จารึกนครชุม
จารึกนครชุม | |
---|---|
จารึกนครชุม ด้าน 1 และ 2 | |
วัสดุ | หินทรายแป้ง แทรกสลับกับหินดินดาน |
ความสูง | 193 เซนติเมตร |
ความกว้าง | 47 เซนติเมตร |
ความลึก | 6 เซนติเมตร |
ตัวหนังสือ | อักษรไทยสุโขทัย |
ช่วงเวลา/วัฒนธรรม | พุทธศักราช 1900 |
ค้นพบ | พุทธศักราช 2464 วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร |
ค้นพบโดย | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
ที่อยู่ปัจจุบัน | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร |
เลขประจำตัว | จารึกหลักที่ 3 จารึกนครชุม (กองหอสมุดแห่งชาติ), กพ. 1 (หนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1) |
https://finearts.go.th/museumbangkok/view/41594 |
จารึกนครชุม เป็นจารึกที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1900 เป็นศิลาจารึกที่เก่าที่สุด ที่มีการระบุถึงคติ "ปัญจอันตรธาน" หรือคำสอน "สัทธรรมอันตรธาน 5" เอาไว้อย่างชัดเจน [1]
ลักษณะ
[แก้]จารึกนครชุม มีลักษณะเป็นใบเสมาคล้ายกลีบบัว กว้าง 47 เซนติเมตร สูง 193 เซนติเมตร หนา 6 เซนติเมตร ด้านที่ 1 มี 78 บรรทัด และด้านที่ 2 มี 58 บรรทัด แต่ด้านที่ 2 มีชำรุดอย่างมาก ข้อความขาดหายไป[1]
การค้นพบ
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2392 พระยากำแพงเพชร (น้อย) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขึ้นมาที่เมืองกำแพงเพชรเพื่อพระราชเพลิงศพท่านผู้หญิงแพง[2] ได้มีการพบจารึกนี้ที่อุโบสถวัดเสด็จ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) อ่านและแปลความได้ว่า พระเจดีย์โบราณบริเวณริมแม่น้ำปิงฝั่งตรงข้ามเมืองเก่ามีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุ เมื่อไปแร้วถางในบริเวณก็พบพระบรมสารีริกธาตุตามที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ระบุ โดยประวัติการค้นพบนี้ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2449[3]
ต่อมาปี พ.ศ. 2429 ได้มีการนำจารึกนี้พร้อมกับรูปพระอิศวร (หลักที่ 13) ไปกรุงเทพฯ เนื่องด้วยรัชกาลที่ 5 มีเกรงว่าของเหล่านี้เป็นโบราณวัตถุ หากปล่อยทิ้งไว้จะชำรุดเสียหายได้[1] โดยนำมาเก็บรักษาไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร[4] แต่ก็ไม่มีการระบุว่าพระเจดีย์ที่ระบุในจารึกคือที่ใด และก่อนที่จะมาอยู่ที่วัดเสด็จ จารึกนี้อยู่ที่ใด ทราบเพียงแต่ว่าได้มาจากเมืองกำแพงเพชร[3]
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2464 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จกลับจากเชียงใหม่ และได้มาพักที่กำแพงเพชร ได้สอบถามกับพระครูธรรมาธิมุตมุนี (ศรี) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ถึงที่มาของจารึกนี้ เพราะทราบเพียงว่าได้มาจากเมืองกำแพงเพชร[1] จึงได้ความว่า จารึกนี้เป็นของวัดพระบรมธาตุนี้ ก่อนจะนำไปเก็บรักษาที่วัดเสด็จ ดังปรากฏหลักฐานคือ ฐานศิลาแลงสำหรับตั้งจารึกบริเวณมุขเด็จ ที่มีขนาดพอดีกับจารึกนครชุม[1]
“...กลับมาแวะวัดมหาธาตุ ถามพระครูถึงเรื่องศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย (คือศิลาจารึกหลักที่ 3) ซึ่งอยู่ในหอพระสมุดฯ ทราบว่าได้ไปจากเมืองกำแพงเพ็ชร แต่ยังไม่ทราบว่าเดิมทีเดียวอยู่ที่ไหน ได้ความจากพระครูชัดเจนว่าศิลาจารึกแผ่นนั้น เดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุนี้เอง ตั้งอยู่ในมุขเด็จวิหารหลวง ภายหลังผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพ็ชร เอาไปรักษาที่วัดเสด็จ แล้วจึงส่งลงไปกรุงเทพฯ พระครูได้พาไปดูฐานที่ตั้งศิลาจารึกแผ่นนั้น ยังอยู่ที่มุขเด็จเป็นศิลาแลงแท่งใหญ่ เจาะกลางเป็นช่องเฉพาะฝังโคนศิลาจารึก พิเคราะห์ดูช่องพอได้กับศิลาจารึก เพราะฉะนั้นเป็นรู้แน่ว่าศิลาจารึกแผ่นนั้นพระมหาธรรมราชาลิไทยทำไว้ที่วัดนี้... ”
— สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ[5]
ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการค้นพบก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีการอนุญาตให้คหบดีชาวพม่า ชื่อพญาตะกา[1] มาบูรณะเจดีย์ของวัดพระบรมธาตุ ทำให้เจดีย์เปลี่ยนรูปร่างกลายเป็นเจดีย์แบบพม่า มิใช่เจดีย์แบบสุโขทัยอย่างที่ระบุในจารึก[1]
ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่ ห้องสุโขทัย อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[4]
เนื้อหา
[แก้]ในจารึกระบุศักราช 1279 ปีระกา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าเป็น "มหาศักราช" ตรงกับปี พ.ศ. 1900 แต่จากการคำนวณของศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ เห็นว่าน่าจะตรงกับ พ.ศ. 1901[6]
