ข้ามไปเนื้อหา

คดีระหว่างพนักงานอัยการ กับพิมล กาฬสีห์ และนภาพันธ์ กาฬสีห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


คดีระหว่างพนักงานอัยการ กับพิมล กาฬสีห์ และนภาพันธ์ กาฬสีห์
(คดีตุ๊กตา)
สาระแห่งคดี
ข้อกล่าวหา จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจารผู้เสียหาย
คำฟ้อง โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 21 เมษายน 2509
คู่ความ
โจทก์ พนักงานอัยการ กรมอัยการ
จำเลย • พิมล กาฬสีห์, ที่ 1
• นภาพันธ์ กาฬสีห์, ที่ 2
บุคคลอื่น เพ็ชร์ ทิวาพัฒน์, ผู้เสียหาย
ศาล
ศาล ไทย ศาลฎีกา
องค์คณะ ศริ มลิลา
ยง เหลืองรังษี
สุทิน เกษคุปต์
คำพิพากษา
คำพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 250/2510
พิพากษา
" จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำฟ้อง
กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนดสามปี หนึ่งเดือน
ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุกสองปี "
ลงวันที่ 22 มีนาคม 2510
มติ มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ 8/2510
กฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา
(มาตรา 276 ข่มขืนกระทำชำเรา,
278 กระทำอนาจาร,
83 ตัวการ,
90 กรรมเดียวหลายบท)
เว็บไซต์
ดูเบื้องล่าง

"คดีระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ กับพิมล กาฬสีห์ จำเลยที่ 1 และนภาพันธ์ กาฬสีห์ จำเลยที่ 2 เรื่อง ความผิดเกี่ยวกับเพศ" หรือเรียกโดยย่อว่า "คดีระหว่างพนักงานอัยการ กับพิมล กาฬสีห์ และนภาพันธ์ กาฬสีห์" เป็นคดีอาญาในประเทศไทย ซึ่ง พนักงานอัยการ กรมอัยการ (“โจทก์”) ฟ้อง พิมล กาฬสีห์ เป็นจำเลยที่ 1 (“จำเลยที่ 1”) และ นภาพันธ์ กาฬสีห์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น อรพรรณ กาฬสีห์[1]) ภริยาจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 (“จำเลยที่ 2”) กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจาร เพ็ชร์ ทิวาพัฒน์ ผู้เสียหาย (“ผู้เสียหาย”) ซึ่งเป็นสาวใช้ของจำเลยทั้งสอง โดยพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ล่อลวงผู้เสียหายมาเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยที่ 1 และในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนบรรลุความเสียวสุดยอดทางเพศถึงห้าครั้ง จำเลยที่ 2 ได้กระทำการต่าง ๆ เพื่ออำนวยการข่มขืนนั้นด้วย โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา (“ป.อ.”)

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามโจทก์ฟ้อง และลงโทษจำเลยที่ 1 ให้จำคุกห้าปี หนึ่งเดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุกสามปี จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าผู้เสียหายจะถูกจำเลยกระทำชำเราจริง หากเห็นว่าผู้เสียหายสมัครใจ จึงให้ยกคำฟ้องของโจทก์

โจทก์จึงฎีกา และจำเลยที่ 2 โต้แย้งว่า ตนเป็นหญิง ไม่สามารถเป็นตัวการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงด้วยกันได้ ข้อโต้แย้งนี้ได้นำขึ้นสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ครั้งที่ 8/2510 ซึ่งมีมติว่า หญิงก็เป็นตัวการข่มขืนหญิงได้ และศาลฎีกาพิเคราะห์พฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบผลตรวจทางการแพทย์แล้ว เห็นว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเราตามคำฟ้อง จึงกลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในที่สุด

คดีนี้เป็นที่กล่าวขวัญมากในช่วงปีที่เกิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นนักเขียนการ์ตูนมีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอย่างสูง มีนามปากกว่า "ตุ๊กตา"[2] คดีนี้จึงรู้จักกันโดยทั่วไปว่า "คดีตุ๊กตา"[3]

ศาลล่าง

[แก้]

ศาลชั้นต้น

[แก้]

คำฟ้องโจทก์

[แก้]

