คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) (อังกฤษ: Campaign for Popular Media Reform - CMPR) เป็นเครือข่ายของนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาชีพสื่อ และภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันติดตามและผลักดันการปฏิรูปสื่อ โดยเริ่มแรกใช้ชื่อ คณะทำงานติดตามมาตรา 40 ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ว่าด้วยทรัพยากรคลื่นความถี่เพื่อการสื่อสาร ปัจจุบันคปส.ยุติบทบาทลงแล้ว
ประวัติ
[แก้]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บัญญัติถึงหลักการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนไว้ในมาตรา 39-41 และในมาตรา 40 ระบุว่า
คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
มาตราดังกล่าวถือว่าเป็นผลจากการผลักดันของภาคประชาชนให้เกิดการปฏิรูปสื่อภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 โดยชูแนวคิด “สื่อต้องเป็นของประชาชน”[1] เพื่อติดตามและผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวตามจุดประสงค์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาชีพสื่อ และเครือข่ายประชาสังคม จึงได้รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในปี 2540 ในชื่อ "คณะทำงานติดตามมาตรา 40" โดยบรรยากาศในช่วงดังกล่าวภาคประชาชนมีความตื่นตัวกับสิทธิตามมาตรา 40 ดังกล่าวมาก คณะทำงานได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ สุพัตรา มาศดิตถ์ จนมีผู้แทนจากกลุ่มที่มีสิทธิในทรัพยากรการสื่อสารตามมาตรา 40 ร่วมประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา[2]
ต่อมาในปี 2543 คณะทำงานฯ ได้ก่อตั้งเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ" กรรมการและที่ปรึกษาของคปส.มาจากหลายสาขาและความสนใจ เช่น วิษณุ วรัญญู อาจารย์กฎหมาย ซึ่งเคยเป็นกรรมาธิการร่างพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พิทยา ว่องกุล อาจารย์สังคมศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และ เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ อาจารย์สื่อสารมวลชน ซึ่งจัดเวทีและอบรมให้กับสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศ[3]
คปส.กับความขัดแย้งทางการเมือง
[แก้]ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งทำให้รัฐธรรมนูญปี 2540 สิ้นสุดลง คปส.ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 แสดงความเสียใจถ้าหากการรัฐประหารนำไปสู่การล้มล้างหลักการในมาตรา 39, 40, และ 41 และเรียกร้องให้คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รักษาหลักการเสรีภาพสื่อและอิสรภาพในการแสดงออกของประชาชนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540[4] และต่อมาหลังจากคปค.ได้ใช้อำนาจปิดกั้นเว็บไซต์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่น www.19sep.org และ www.midnightuniv.org และใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องผู้วิพากษ์วิจารณ์ เช่น การฟ้องเอาผิดทางอาญากับ ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย คปส.ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ประณามการกระทำดังกล่าวและเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกิจกรรมไว้อาลัยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2549 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[5] โดยในกิจกรรมดังกล่าว รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการคปส. ได้กล่าวให้ประชาชนจับตาติดตามการปฏิรูปสื่อและการปฏิรูปการเมืองว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ และเสนอในนามคปส.ให้เปลี่ยนสื่อของรัฐมาเป็นสื่อสาธารณะที่ประชาชนเป็นเจ้าของทั้งหมด ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคปส. ได้อ่านแถลงการณ์จุดยืนและข้อเรียกร้อง 10 ข้อเรื่องการปฏิรูปสื่อ[6]
ในสถานการณ์ภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลังการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553 คปส.โดย สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการในขณะนั้น ได้ติดตามการปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารทางวิทยุชุมชน และรวบรวมรายชื่อผู้ถูกออกหมายจับและดำเนินคดีจากการนำเสนอข่าวสารทางวิทยุชุมชน[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ เบญจา ศิลารักษ์. ปฏิรูปสื่อยกสองในยุค คปค. เก็บถาวร 2016-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผู้จัดการออนไลน์. 5 ตุลาคม 2549.
- ↑ “ดร.เอื้อจิต” มองระยะเปลี่ยนผ่านวิทยุชุมชน หวังสุดท้ายตอบโจทย์ "เพื่อใคร". สำนักข่าวอิศรา. 29 กันยายน 2553.
- ↑ Wongrujira, Monwipa. "Democratizing Communication: Media Activism and Broadcasting Reform in Thailand" (2008). Electronic Theses, Treatises and Dissertations. Paper 831.
- ↑ แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ฉบับที่ 1. 21 กันยายน 2549.
- ↑ แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ฉบับที่ 2. 4 ตุลาคม 2549.
- ↑ จุดยืน 10 ข้อ เรื่องการปฏิรูปสื่อและสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของ คปส. ประชาไท. 12 ตุลาคม 2549.
- ↑ ประเทศไทย ‘ความเห็นต่าง’ คืออาชญากรรม: รายงานการแทรกแซงวิทยุชุมชนภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ. 19 ก.ย. 2553.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เกี่ยวกับ คปส. - media4democracy.com เปิดดูล่าสุด 26 มี.ค. 2551