ข้ามไปเนื้อหา

เบญจาคริสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พิดานศักดิ์)
แกรนด์มาสเตอร์ประมุขของอัศวินเซนต์จอห์นนั่งภายใต้เบญจาบนแท่นโดยมีเบาะรองเท้า
การใช้เบญจาในขบวนแห่ทางศาสนาในเบลเยียม

เบญจา หรือ ผ้าประจำตำแหน่ง หรือ กลด (อังกฤษ: baldachin, baldaquin) เป็นเครื่องตกแต่งสำหรับแสดงฐานะที่ใช้ติดตั้งเหนือแท่นบูชา บัลลังก์ หรือเก้าอี้ หรือพระแท่นบรรทมหรือเตียง

ที่มา

[แก้]

เบญจาเริ่มด้วยการใช้ผ้าที่ขึงกางยื่นออกมาเหนือผู้ที่ได้รับการยกฐานะ[1] แต่ต่อมาก็เป็นวัสดุที่ถาวรขึ้นหรือกลายมาเป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่ถาวรโดยเฉพาะที่สร้างเหนือแท่นบูชาเอกภายในมหาวิหาร, บาซิลิกา หรือวัด ที่เรียกว่า “ซุ้มชิโบเรียม” ถ้าเป็นเพียงผืนผ้าก็อาจจะแขวนห้อยลงมาทางด้านหลังของผู้ที่นั่งอยู่ด้วยก็ได้

การใช้ในประวัติศาสตร์

[แก้]

ในยุคกลาง “ผ้ากั้นประจำตำแหน่ง” เป็นผ้าที่ขึงกางเหนือผู้มีตำแหน่งสูงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของผู้นั้น ที่นั่งภายใต้ผ้าที่แขวนไว้ก็มักจะตั้งบนแท่น การจัดระดับของ “ผ้ากั้นประจำตำแหน่ง” ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้ที่อยู่ภายใต้ผ้าขึงนั้น ผู้ที่ใช้ “ผ้ากั้นประจำตำแหน่ง” อาจจะเป็นพระมหากษัตริย์, ดยุก หรือสังฆราช

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 หนังสือวิจิตรแสดงภาพแกรนด์มาสเตอร์ผู้เป็นประมุขของลัทธิอัศวินเซนต์จอห์นที่โรดส์นั่งภายใต้เบญจาบนแท่นเพื่อรับหนังสือจากผู้ประพันธ์ ที่นั่งตั้งอยู่บนแท่นที่ปูด้วยพรม ด้านหลังตกแต่งด้วยพรมทอที่งดงาม เท้ารองด้วยเบาะ บางครั้งพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทรงได้รับการกั้นด้วย “กลดผ้าสี่เสา” ที่ถือโดยขุนนางระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือในพระราชพิธีสำคัญ ๆ

เลดี้มาร์กาเร็ต โบฟอร์ทพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษทรงเป็นผู้มีความสำคัญที่เห็นได้จากภาพเหมือนที่เขียนโดยจิตรกรนิรนามในปี ค.ศ. 1500 ภาพนี้เป็นภาพขณะที่มาร์กาเร็ตกำลังสวดมนต์อยู่ภายใต้เบญจาที่แขวนเหนือพระเศียรที่มีตราดอกกุหลาบทิวดอร์ ส่วนที่ห้อยไปทางด้านหลังที่มีตราอาร์มประจำพระองค์ทอฝังในเนื้อผ้า

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1520 พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสและสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษทรงพบปะกันในโอกาสพิเศษที่เรียกว่า “การพบปะที่ทุ่งทอง” (Field of Cloth of Gold) ที่เป็นโอกาสที่ทั้งสองพระองค์ใช้ในการแสดงความมีพระบรมราชานุภาพกันอย่างเต็มที่ ทุกอย่างที่ปรากฏในกระบวนการและพระราชพิธีมาจากการวางแผนอย่างละเอียดละออ แคเธอรีนแห่งอารากอนประทับภายใต้เบญจาที่ปักด้วยไข่มุกดูพระสวามีทรงประลองทวนบนหลังม้ากับพระเจ้าฟรองซัวส์

ในจุดสุดยอดของรัชสมัยอันสั้นของเลดี้เจน เกรย์ เกิดขึ้นเมื่อเฮนรี เกรย์ ดยุกแห่งซัฟโฟล์คที่ 1 (Henry Grey, 1st Duke of Suffolk) พ่อของของเลดี้เจนพยายามเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษที่ไปยกลูกของตนเองเป็นพระมหากษัตรีย์ โดยการรีบกลับมาทึ้งเบญจาของเลดี้เจนทิ้งและประกาศว่าเลดี้เจนมิได้เป็นพระราชินีอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ไปลงนามในประกาศที่เป็นผลทำให้แมรี ทิวดอร์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ

เบญจายังคงมีให้เห็นในท้องพระโรงพระราชบัลลังก์ (throne room) ในพระราชวังในบางแห่งในยุโรป

พระแท่นบรรทม

[แก้]

