ข้ามไปเนื้อหา

งานศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนภาพแสดงจุดเริ่มต้นและทิศทางการดำเนินงานของงานศึกษามีกลุ่มควบคุม เทียบกับงานศึกษาตามรุ่น (cohort study) ในงานศึกษามีกลุ่มควบคุม เริ่มต้นจากข้อมูลการเกิดโรค ผู้วิจัยจะตรวจสอบและวิเคราะห์หาเหตุของโรค ส่วนในงานศึกษาตามรุ่น เริ่มต้นจากสมมุติฐานของโรค ผู้วิจัยจะสังเกตดูปัจจัยที่เป็นสมมุติฐานของโรคสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของโรค[1] การศึกษาตามรุ่นตามแผน หรือในอนาคต (prospective) จะศึกษาการเกิดของโรคในอนาคต ส่วนการศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง (retrospective) จะศึกษาการเกิดของโรคที่มีแล้ว

งานศึกษาตามรุ่นย้อนหลัง[2] (อังกฤษ: retrospective cohort study, historic cohort study) เป็นการศึกษาที่โดยทั่ว ๆ ไป สำรวจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ยกตัวอย่างเช่น เมื่อใช้ในการแพทย์ เป็นงานที่ตรวจสอบประวัติคนไข้ หรือประวัติการใช้ชีวิต การศึกษาตามรุ่นย้อนหลังมีประวัติเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการศึกษาตามรุ่นตามแผน (prospective cohort studies)[3]


การออกแบบ

[แก้]

งานศึกษาประเภทนี้เป็นงานวิจัยทางการแพทย์ ที่ตรวจสอบประวัติการแพทย์ของกลุ่มบุคคลที่คล้ายคลึงกันในหลาย ๆ ด้าน แต่ต่างกันตรงลักษณะที่เป็นประเด็นการศึกษา (ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนางพยาบาลที่สูบหรือไม่สูบบุหรี่) เพื่อหาความสัมพันธ์กับผลทางสุขภาพ (เช่นโรคมะเร็ง)[4] ค่า risk ratio (อัตราความเสี่ยง) และ odds ratio จะสามารถใช้ประเมินความเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk) ได้[5]

ในงานศึกษาประเภทนี้ นักวิจัยจะเก็บข้อมูลที่บันทึกไว้ในอดีต และจะไม่ติดตามคนไข้เหมือนกับที่ทำในการศึกษาตามแผน แต่ว่า จุดเริ่มต้นของงานศึกษา คือการกำหนดกลุ่มการศึกษาที่ได้รับหรือไม่ได้รับปัจจัยที่เป็นประเด็น จะเหมือนกันในงานศึกษาตามรุ่นทุกรูปแบบ เพียงแต่งานศึกษาย้อนหลังจะตรวจดูการเกิดโรคซึ่งเป็นข้อมูลที่มีบันทึกไว้แล้ว ส่วนงานศึกษาตามแผนจะติดตามคนไข้เพื่อตรวจสอบข้อมูลการเกิดของโรคที่จะมีต่อไปในอนาคต

ฉะนั้น ในงานศึกษาย้อนหลัง เหตุการณ์ทุกอย่างคือ การได้รับปัจจัยที่เป็นประเด็น ช่วงเวลาที่ยังไม่ปรากฏโรค และผลที่เกี่ยวกับโรค (เช่นการเกิดขึ้นของโรค) ล้วนแต่ได้เกิดแล้วในอดีต ดังนั้น จึงเป็นการเก็บข้อมูลที่มีอยู่แล้ว แล้วตรวจสอบว่า มีความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยความเสี่ยงที่เป็นประเด็นการศึกษา กับการเกิดโรคหรือไม่ ส่วนงานศึกษาตามแผนเริ่มจากกลุ่มสองกลุ่มในปัจจุบัน แล้วติดตามในอนาคตต่อไปว่าจะเกิดโรคหรือไม่

มีความสำคัญที่จะเข้าใจว่า ระเบียบวิธีของทั้งการศึกษาตามแผนและการศึกษาย้อนหลังต่างก็เป็นแบบเดียวกัน แต่การศึกษาย้อนหลังทำหลังจากเกิดเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว (post-hoc) ส่วนการศึกษาตามแผนทำไปตามแผน (หรือทำต่อไปในอนาคต) แต่ว่า งานศึกษาย้อนหลังจะใช้เวลาเพียงแค่รวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ แล้วตีความข้อมูลเหล่านั้นเท่านั้น[6] เป็นการตรวจสอบปัจจัยความเสี่ยงและปัจจัยความคุ้มครอง เปรียบเทียบกับผลที่เกิดขึ้นแล้ว ในช่วงเวลาที่เริ่มงานศึกษา[5]

