ข้ามไปเนื้อหา

ซุ้มเซนต์ปีเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซุ้มเซนต์ปีเตอร์

ซุ้มเซนต์ปีเตอร์ (อังกฤษ: 'St. Peter's baldachin') เป็นซุ้มสำริดที่สร้างโดยจานโลเรนโซ แบร์นินีที่ตั้งอยู่เหนือแท่นบูชาเอกภายใต้โดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในนครรัฐวาติกันในกรุงโรม ซุ้มสร้างขึ้นเพื่อหมายที่ตั้งของบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นที่ฝังพระศพของนักบุญปีเตอร์ตั้งแต่ดั้งเดิม สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8[1]ทรงเป็นผู้จ้างให้จานโลเรนโซ แบร์นินีเป็นผู้ออกแบบ การก่อสร้างซุ้มเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมของปี ค.ศ. 1623 และมาเสร็จลงในอีกสิบปีต่อมาในปี ค.ศ. 1633

ประวัติการก่อสร้าง

[แก้]

ซุ้มเซนต์ปีเตอร์เป็นงานขนาดใหญ่ชิ้นแรกของจานโลเรนโซ แบร์นินีที่ผสมประติมากรรมและสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกันซึ่งกลายมาเป็นจุดสำคัญของการวิวัฒนาการของออกแบบการตกแต่งภายในของประติมากรรมบาโรกภายในคริสต์ศาสนสถาน รูปทรงของซุ้มมาจากลักษณะการก่อสร้างซุ้มชิโบเรียมหรือศาลาชิโบเรียมซึ่งเป็นซุ้มหินเหนือแท่นบูชาที่ใช้กันมาก่อนหน้านั้นในวัดบางวัดในอิตาลี แต่งานออกแบบของแบร์นินีต่างออกไปจากซุ้มชิโบเรียมบ้างตรงที่แบร์นินีนำเอาลักษณะบางอย่างของการสร้างแท่นตั้งศพ (catafalque) เข้ามาผสมกับการออกแบบซุ้มชิโบเรียม และเพดานของซุ้มมีลักษณะคล้ายเพดานที่ทำด้วยผ้า เช่นเดียวกับพิดานศักดิ์ที่ใช้ปกป้องพระเศียรของพระสันตะปาปาในโอกาสวันศักดิ์สิทธิ์ แต่เพดานของซุ้มเซนต์ปีเตอร์ทำด้วยวัสดุอื่นแทนที่

การก่อสร้างและตกแต่งทำโดยแบร์นินีและเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนที่รวมทั้งฟรานเซสโก บอโรมินิผู้ช่วยออกแบบโครงสร้างและสเตฟาโน มาเดอร์โน (Stefano Maderno), ฟรองซัวส์ ดูเควนอย (François Duquesnoy), อันเดรอา โบลจิ, จูลิอาโน ฟิเนลลิ และลุยจิ แบร์นินี

ลักษณะ

[แก้]

ซุ้มเซนต์ปีเตอร์เป็นซุ้มลอยที่ตั้งอยู่เหนือแท่นยกสูงที่ตั้งอยู่เหนือที่ตั้งแท่นบูชาเอกของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่เชื่อกันว่าตั้งอยู่เหนือจุดที่เป็นที่ฝังพระศพของนักบุญปีเตอร์ ตัวซุ้มสร้างด้วยสัมริดบนเสาสี่เสา แต่ละเสาตั้งอยู่บนฐานหินอ่อนสูง

เสาสี่เสาแต่ละเส่สูง 20 เมตรมีลักษณะบิดเป็นเกลียวที่เรียกว่าเสาโซโลมอน (solomonic column) ที่ออกแบบตามรูปร่างของเสาที่เชื่อกันว่าเป็นเสาที่นำมาจากวัดแห่งเยรุซาเล็ม ที่ใช้เป็นซุ้มชิโบเรียมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เก่า (Old St. Peter's Basilica) ลำเสาแต่ละเสาหล่อเป็นสามช่วง แต่ละเสาตอนบนตกแต่งด้วยช่อลอเรลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 โปรด และเป็นสัญลักษณ์ของของความเป็นวีรบุรุษของโลกในสมัยโบราณ จิ้งเหลนที่เกาะอยู่ตามเถาไม้เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่และการแสวงหาพระเจ้า ผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของตระกูลบาร์แบรินิซึ่งเป็นตระกูลเกิดของพระสันตะปาปา

เหนือเสาสี่เสาเป็นบัวรอบที่เอนเล็กน้อยไปทางข้างในตามแบบบาโรก เหนือบัวขึ้นไปเป็นโค้งม้วนสี่ม้วนที่โค้งขึ้นไปจรดรับบัวตอนบนที่มีขนาดเล็กกว่าระดับล่าง เหนือบัวขึ้นไปบนยอดซุ้มเป็นลูกโลกประดับกางเขน บนมุมสี่มุมเหนือเสาบนฐานบัวต่ำลงมาจากลูกโลกเป็นเทวดาสี่องค์ที่ดูเหมือนเป็นจุดจบของโค้งม้วนสี่ม้วนที่กล่าว เทวดาเป็นฝีมือของแบร์นินีเอง จากบัวลงมาตกแต่งเป็นเชิงเว้าหยักมีพู่ห้อยที่คล้ายกับการตกแต่งพิดานศักดิ์ของพระสันตะปาปาที่ทำด้วยผ้า

ซุ้มเซนต์ปีเตอร์ตั้งเป็นจุดเด่นอยู่กลางมหาวิหารภายใต้โดม แม้ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่แต่ก็มีประสิทธิภาพในการเชื่อมระหว่างตัวสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดมหึมา กับแท่นบูชาของพระสันตะปาปาที่มีขนาดปกติ และการกระทำพิธีโดยพระสันตะปาปาและผู้ร่วมทำพิธีอื่นๆ ที่รวมไปถึงผู้อยู่ภายในบริเวณช่องทางเดินกลางของมหาวิหาที่มาเข้าร่วมพิธี การสร้างเป็นซุ้มโปร่งทำให้ไม่เป็นสิ่งที่กีดขวางทัศนมิติของผู้ที่ผู้อยู่ตรงช่องทางเดินกลางที่มองไปยังกลุ่มประติมากรรมที่อยู่เลยลึกเข้าไปจากซุ้มที่สร้างโดยแบร์นินีเพื่อตั้ง “บัลลังก์เซนต์ปีเตอร์” (cathedra petri)

สัมริดที่ใช้สร้างซุ้มเซนต์ปีเตอร์นำมาจากเพดานทางเข้าของตึกแพนธีอันที่ทำให้ปาสคิโน (Pasquino) ชาวโรมกล่าวเสียดสีว่า “สิ่งใดที่บาร์บาเรียนไม่ได้ทำลาย, บาร์แบรินิก็ทำลาย” (Quod non fecerunt barbari, fecerunt Barberini) แต่นักวิชาการอย่างน้อยก็คนหนึ่งกล่าวว่าสัมริด 90% ของตึกแพนธิออนนำไปใช้ในการสร้างปืนใหญ่ก่อนหน้านั้นแล้ว และสัมริดที่ใช้ในการสร้างซุ้มเซนต์ปีเตอร์มาจากซุ้มเซนต์ปีเตอร์เวนิส[2] เก็บถาวร 2007-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.

อ้างอิง

[แก้]
  1. CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: Pope Urban VIII [1]

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ซุ้มเซนต์ปีเตอร์