ใน พ.ศ. 2506 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์ สรุปได้ว่า

  1. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2506 เวลา 17:00 นาฬิกา จำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นสามีภริยากัน อาศัยอยู่ ณ ตำบลปากคลอง อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบัน คือ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร) ได้รับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นมีอายุยี่สิบสามปี มาทำงานเป็นสาวใช้ในบ้านของทั้งคู่ โดยให้ค่าจ้างเดือนละสองร้อยบาท และจัดให้พักอยู่ในห้องติดกับครัว
  2. คืนวันที่ 28 กรกฎาคม 2506 นั้น ผู้เสียหายเข้านอนได้ครู่หนึ่งก็ลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ พบจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ริมบันได ให้ผู้เสียหายไปตักน้ำมาให้ และใช้ให้ผู้เสียหายขึ้นมายังชั้นบน เพื่อให้นวดจำเลยที่ 1 ซึ่งนอนเปลือยท่อนบนอยู่บนเตียง โดยจำเลยที่ 2 กล่าวว่า ที่ผู้เสียหายว่านวดไม่เป็นนั้น จะได้สอนให้เอง ผู้เสียหายเห็นว่าดึกมากแล้ว ไม่ควรขัดใจนายจ้าง จึงยอมขึ้นมา
  3. ขณะที่ผู้เสียหายนวดขาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็จับมือของผู้เสียหายมาเคล้นคลึงบริเวณเป้ากางเกงของจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายตกใจ ชักมือออก จำเลยที่ 2 ก็ดึงไปไว้ที่เดิมแล้วกดไว้ โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า "นายผู้หญิงเขาจะให้ทำอย่างไรก็ต้องตามใจเขา...ไม่ทำ นายผู้หญิงเขาใจร้าย" พร้อม ๆ กับที่จำเลยที่ 2 ค่อย ๆ ถอดกางเกงจำเลยที่ 1 ออก ก่อนจะดึงมือผู้เสียหายมาขยี้อวัยวะสืบพันธุ์ของจำเลยที่ 1 จนแข็งชี้ขึ้น ผู้เสียหายตกใจจะลุกหนี จำเลยที่ 2 จึงจับตัวไว้ แล้วจำเลยทั้งสองก็ช่วยกันเปลื้องผ้าผู้เสียหายออก ขณะนั้น จำเลยที่ 1 และผู้เสียหายจึงอยู่ในสภาพเปลือยล่อนจ้อน
  4. จำเลยที่ 2 ปูพื้นข้างเตียงด้วยพรม แล้วกดผู้เสียหายลง จำเลยที่ 1 จึงขึ้นคร่อมผู้เสียหาย ผู้เสียตกใจดิ้น จำเลยที่ 2 จึงกดและถ่างขาผู้เสียหายไว้ ให้จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่ เหนื่อยอ่อนพลิกลงนอนกอดผู้เสียหายอยู่ข้างเคียง แล้วจำเลยที่ 1 ก็จับมือผู้เสียหายมาชักอวัยวะสิบพันธุ์ของตนจนชี้ตั้งขึ้นมาอีก จึงข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่อีกครั้ง ทำเช่นนี้ถึงห้าครั้ง
  5. ในครั้งที่ห้า ผู้เสียหายไม่ยอมรูดอวัยวะสืบพันธุ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงว่า "ทำให้เขาดี ๆ ซิ เขาบอกอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น" ส่วนจำเลยที่ 1 ว่า "นายผู้หญิงเขาชอบให้ทำต่อหน้า ทำลับหลังเขาไม่ชอบ" และจำเลยที่ 2 ว่า "ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ถ้าเขาทำแรง ๆ อย่าไปร้อง เดี๋ยวชาวบ้านเขาได้ยิน แล้วจะขึ้นเงินเดือนให้ และถ้าร้องเอะอะ จะเอาตำรวจมาจับเข้าตะราง" จนจำเลยที่ 1 ร่วมเพศกับผู้เสียหายกระทั่งสำเร็จความใคร่ของตน
  6. เสร็จแล้ว ผู้เสียหายจะลุกหนี จำเลยที่ 2 จึงจับตัวไว้ และบังคับให้อมอวัยวะสืบพันธุ์ของจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายปฏิเสธ จำเลยที่ 2 จึงกดศีรษะผู้เสียหายลง บีบปาก แล้วยัดอวัยวะสืบพันธุ์ของจำเลยที่ 1 เข้าปากผู้เสียหาย แล้วสั่งให้ผู้เสียหายดูดกลืนน้ำอสุจิของจำเลยที่ 1 ลงคอ โดยจำเลยที่ 2 กล่าวว่า "ดูดกินน้ำเสียซิ น้ำเขาออกหรือเปล่า" พร้อม ๆ กับที่จำเลยที่ 1 ว่า "คุณผู้หญิงเขาพูดให้ทำ ก็ทำซิ นายผู้หญิงเขาใจร้าย เดี๋ยวเขาฆ่าเธอนะ" ผู้เสียหายขยะแขยง กลืนไม่ลง จึงบ้วนทิ้ง จำเลยทั้งสองจึงให้ผู้เสียกลับลงชั้นล่างได้ ขณะนั้นเวลาล่วงเลยมาถึงก่อนเช้าของวันที่ 29 กรกฎาคม 2506 ต่อเนื่องกัน
  7. ผู้เสียหายลงชั้นล่าง แล้วหนีออกจากบ้านทันทีในคืนนั้นไปยังบ้านญาติ และเล่าเรื่องราวให้ฟัง กระทั่งเวลา 04:00 นาฬิกา ของวันที่ 29 กรกฎาคม 2506 ดังกล่าว ญาติจึงพาผู้เสียหายไปร้องทุกข์ ณ สถานีตำรวจประตูน้ำภาษีเจริญ ครั้นสว่างต่อมาอีกหน่อย เจ้าพนักงานตำรวจจึงให้ผู้เสียหายนำพาไปที่บ้านจำเลย ก่อนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ แล้วจับจำเลยทั้งสองไปที่สถานีตำรวจบางยี่เรือ
  8. จากนั้นในเช้าเดียวกัน เจ้าพนักงานตำรวจได้ส่งตัวผู้เสียหายไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้แพทย์ตรวจตรวจอวัยวะสืบพันธุ์และช่องคลอด พร้อมตรวจพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ยึดมาจากบ้านจำเลยทั้งสอง อันได้แก่ ผ้าปูที่นอน และเสื้อผ้าที่ผู้เสียหายนุ่ง

โจทก์เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ตามที่ผู้เสียหายร้องทุกข์นั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ร่วมกันกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 276 และกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 จึงขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งคู่ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ จำเลยที่ 1 ได้ต้องคำพิพากษาฐานแจ้งความเท็จ ให้จำคุกหนึ่งเดือน ปรับสองร้อยบาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2388/2505 ของศาลแขวงธนบุรี ซึ่งโทษจำคุกนั้น ศาลแขวงธนบุรีให้รอการลงโทษไว้ภายในหนึ่งปี แต่จำเลยที่ 1 กลับมาทำความผิดตามคดีนี้ภายในระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ขอให้บวกโทษจำคุกตามคดีก่อนเข้ามาในคดีนี้ด้วย

ทางพิจารณา

[แก้]

จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า

"...ถูกบุคคลบางกลุ่มร่วมกับผู้เสียหายใส่ความ เพื่อรีดเอาทรัพย์จากจำเลย และจะทำลายชื่อเสียงของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนมีชื่อ ส่วนข้อเคยต้องโทษ จำเลยที่ 1 รับว่า จริงตามฟ้อง"

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ป.อ. มาตรา 276 และกระทำอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 278 เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ลงโทษด้วยบทหนักที่สุด คือ ป.อ. มาตรา 276 โดยจำเลยที่ 1 นั้น ให้จำคุกห้าปี และบวกโทษที่รอไว้ในคดีอาญาแดงที่ 2388/2505 ของศาลแขวงธนบุรี ด้วย รวมเป็นจำคุกห้าปี กับหนึ่งเดือน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ให้จำคุกสามปี บรรดาคำขอนอกจากนี้ ให้ยกเสีย

ศาลอุทธรณ์

[แก้]

คดีมาถึงศาลอุทธรณ์ใน พ.ศ. 2509 โดยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายว่า

"...จำเลยที่ 2 เป็นหญิง ไม่สามารถจะกระทำความผิดในข้อห้าข่มขืนได้ จะเป็นได้ก็แต่เพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานตัวการด้วยนั้น ยังไม่ชอบ"

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ไม่เชื่อว่าผู้เสียหายจะถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราจริง แต่เชื่อว่าผู้เสียหายสมัครใจยินยอม ในวันที่ 21 เมษายน 2509 จึงกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้ยกคำฟ้องโจทก์ โจทก์จึงฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกา

[แก้]

ภาพรวม

[แก้]

คดีนี้มาถึงศาลฎีกาใน พ.ศ. 2510 โดยศาลฎีกาได้กำหนดประเด็นพิจารณาดังนี้

  1. ประเด็นที่ 1 ผู้เสียหายถูกกระทำชำเรา จริงหรือไม่
  2. ประเด็นที่ 2 ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 กระทำชำเรา ใช่หรือไม่
  3. ประเด็นที่ 3 ผู้เสียหายได้สมัครใจยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรา ใช่หรือไม่
  4. ประเด็นที่ 4 หญิงจะเป็นตัวการร่วมในการข่มขืนกระทำชำเรา ได้หรือไม่

ประเด็นที่ 1 ผู้เสียหายถูกกระทำชำเรา จริงหรือไม่

[แก้]
  1. สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้เสียหายได้ถูกกระทำชำเราจริงหรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์
    1. ผลการตรวจพยานหลักฐานที่ยึดมาจากบ้านของจำเลยทั้งสอง ซึ่งปรากฏว่า ผู้ปูนอนที่ยึดมา มีคราบโลหิตรอยใหญ่ เป็นโลหิตหมู่โอ อันเป็นหมู่โลหิตของจำเลยที่ 1 และมีคราบโลหิตเล็ก ๆ เป็นโลหิตหมู่บี อันเป็นหมู่โลหิตของผู้เสียหาย
    2. ผลการตรวจอวัยวะสืบพันธุ์และช่องคลอดของผู้เสียหาย ซึ่งปรากฏว่า ปากช่องคลอดมีแผลปริใหม่ ๆ หนึ่งแผล และมีโลหิตซึมออกจากแผล กับทั้งเยื่อพรหมจารีขาดหายไป
    3. คำเบิกความของพันตำรวจโทกรณ์กิจ มุทิรางกูร แพทย์ผู้ตรวจอวัยวะสืบพันธุ์และช่องคลอด ซึ่งกล่าวว่า บาดแผลที่ปากช่องคลอดของผู้เสียหายนั้น เกิดจากของอันใหญ่กว่าช่องคลอดเล็กน้อยได้ผ่านเข้าไป เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ของชายในระยะแข็งตัวเต็มที่ทิ่มตำเข้าไป และเป็นแผลที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงที่ล่วงมาก่อนตรวจ
  2. ศาลฎีกาจึงเชื่อว่า ผู้เสียหายได้ถูกกระทำชำเราจริง

ประเด็นที่ 2 ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเรา ใช่หรือไม่

[แก้]
  1. สำหรับประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำชำเราผู้เสียหายจริงตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาหรือไม่นั้น ฝ่ายจำเลยทั้งสองอ้างว่า
    1. คืนเกิดเหตุ ราว 20:00 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ให้ผู้เสียหายตักน้ำขึ้นมา เพื่อให้จำเลยที่ 1 ใช้ล้างพู่กันเขียนการ์ตูน และให้ผู้เสียหายทำความสะอาดโต๊ะทำงานจำเลยที่ 1 เท่านั้น เผอิญจำเลยที่ 1 มีอาการจุก จำเลยที่ 2 จึงกดท้องให้อยู่บนเตียง แล้ววานให้ผู้เสียหายช่วยกดด้วยเท่านั้น จากนั้น จำเลยทั้งคู่ได้นั่งสอบถามประวัติของผู้เสียหายจน 21:00 นาฬิกา แล้วให้ลงไปข้างล่างได้
    2. ขณะนั้น ผู้เสียหายขอเบิกเงินล่วงหน้าหนึ่งเดือน จำเลยที่ 2 ไม่ให้ เพราะเกรงจะหนีก่อนครบเดือน ผู้เสียหายไม่พอใจ จึงเดินลงไป เข้าห้องปิดประตู แล้วไม่ขึ้นมาอีก จนสว่าง 06:00 นาฬิกา ก็มีเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงบ้านแล้วแจ้งว่า "สารวัตรให้เชิญไปโรงพัก โดยผู้เสียหายไปแจ้งว่า ถูกจำเลยข่มขืนชำเรา"
    3. คดีนี้ จำเลยเข้าใจว่า ถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง เพื่อต้องการเงิน หรือให้จำเลยเสียชื่อเสียง แต่ใครจะเป็นผู้หนุนหลัง จำเลยไม่ทราบ
  2. เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายโดยตลอดแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า
    1. ถ้ารูปคดีเป็นดั่งจำเลยต่อสู้ ในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายก็น่าจะหาทางเรียกร้องเอาเงินจากจำเลยบ้างเป็นแน่ แต่นี่ผู้เสียหายเพิ่งเข้ามาอยู่บ้านจำเลยยังไม่ทันข้ามคืนก็เหตุ แล้วไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจในเช้ามืดของวันถัดมา ถ้าผู้เสียหายแต่งเรื่องขึ้น ภายในระยะเวลาอันสั้นเพียงนี้ ที่ไหนจะได้รายละเอียดมากมายเช่นนั้น
    2. อนึ่ง ที่จำเลยสืบว่า ผู้เสียหายคงโกรธจำเลยที่ 2 ที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าให้ จึงแกล้งใส่ความนั้น ถ้าเป็นจริง ทำไมผู้เสียหายไม่กล่าวหาแต่เพียงจำเลยที่ 2 คนเดียว และเพียงสาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะกล่าวหาจำเลยทั้งสองเป็นข้อหาอุกฉกรรจ์ขนาดนี้
  3. ศาลฎีกาจึงเชื่อว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราโดยพฤติการณ์ตามคำฟ้องของโจทก์จริง

