ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่น
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
อันดับ: Caudata
วงศ์: Cryptobranchidae
สกุล: Andrias
สปีชีส์: A.  japonicus
ชื่อทวินาม
Andrias japonicus
(Temminck, 1837)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Megalobatrachus japonicus (Reviewed by Sato 1943)[1]
กะโหลกซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่น

ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่น (อังกฤษ: Japanese giant salamander; ญี่ปุ่น: オオサンショウウオ, ハンザキโอซานโชอูโอ, ฮานซะกิ) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Andrias japonicus จัดอยู่ในวงศ์ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ (Cryptobranchidae)

ลักษณะ[แก้]

ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่น มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ซาลาแมนเดอร์ยักษ์จีน (A. davidianus) ที่พบในประเทศจีน โดยที่ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเท่าที่ยังมีเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมีขนาดเป็นรองจากซาลาแมนเดอร์ยักษ์จีน [2]

ขนาด[แก้]

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวได้ถึง 6 ฟุต มีลำตัวสีน้ำตาลมีจุดกระสีดำกระจายทั้งลำตัว ขามีขนาดเล็กมากจนไม่สมกับขนาดตัว นิ้วขาหลังมีทั้งหมดข้างละ 5 นิ้ว ขณะที่ขาหน้ามี 4 นิ้ว มีขนาดเล็กติดกันด้วยพังผืด หางมีความยาวและแบน ส่วนหัวแบนมากมีความกว้าง ปากมีขนาดใหญ่และกว้าง ตามีขนาดเล็ก

ถือเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่พบได้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นแห่งเดียวในโลกเท่านั้น โดยจะพบอาศัยในแหล่งน้ำที่เป็นน้ำใส มีออกซิเจนละลายในน้ำสูง และน้ำมีสภาพไหลเชี่ยวแรง เช่น ลำธารหรือน้ำตกในป่าดิบ โดยจะพบได้แถบภาคกลางของประเทศญี่ปุ่น เช่น เกาะฮอนชู มีอายุยืนได้ถึง 80 ปี

การดำรงชีวิต[แก้]

ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นดำรงชีวิตด้วยการกินปลา รวมถึงกุ้งปูในลำธารเป็นอาหาร จะอาศัยด้วยการหลบซ่อนใต้ก้อนหินใต้น้ำในเวลากลางวัน ออกหากินในเวลากลางคืนด้วยการดักซุ่ม ปกติแล้วเป็นสัตว์ที่รักสงบและเชื่องช้างุ่มง่าม แต่สามารถฉกกัดด้วยความดุร้ายและรุนแรงได้เมื่อถูกรบกวน มีผู้ถูกกัดเมื่อไปจับตัวอยู่บ่อย ๆ[2] มีประสาทสัมผัสเป็นตุ่มที่ผิวหนัง โดยเฉพาะที่ส่วนปาก เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ ในน้ำ[2] รวมถึงการดมกลิ่น มีการศึกษาพบว่าซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นจะจับปลากินเพียงวันละตัวเท่านั้น[3]

การขยายพันธุ์[แก้]

ในช่วงฤดูร้อน ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นจะออกมารวมตัวกันในลำธาร ด้วยการย้ายขึ้นไปยังบริเวณต้นน้ำ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องปีนป่ายขึ้นไปยังบนบกและใช้เวลานานนับสัปดาห์[3] เพื่อต่อสู้กันเพื่อแย่งอาณาเขตการผสมพันธุ์และเฟ้นหาตัวเมีย ด้วยการกัดกันอย่างรุนแรง[4] ด้วยการเลือกทำเลที่ทำรังริมฝั่งน้ำ โดยที่พฤติกรรมการวางไข่ยังคงเป็นปริศนา แต่เชื่อกันว่าซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นทุกตัวจะเดินกันเป็นวงกลม และเมื่อตัวเมียปล่อยไข่ ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าปฏิสนธิ ตัวที่ใหญ่ที่สุดจะปล่อยน้ำเชื้อมากที่สุดและไข่จะได้รับน้ำเชื้อมากที่สุด โดยใช้เวลาวางไข่ประมาณ 2 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 500 ฟอง ซึ่งตัวเมียอาจจะวางไข่ได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่เมื่อเสร็จแล้วก็จะกลับไปยังถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงตัวผู้ตัวอื่น ๆ ด้วย ยกเว้นตัวผู้ตัวที่เป็นผู้ทำรังจะเฝ้าดูแลไข่ ไข่ใช้เวลาฟักเกือบ 50 วัน ความยาวแรกเกิดเพียง 30 มิลลิเมตร ตาค่อนข้างโต ขาก็ยังไม่พัฒนาเต็มที่ และมีพู่เหงือกปรากฏเห็นชัดเจน ในช่วงนี้จะหายใจด้วยเหงือกเหมือนกับปลา จนกว่าจะอายุครบ 4 ปี การเคลื่อนไหวจึงต้องใช้การว่ายน้ำคล้ายกับปลาหรือลูกอ๊อด อีกทั้งยังมีถุงไข่แดงสีเหลืองใช้สำหรับเป็นอาหารสำรอง เมื่อถุงนี้ยุบลง

ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ลูกผสมในวัยอ่อน

จึงจะออกหากินด้วยตัวเอง โดยมีซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นตัวผู้คอยดูแล จนกว่าอายุจะครบ 4 เดือน เมื่อฤดูกาลผ่านจากช่วงฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดู หนาว เมื่อลูกซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นความยาวได้ 4 เซนติเมตร ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ก็จะออกหากินด้วยตัวเอง แต่ในช่วงที่เป็นวัยอ่อนนั้นไม่สามารถที่ป้องกันตัวเองได้ จึงต้องซ่อนตัวอยู่ใต้กองใบไม้หรือก้อนหินใต้น้ำ มีลูกซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นเพียง 1 ใน 500 ตัวเท่านั้นที่จะเจริญเติบโตจนเป็นวัยเต็มตัว[3]

ปัจจุบัน ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นบางส่วนได้มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับซาลาแมนเดอร์ยักษ์จีน ทำให้สายพันธุ์ดั้งเดิมสูญเสียไป ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาและอนุรักษ์ส่วนนี้ จะทำการแยกตัวที่เป็นลูกผสมออกมาจากที่อยู่ธรรมชาติ ซึ่งสถานะของซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ความเชื่อโบราณ[แก้]

นอกจากนี้แล้ว ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นยังถูกเชื่อมโยงว่า อาจเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่มีเด็กหรือผู้คนจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำของพรายน้ำที่เรียกว่า "กัปปะ" (河童) อีกด้วย[2] แต่ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่นก็ถูกจับเพื่อรับประทานเป็นอาหารเหมือนกับซาลาแมนเดอร์ยักษ์จีนด้วย[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Amphibian Species of the World - Andrias japonicus (Temminck, 1836)". Research.amnh.org. สืบค้นเมื่อ 2010-02-04.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 รายการ River Monsters ตอน Japanese Giant Salamander ทางอนิมอล พลาเน็ท
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "041255 ซาลามันเดอร์ยักษ์". ช่อง 9. 10 December 2012. สืบค้นเมื่อ 22 December 2015.
  4. Japan, "Mutant Planet", สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 26 มกราคม 2556