พระแท่นบรรทมหรือเตียงพิธีสำหรับแขกสำคัญ ๆ หรือสำหรับการให้กำเนิดรัชทายาทต่อหน้าพยานที่ได้รับเลือก ที่เป็นเตียงพิธีไม่ใช่เตียงในการหลับนอนประจำวัน[2] วิวัฒนาการระหว่างครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มาจากประเพณีการรับแขกในห้องนอน ห้องนอนจึงกลายมาเป็นห้องสุดท้ายและเป็นห้องที่เป็นส่วนตัวที่สุดของในวางผังห้องที่ประทับของสถาปัตยกรรมบาโรก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสทรงเป็นผู้วางระบบประเพณีการรับแขกในห้องบรรทม ที่ผู้ได้รับเชิญมีเพียงจำนวนจำกัดและเป็นผู้ที่ทรงเลือกแล้วเท่านั้น ไม่นานหลังจากนั้นพระมหากษัตริย์ในยุโรปต่างก็ทรงเลียนแบบรวมทั้งคู่อริคนสำคัญของพระองค์สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษผู้ทรงก่อตั้งตำแหน่ง “มหาดเล็กห้องพระบรรทม” (groom of the bedchamber) ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งอันมีเกียรติ

สมเด็จพระราชินีมาเรีย เลสซ์ซินสคาทรงได้รับเตียงพิธี (state bed) ที่แต่งด้วยเบญจาโดยไม่เห็นเสารองรับส่วนที่เป็นพิดาน เพื่อใช้ในการเป็นเครื่องตกแต่งชิ้นหลักในพระราชวังแวร์ซายส์ในปี ค.ศ. 1730- ค.ศ. 1735[3] นอกจากนั้นบัลลังก์ก็ยังสามารถย้ายเข้ามาตั้งแทนเตียงภายใต้เบญจาได้อย่างง่ายดาย เมื่อมาถึงสมัยมารี อองตัวเนตการใช้เตียงพิธีก็หมดสมัยไป

ซุ้มเซนต์ปีเตอร์

[แก้]

สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 ทรงจ้างให้จานโลเรนโซ แบร์นินีให้ออกแบบโครงสร้างสำหรับตั้งเหนือที่ฝังศพของนักบุญปีเตอร์ระหว่างการก่อสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม แบร์นินีออกแบบซุ้มที่ประกอบด้วยเสาโซโลมอน ขนาดยักษ์สี่เสารอบแท่นบูชาเอกของมหาวิหาร เสาโซโลมอนเดิมอุทิศให้แก่มหาวิหารโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 ตามธรรมเนียมแล้วเชื่อกันว่าเป็นเสาที่มาจากวัดโซโลมอนในเยรูซาเลม แต่อันที่จริงแล้วเสาที่ว่าอาจจะมาจากวัดในไบแซนเทียม ส่วนล่างที่สุดของเสาของแบร์นินีเป็นร่องเกลียว ตอนกลางและตอนบนตกแต่งด้วยช่อมะกอกและใบลอเรสที่เต็มไปด้วยผึ้งและยุวเทพเล็ก ๆ ที่ฐานของเสาทุกเสามีตราอาร์มของสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 และของตระกูลบาร์แบรินิซึ่งเป็นตระกูลเดิมของพระสันตะปาปาที่มีสัญลักษณ์เป็นผึ้ง การออกแบบทำให้สร้างความรู้สึกว่าเกลียวม้วนตัวกันขึ้นไปทางตอนบนของซุ้ม

เบญจาสำหรับขบวนแห่

[แก้]

นอกจากการใช้ที่ว่ามาแล้วเบญจาก็ยังใช้ในขบวนแห่อย่างเป็นทางการที่รวมทั้งในพระราชพิธีการเสด็จเข้าเมือง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีพระบรมศพ สำหรับแสดงฐานะของผู้มียศศักดิ์สูง หรือในขบวนแห่ทางคริสต์ศาสนา ที่มาของการใช้มาจากราชสำนักนีโอ-อัสซีเรียนที่นำมาใช้ในเอเธนส์อาจจะตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 แต่มาใช้สำหรับสตรีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5[4]

วัสดุที่ใช้ทำเบญจาก็มีหลายประเภทตั้งแต่มัสลินไปจนถึงผ้าทอลวดลายหนา (brocade) หรือบางครั้งก็อาจจะทำจากวัสดุที่ไม่ยืดหยุ่นเท่าใดนัก โดยมีเสาบาง ๆ สี่เสารับ

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Baldac is a medieval Latin form for Baghdad, whence fine silks reached Europe.
  2. Peter K. Thornton, Authentic Decor: the Domestic Interior 1620-1920, (London, 1985) and Seventeenth-Century Interior Decoration in England, France and Holland, (New Haven & London, 1981).
  3. ต่อมาเบญจาได้รับการทอใหม่สำหรับมารี อองตัวเนตเบญจาปัจจุบันสร้างที่ลิอองโดยบริษัทที่สร้างเบญจาเดิมที่สร้างเลียนแบบชิ้นที่สร้างในปี ค.ศ. 1787
  4. M. C. Miller, "The Parasol: An Oriental Status-Symbol in Late Archaic and Classical Athens
    1. " The Journal of Hellenic Studies, 112 (1992:91-105).

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เบญจา วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เบญจา