ประเด็นที่ 3 ผู้เสียหายได้สมัครใจยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรา ใช่หรือไม่

[แก้]

สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้เสียหายได้สมัครใจยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราใช่หรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า พฤติการณ์อันเริ่มต้นแต่จำเลยที่ 2 เรียกผู้เสียหายขึ้นไปนวดจำเลยที่ 1 แล้วให้จับอวัยวะสืบพันธุ์จำเลยที่ 1 รูดขึ้น ๆ ลง ๆ ช่วยกันเปลื้องผ้าผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 2 ช่วยจับตัวและกดขาผู้เสียหาย เพื่อให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายจนบรรลุความเสียวสุดยอดทางเพศนั้น เป็นการที่ผู้เสียหายตกอยู่ในภาวะอันมิอาจต่อต้านหรือขัดขืนได้เลย ที่ไหนจะเรียกได้ว่าผู้เสียหายสมัครใจ

ศาลฎีกาจึงเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งคู่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ป.อ. มาตรา 276 และกระทำอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 278

ประเด็นที่ 4 หญิงจะเป็นตัวการร่วมในการข่มขืนกระทำชำเรา ได้หรือไม่

[แก้]

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งว่า ตนเป็นหญิง ทีไหนจะเป็นตัวการร่วมข่มขืนกระทำชำเราหญิงด้วยกันได้นั้น องค์คณะผู้พิพากษาได้นำประเด็นนี้ขึ้นสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ในการประชุมครั้งที่ 8/2510 โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติว่า

"...ความผิดในเรื่องข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำผิดมิต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเรา ผู้ที่ร่วมกระทำผิดทุกคนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการ ตาม ป.อ. มาตรา 83 แล้ว และตาม ป.อ. มาตรา 276 ก็หาได้บัญญัติให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น ในบทกฎหมายมาตรานี้ บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดกระทำผิด ฯลฯ” เท่านั้น ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหญิง เมื่อได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันกระทำผิด ศาลก็ลงโทษจำเลย ฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้"

พิพากษา

[แก้]

ในวันที่ 22 มีนาคม 2510 องค์คณะผู้พิพากษาลงความเห็นว่า

"ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาต่าง ๆ ขึ้นวินิจฉัยโดยยืดยาว สรุปแล้วไม่เชื่อคำของผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น"

และมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ป.อ. มาตรา 276 และกระทำอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 278 อันเป็นกรณีกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 จึงให้ลงโทษตามบทหนักที่สุด คือ ป.อ. มาตรา 276 โดยจำเลยที่ 1 นั้น ให้จำคุก มีกำหนดสามปี และเอาบวกโทษที่รอไว้ในคดีอาญาเลขแดงที่ 2388/2505 ของศาลแขวงธนบุรี มาบวกกับโทษในคดีนี้ รวมเป็นโทษจำคุก มีกำหนดสามปี หนึ่งเดือน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ให้จำคุก มีกำหนดสองปี

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. โครงการขุมทรัพย์จากหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
  2. ประวัติการ์ตูนไทย, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
  3. บุญร่วม เทียมจันทร์, 2529 : 300-306.

อ้างอิง

[แก้]
  • "โครงการขุมทรัพย์จากหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ". (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์ เก็บถาวร 2015-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 16 ตุลาคม 2553).
  • บุญร่วม เทียมจันทร์. (2529). รวมคำพิพากษาฎีกาคดีดัง. กรุงเทพฯ : จงเจริญการพิมพ์.
  • ประวัติการ์ตูนไทย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 16 ตุลาคม 2553).
  • ศาลฎีกา. (2545). ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้อง และคำวินิจฉัยศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < ลิงก์ เก็บถาวร 2010-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 16 ตุลาคม 2553).

ดูเพิ่ม

[แก้]

วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๐/๒๕๑๐