แต่ว่าเป็นการศึกษาที่ต้องอาศัยความระมัดระวังมาก เพราะว่า ข้อผิดพลาดเนื่องจากตัวแปรสับสน (confounding) และความเอนเอียง (bias) ในงานศึกษาย้อนหลัง สามัญกว่าในงานศึกษาตามแผน[5]

ข้อดี

[แก้]

งานศึกษาย้อนหลังมีข้อดีเมื่อเทียบกับงานศึกษาตามแผนคือ

  • เป็นงานขนาดเล็กกว่า[7]
  • ใช้เวลาน้อยกว่า[7]
  • ดีกว่าเมื่อต้องวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นหลายอย่าง[8]
  • ในการแพทย์ สามารถใช้ศึกษาโรคหายาก ซึ่งถ้าจะทำในงานตามแผน จะต้องเป็นกลุ่มรุ่นที่ใหญ่มาก[7] เพราะว่าในงานแบบย้อนหลัง คนที่มีโรคชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงช่วยการศึกษาโรคหายากได้ดีเป็นอย่างยิ่ง[9]
  • โดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่างานตามแผน[8] เพราะว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการได้รับปัจจัยและการเกิดโรคหรือผลอย่างอื่น ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น จึงสามารถทุ่มทรัพยากรเพื่อเก็บข้อมูลอย่างเดียว[8]
  • มีประโยชน์ทั่ว ๆ ไปเหมือนกับงานศึกษาตามรุ่นทุกอย่าง

ข้อเสีย

[แก้]

งานย้อนหลังมีข้อเสียเมื่อเทียบกับงานตามแผน ที่สำคัญรวมทั้ง

  • ค่าทางสถิติบางอย่างไม่สามารถวัดได้ และอาจจะเกิดความเอนเอียงอย่างมีนัยสำคัญ ในการเลือกกลุ่มควบคุม[7]
  • ความเอนเอียงอย่างอื่น ๆ สามารถมีผลต่อการระลึกข้อมูลการได้รับปัจจัยความเสี่ยงที่เป็นประเด็นการศึกษา ที่ตรงกับความจริง[7] ความเอนเอียงรวมทั้ง ความเอนเอียงโดยการคัดเลือก (selection bias) และ information bias (การวัดค่าผิดจากความจริง) ที่เกิดเพราะทำการย้อนหลัง[10]
  • ลำดับเวลาที่ได้รับปัจจัยกับการเกิดของโรค บ่อยครั้งยากที่จะประเมิน[8]
  • ผู้วิจัยไม่สามารถควบคุมการประเมินค่าการรับปัจจัย (exposure) และผลที่เกิดขึ้น แต่ต้องอาศัยผู้อื่นในการวัดและการบันทึกค่าที่ถูกต้อง[8] ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำการเปรียบเทียบที่ถูกต้อง ระหว่างการได้รับปัจจัยกับการไม่ได้รับ[8]
  • งานย้อนหลังอาจจะต้องมีตัวอย่างมาก ในการศึกษาผลที่หายาก[8]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. Meirik, O. "Cohort and Case-Control Studies". ใน Campana, Aldo (บ.ก.). Reproductive Health. Geneva Foundation for Medical Education and Research.
  2. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ "cohort" ว่า "ตามรุ่น" เช่น "cohort analysis" แปลว่า "การวิเคราะห์ตามรุ่น", และ "retrospective study" ว่า "การศึกษาย้อนหลัง"
  3. Doll, Richard. "Cohort studies: history of the method II. Retrospective cohort studies" (PDF). History of epidemiology.
  4. "Definition of historic cohort study - NCI Dictionary of Cancer Terms".
  5. 5.0 5.1 5.2 "Prospective vs. retrospective studies". StatsDirect Limited. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-02. สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.
  6. doi:10.1136/emj.20.1.54
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand บทความเต็มPDF (233 KB)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 "retrospective study". สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 Hyde, James N. "Retrospective Cohort Study: Strengths and Weaknesses". Epidemiology and Biostatistics - Lecture 2: Observational Studies. Tufts University. สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.
  9. "4. The epidemiological approach to investigating disease problems". Food and Agriculture Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-06. สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.
  10. "Lesson 9: Cohort Study Design; Sample Size and Power Considerations for Epidemiologic Studies". STAT 507: Epidemiological Research Methods. The Pennsylvania State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-20. สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.