือ ในศาสนาคริสต์
สักการสถานหลักโบสถ์แซ็งต์มารีเดอลาแมร์
วันฉลอง24 พฤษภาคม
องค์อุปถัมภ์ชาวโรมานี

นักบุญซาราห์ หรืออาจรู้จักในนาม ซาราผิวดำ (ฝรั่งเศส: Sara la noire, โรมานี: Sara e Kali) เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของชาวโรมานี (หรือเป็นที่รู้จักในนาม ยิปซี) มีศูนย์กลางทางความเชื่ออยู่ที่เทศบาลแซ็งต์-มารี-เดอ-ลา-แมร์ เมืองกามาร์ก ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ตามตำนานระบุว่านางเป็นคนรับใช้ของมารีย์ (คนใดคนหนึ่งในมารีย์ทั้งสาม) ซึ่งเคยเข้ามาถึงเมืองกามาร์กนี้ด้วย[1]

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นที่เข้าใจกันว่านักบุญซาราห์ คือคนเดียวกันกับพระแม่กาลี เทพเจ้าของชาวอินเดีย ซึ่งชาวอินเดียก็เป็นบรรพบุรุษของชาวโรมานี ครั้นเมื่อชาวโรมานีหันไปเข้ารีตศาสนาคริสต์ พระแม่กาลีจึงถูกผสานความเชื่อกลายเป็นนักบุญของศาสนาคริสต์ไป[2] โดยนักบุญซาราห์ได้รับการยกย่องว่า "เป็นเทพเจ้าผู้พิทักษ์ชาวโรมานี" และเป็น "ความเชื่อมโยงที่ไม่อาจปฏิเสธได้กับเทพเจ้าของอินเดีย"[2][3]

ตำนาน[แก้]

มีตำนานการข่มเหงคริสต์ศาสนิกชนยุคแรก อ้างว่าใน ค.ศ. 47 ลาซารัส มีพี่สาวชื่อมารธา มารีย์แห่งเบธานี มารีย์สะโลเม (มารดาของยอห์นอัครทูตและยากอบองค์ใหญ่) มารีย์แห่งโคลปัส และมักซิมินุสแห่งแอ็กซ์ ทั้งหมดถูกส่งออกทะเลด้วยเรือ และเดินทางจนไปถึงชายฝั่งทางตอนใต้ของกอลอย่างปลอดภัย ภายหลังได้เรียกสถานที่แห่งนั้นว่าแซ็งต์-มารี-เดอ-ลา-แมร์ ปรากฏหญิงนางหนึ่งมีนามว่า ซาราห์ เป็นสตรีชาวเบเรนีกี ผู้มีเชื้อสายอินเดียและอียิปต์ โดยเป็นหญิงรับใช้ผิวดำของนางมารีย์คนใดคนหนึ่งในสามคน แต่คาดว่าน่าจะเป็นมารีย์แห่งโคลปัส[4]

เข้าใจว่าความเชื่อเรื่องการมาถึงฝรั่งเศสของมารีย์ทั้งสามคงถูกสร้างขึ้นในช่วงยุคกลาง แต่เรื่องราวของนักบุญซาราห์ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ The Legend of the Saintes-Maries (1521; "ตำนานแห่งแซ็งต์-มารี") เขียนโดยแว็งซ็อง ฟีลิปปง (Vincent Philippon) ซาราห์มีบทบาทเป็น "...หญิงใจบุญที่ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการขอทาน ทำให้เชื่อกันไปว่านางเป็นชาวยิปซี..." ภายหลังซาราห์ได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญของชาวโรมานี[5]

แต่ในงานเขียนของฟร็องซ์ เดอ วีล (Franz de Ville) เมื่อ ค.ศ. 1956 ให้ข้อมูลว่า ซาราห์เป็นผู้ต้อนรับมารีย์ทั้งสาม ความว่า[6]

"...หนึ่งในพวกเราซึ่งได้รับวิวรณ์เป็นคนแรกคือซาราห์ นางเกิดในตระกูลสูงและเป็นหัวหน้าเผ่าของเธอริมฝั่งแม่น้ำโรน นางล่วงรู้ถึงสารที่ส่งถึงเธอ...ชาวโรม [คือชาวโรมานี] ในยุคนั้นเป็นพวกพหุเทวนิยม พวกเขาแบกเทวรูปเทพีอิชตาร์ขึ้นบ่าและพาลงไปในทะเลเพื่อรับพรที่นั่นปีละครั้ง วันหนึ่งซาราห์มีนิมิตแจ้งว่ามีนักบุญที่อยู่ในเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูจะเดินทางเข้ามา และเธอต้องช่วยพวกเขา ซาราห์เห็นพวกเขาโดยสารมากับเรือ แต่ทะเลมีคลื่นสูงนักและเรือลำนั้นก็จวนจะอัปปาง มารีย์สะโลเมโยนเสื้อคลุมลงบนคลื่นน้ำเพื่อใช้เป็นแพ ซาราห์รีบลอยคอไปหาเหล่านักบุญและช่วยพวกเขาขึ้นมาบนฝั่งด้วยการสวดภาวนา"

การแสวงบุญ[แก้]

การปฏิบัติบูชานักบุญซาราห์ภายในโบสถ์แซ็งต์มารีเดอลาแมร์

มีการแสวงบุญเพื่อบูชานักบุญซาราห์ในวันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี โดยจะทำรูปเคารพของนักบุญองค์นี้ลงทะเล เพื่อสื่อถึงการเข้าสู่ดินแดนฝรั่งเศสอีกครั้ง

นักเขียนบางคนให้ทัศนะเรื่องความคล้ายคลึงกันระหว่างธรรมเนียมการแสวงบุญของนักบุญซาราห์ กับการแสวงบุญและการบูชาพระแม่กาลี (ในรูปแบบของนางทุรคา)[7] ไว้ว่า

"...หากเราเปรียบเทียบพิธีกรรมทางศาสนาที่ศาลของนักบุญซารา (เรียกว่า ซารา เอ กาลี ในภาษาโรมานี) ในฝรั่งเศส ก็จะพบว่ามันคือพิธีกรรมบูชาพระแม่กาลี/ทุรคา/ซารา แต่ถูกเปลี่ยนไปยังคนที่นับถือศาสนาคริสต์แทน ... การอุทิศให้กับนักบุญซารา ซึ่งเป็น "นักบุญ" ที่ไม่มีอยู่จริงในฝรั่งเศส และเป็นธรรมเนียมการบูชาพระแม่กาลี/ทุรคา/ซาราของชนบางกลุ่มในอินเดีย..."[8]

และชื่อ "ซารา" ปราฏอยู่ใน ทุรคาสัปตศตี ซึ่งเป็นคัมภีร์เกี่ยวนางทุรคาของอินเดีย[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bart McDowell, Gypsies: Wanderers of the World, pp. 38–57.
  2. 2.0 2.1 Lee, Ronald (2002). "The Romani Goddess Kali Sara". Romano Kapachi. สืบค้นเมื่อ 26 December 2012.
  3. "RADOC". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2015.
  4. Michal Droit, Carmague, p. 19.
  5. "Myth 101 – Saint Sarah – OPUS Archives and Research Center". 15 February 2011.
  6. Franz de Ville, Traditions of the Roma in Belgium.
  7. Isabel Fonseca, Bury Me Standing: The Gypsies and Their Journey, pp. 106–107.
  8. Ronald Lee, "The Rom-Vlach Gypsies and the Kris-Romani", p. 210.
  9. Lee, R. (2002) The Romani goddess Kali Sara. [1]

บรรณานุกรม[แก้]

  • de Ville, Franz, Traditions of the Roma in Belgium, Brussels, 1956.
  • Droit, Michel, Carmague. Ernest and Adair Heimann (trans.). London: George Allen and Unwin, 1963.
  • Fonseca, Isabel, Bury Me Standing: The Gypsies and Their Journey. New York: Knopf, 1996.
  • Kinsley, David R. Hindu Goddesses: Visions of the Divine Feminine in the Hindu Religious Tradition.' Berkeley: University of California Press, 1988.
  • Lee, Ronald, "The Rom-Vlach Gypsies and the Kris-Romani", in: Walter Weyrauch (ed.), Gypsy Law: Romani Legal Traditions and Culture, Berkeley: University of California Press, 2001.
  • McDowell, Bart, Gypsies: Wanderers of the World', Washington: National Geographic Society, 1970.
  • Weyrauch, Walter, "Oral Legal Traditions of Gypsies", in: Walter Weyrauch (ed.), Gypsy Law: Romani Legal Traditions and Culture, Berkeley: University of California Press, 2001.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]