ส่วนแรกของจารึกระบุถึงการที่พระมหาธรรมราชาที่ 1[7] (ลิไท) ในจารึกระบุว่าฦาไทย พร้อมทั้งระบุพงศาวลีว่า เป็นลูกพระยาเลอไทย และเป็นหลานพระยารามราช โดยพระองค์ได้นำพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองลังกามาไว้ที่เมืองนครชุมและได้ก่อพระเจดีย์ไว้[4] นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ไว้ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย[7]
โดยสาเหตุที่ต้องมีการนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ เพื่อเตือนให้ทำบุญกุศล เพราะในอนาคตข้างข้างหน้า จะเกิดเหตุ "ปัญจอันตรธาน" อันเป็นดับสูญของพระพุทธศาสนา [7]
ในจารึกระบุเหตุที่จะเกิดขึ้น คือ[8]
- อีก 99 ปี จากที่สร้างจารึกนี้ หรือราว พ.ศ. 2000 พระไตรปิฏกอันเป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเสื่อมสูญไป หาคนรู้แท้ไม่ได้ หรือ "ปริยัติอันตรธาน"
- พ.ศ. 3000 พระวินัยปฏิบัติของสงฆ์จะเสื่อมสูญไป หรือ "ปฏิบัติอันตรธาน"
- พ.ศ. 4000 พระสงฆ์จะเสื่อมสูญไป ไม่มีการห่มจีวร คงมีเพียงแต่ผ้าสีเหลืองเหน็บหูไว้เท่านั้น หรือ "ลิงคอันตรธาน"
- พ.ศ. 5000 พระธาตุทั้งหลาย จะไปประชุมรวมกันที่ลังกาทวีป และลุกเป็นไฟ เมื่อนั้นศาสนาจะเสื่อมสูญไป หรือ "ธาตุอันตรธาน"
ทั้งนี้ ในจารึกไม่มีการระบุถึง "ปฏิเวธอันตรธาน" คือการสูญไปซึ่งพระอรหันต์ อาจเพราะเหตุดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้ว[7]
ส่วนการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นการสร้าง "เจติยะ" หรือสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชาซึ่งทรงอานิสงส์สูง เพื่อให้ราษฎรมากราบไหวนมัสการสะสมบุญกุศล[7] ประกอบการที่พระองค์เลือกที่จะใช้อักษรไทย ก็เพื่อให้ราษฎรอ่านเข้าใจและเผบแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง[7]
เนื้อหาส่วนต่อมา เป็นส่วนที่ชำรุดเสียหายมาก แต่สามารถสรุปใจความได้ว่าเป็นการยกยศสรรเสริญพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ซึ่งรวบรวมเมืองต่าง ๆ ที่แยกตัวออกจากสุโขทัยหลังรัชสมัยของพ่อขุนราชคำแหง[7] และโปรดให้จำลอง "รอยพระพุทธบาท" ไว้ที่เมืองเหล่านั้น เช่น เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสุโขทัย เมืองบางพาน (บริเวณบ้านวังพาน ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร)[4] และเมืองปากพระบาง (บริเวณอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์)[4][6]
ความสำคัญ
[แก้]- แสดงให้เห็นถึงประเพณีทางศาสนาพุทธ เช่น การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ การจำลองรอยพระพุทธบาท และความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์[6]
- แสดงให้เห็นถึงการอ้างสิทธิธรรมในฐานะ "พระจักรพรรดิราช" โดยการอ้างว่าเป็นผู้สืบสันตติวงศ์มาจากพ่อขุนราชคำแหง ได้รับฉันทามติให้ปกครอง มีความสามารถและบุญญาธิการเพียงพอที่จะปกครองอาณาจักร[7]
- แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองนครชุมในอดีต ซึ่งอาจเป็นเมืองที่ควบคุมเส้นทางทางการค้า ใช้ในการป้องกันการแผ่อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา[7]
- พ.ศ. 2499 - หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาค 1 เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง
- พ.ศ. 2512 - หนังสือแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 3 ฉบับที่ 3
- พ.ศ. 2516 - หนังสือพงศาวดารโยนก
- พ.ศ. 2521 - หนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1
- พ.ศ. 2526 - หนังสือจารึกสมัยสุโขทัย
- ไม่ปรากฎปีพิมพ์ - หนังสือวชิรญาณ เล่มที่ 1 ภาค 2
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย | จารึกนครชุม (sac.or.th)
- ↑ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) กับจารึกนครชุม (kpru.ac.th)
- ↑ 3.0 3.1 พญาลิไทกับวัดพระบรมธาตุนครชุม (kpru.ac.th)
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 จารึกหลักที่-๓-จารึกนครชุม
- ↑ [1] จารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
- ↑ 6.0 6.1 6.2 น้อมนิจ วงศ์สุทธิธรรม. วรรณคดีสุโขทัย. ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 7.8 การประกาศคติปัญจอันตรธาน และสถาปนาพระบรมธาตุ ที่เมืองนครชุม ของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ใน พ.ศ. 1900. ดำรงวิชาการ, มกราคม - มิถุนายน 2566. 235 - 257
- ↑ การศึกษาคติปัญจอันตรธานในประเทศไทยจากหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-21, วิทยานิพนธ์ – โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- จารึกนครชุม - ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร