ท่านหญิงนิโจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท่านหญิงนิโจ
ชื่อท้องถิ่น
ごふかくさいんのにじょう
後深草院二条
เกิดค.ศ. 1258
ญี่ปุ่นยุคคามากูระ
อาชีพบาทบริจาริกา, ภิกษุณี, นักเขียน
ภาษาภาษาญี่ปุ่นยุคกลางช่วงหลัง
ช่วงเวลายุคคามากูระ
แนวอนุทิน
ผลงานที่สำคัญโทวาซูงาตาริ
ช่วงปีที่ทำงานต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14
คู่สมรสจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะ
คู่อาศัยไซอนจิ ซาเนกาเนะ
เจ้าชายโชโจะ
บุตร4 คน
ญาติโคงะ มิจิเตรุ (ปู่)
มินาโมโตะ โนะ มิจิจิกะ (เทียดฝั่งพ่อ)

ท่านหญิงนิโจ (ญี่ปุ่น: 後深草院二条โรมาจิGo-Fukakusain no Nijō; ค.ศ 1258 – หลัง ค.ศ. 1307) เป็นหญิงชนชั้นสูง กวี และนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น เคยเป็นบาทบริจาริกาในจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะช่วง ค.ศ. 1271–1283 ปัจฉิมวัยได้ออกบวชเป็นภิกษุณี หลังเดินทางมาหลายปี ช่วง ค.ศ. 1304–1307 เธอเขียนอนุทินเรื่อง โทวาซูงาตาริ (ฉบับแปลภาษาอังกฤษใช้ชื่อ The Confessions of Lady Nijō) ถือเป็นงานเขียนชิ้นเอก และเป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่ระบุประวัติส่วนตัวของเธอ

ประวัติ[แก้]

ชีวิตในราชสำนัก[แก้]

ท่านหญิงนิโจเกิดในตระกูลโคงะ ซึ่งเป็นสาขาของตระกูลมินาโมโตะ ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าชายโทโมฮิระ พระราชโอรสลำดับที่เจ็ดของจักรพรรดิมูรากามิ[1] ซึ่งจักรพรรดิโกะ-ซันโจทรงให้มินาโมโตะ โนะ โมโรฟูซะ พระโอรสของเจ้าชายโทโมฮิโระ เข้ารับราชการในราชสำนัก[1] ทั้งพ่อและปู่ของท่านหญิงนิโจล้วนดำรงตำแหน่งเป็นขุนนางชั้นสูงในราชสำนัก และเครือญาติของเธอหลายคนก็เป็นผู้มีชื่อเสียงด้านวรรณกรรม ชื่อจริงของท่านหญิงนิโจไม่เป็นที่ปรากฏ เพราะชื่อ "นิโจ" เป็นชื่อที่เรียกกันในราชสำนักที่กำหนดชื่อนางในเป็นชื่อถนนเพื่อบ่งฐานานุศักดิ์ของแต่ละคน โดย "นิโจ" แปลว่า "ถนนสายที่สอง" ถือเป็นตำแหน่งชั้นสูง เพราะใกล้ชิดกับ "ถนนสายที่หนึ่ง" อันเป็นที่ตั้งของราชมนเทียร[2]

ใน โทวาซูงาตาริ ระบุว่าจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะทรงมีจิตประดิพัทธ์กับซูเกได มารดาของท่านหญิงนิโจ แต่ไม่นานหลังจากนั้น นางให้กำเนิดท่านหญิงนิโจ และก็ถึงแก่กรรมให้กำเนิดบุตรสาวไม่นานนัก จักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะทรงเปลี่ยนพระทัยไปรักท่านหญิงนิโจแทน ท่านหญิงนิโจถูกขึ้นถวายตัวเมื่ออายุสี่ขวบ และได้รับการเลี้ยงดูอย่างกุลสตรีชาววัง ครั้น ค.ศ. 1271 ขณะท่านมีอายุ 14 ปี บิดาได้ถวายท่านหญิงขึ้นเป็นบาทบริจาริกาในจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะ[3] แต่ไม่มีหลักฐานว่าท่านหญิงนิโจได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาอย่างเป็นทางการ (เซไซ) หรือเป็นบาทบริจาริกาลับ (เมชูโดะ)[4]

ชีวิตในราชสำนักของท่านหญิงเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะเมื่อท่านอายุได้ 15 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรม ทำให้ท่านหญิงขาดผู้สนับสนุนในราชสำนัก[5] ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างท่านหญิงนิโจกับองค์จักรพรรดิก็เต็มไปด้วยความตึงเครียด เพราะท่านหญิงคบชู้กับชายหลายคนมานานหลายปี มีคนหนึ่งรู้จักกันมาก่อนที่ท่านจะถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา ท่านหญิงนิโจให้ประสูติการพระราชโอรสที่เกิดกับองค์จักรพรรดิใน ค.ศ. 1273 แต่ก็สิ้นพระชนม์ในปีถัดมา ส่วนบุตรอีกสามคนไม่ได้เกิดจากความสัมพันธ์กับองค์จักรพรรดิ โดยเกิดจากไซอนจิ ซาเนกาเนะ เป็นหญิงคนหนึ่ง (เกิดใน ค.ศ. 1275) และเกิดจากเจ้าชายโชโจะ เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ (ประสูติ ค.ศ. 1281) และโอรสองค์เล็ก (ประสูติ ค.ศ. 1282)[6] ทว่าการคบชู้ของท่านหญิงนิโจสร้างความไม่พอพระทัยกับจักรพรรดินีคิมิโกะ ซึ่งเป็นอัครมเหสีเป็นอย่างมาก ท้ายที่สุดท่านหญิงนิโจจึงถูกขับออกจากราชสำนักใน ค.ศ. 1283[6]

สู่ร่มกาสาวพัสตร์[แก้]

โทวาซูงาตาริ เล่ม 4 และ 5 กล่าวถึงชีวิตหลังถูกขับออกจากราชสำนัก ว่าต้องพบกับชีวิตเลวร้ายเช่นเดียวกับสตรีญี่ปุ่นยุคนั้นต้องพบเจอ ท่านหญิงนิโจออกบวชเป็นนางภิกษุณีในศาสนาพุทธ จาริกแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ตามรอยไซเงียว กวีและนักบวชนามอุโฆษ[6] ท่านหญิงอ้างว่าท่านได้เดินทางกลับไปราชธานีบ่อย ๆ แต่คิมูระ ซาเอโกะตั้งข้อสังเกตว่า การเดินทางบางส่วนไม่เกิดขึ้นจริง บางเรื่องก็ถูกสมมุติขึ้นมาเท่านั้น[4] โทวาซูงาตาริ เล่ม 4 เนื้อหาถูกข้ามมาใน ค.ศ. 1289 (นักวิชาการสันนิษฐานว่าเนื้อหาบางส่วนขาดหายไป) ในเล่ม 5 เนื้อหาก็ถูกข้ามไปอีกหลายปี มาปรากฏอีกครั้งในบทโศก ท่านหญิงนิโจกำสรวลเศร้าเนื่องจากการเสด็จสวรรคตของจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะใน ค.ศ. 1304 และ โทวาซูงาตาริ สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1306 ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับท่านหญิงนิโจ เข้าใจว่าท่านหญิงนิโจคงถึงแก่กรรมหลังจากนั้น

โทวาซูงาตาริ[แก้]

โทวาซูงาตาริ ถูกเขียนขึ้นช่วง ค.ศ. 1307 ครอบคลุมเหตุการณ์ช่วง ค.ศ. 1271–1306 ถือเป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของญี่ปุ่น[7] เพราะปรากฏเรื่องราวการคุกคามทางเพศ (การบังคับขู่เข็ญหรือใช้กำลังให้ร่วมเพศ) ที่หาได้ยากในวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่[8] ทว่างานเขียนของท่านหญิงนิโจกลับไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งก็เพราะถูกจำกัดโดยฝ่ายนิยมเจ้า หรือเพราะเนื้อหานั้นมีการพรรณนาถึงความเป็นมนุษย์และความสนิทสนมระหว่างท่านหญิงกับจักรพรรดิโกะ-ฟูกากูซะ และยังพบว่าใน ค.ศ. 1940 มีสำเนาของเอกสารฉบับคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถูกเก็บรักษาโดยยามางิชิ โทกูเฮ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Marra, Michele; Marra, Michael F. (1991). The Aesthetics of Discontent: Politics and Reclusion in Medieval Japanese Literature. Honolulu: University of Hawaii Press. p. 104. ISBN 0-8248-1336-7.
  2. Chakrabarti, Chandana; Haist, Gordon (2020). Revisiting Mysticism. Newcastle upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing. p. 8. ISBN 978-1-84718-558-7.
  3. Shirane, Haruo (2012). Traditional Japanese Literature: An Anthology, Beginnings to 1600, Abridged Edition. New York: Columbia University Press. p. 383. ISBN 978-0-231-15730-8.
  4. 4.0 4.1 国際文化教育センター., 城西大学. (2007). Aspects of classical Japanese travel writing. Center for Inter-Cultural Studies and Education, Josai University. OCLC 603749273.
  5. Musume, Nakanoin Masatada no; Brazell, Karen (1976). The Confessions of Lady NijÅ. Stanford, CA: Stanford University Press. pp. ix. ISBN 0-8047-0929-7.
  6. 6.0 6.1 6.2 Whitehouse, Wilfrid; Yanagisawa, Eizo (1974). Lady Nijo's Own Story: The Candid Diary of a Thirteenth-Century Japanese Imperial Concubine. Rutland and Tokyo: Charles E. Tuttle.
  7. "Preface". The Confessions of Lady Nijō. แปลโดย Karen Brazell. Stanford: Stanford University Press. 1976. ISBN 0-8047-0930-0.
  8. Tonomura, Hitomi (2006). "Coercive sex in the medieval Japanese court". Monumenta Nipponica. 61 (3): 283–338. doi:10.1353/mni.2006.0036. JSTOR 25066446. S2CID 162292906.
  9. Jones, T. C. (23 December 2017). "'The Confessions of Lady Nijo': a memoir of timeless depth and beauty". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 27 March 2019.