การสังหารหมู่เชลยศึกที่ออแลนิวกา

พิกัด: 47°49′42″N 37°42′39″E / 47.82846°N 37.71093°E / 47.82846; 37.71093
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสังหารหมู่เชลยศึกที่ออแลนิวกา
เป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมสงคราม
ระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
สภาพโกดังที่ใช้เป็นโรงนอนหลังเกิดเหตุ
แผนที่
ตำแหน่งโกดังโรงนอนที่ถูกโจมตี
สถานที่ค่ายคัดกรองในพื้นที่อดีตทัณฑนิคมวอลนอวาคา (หมายเลข 20)
มอลอดิฌแน เขตกามีอุสแก แคว้นดอแนตสก์ ยูเครน (ถูกรัสเซียยึดครองและถูกสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ควบคุม)
พิกัด47°49′42″N 37°42′39″E / 47.82846°N 37.71093°E / 47.82846; 37.71093
วันที่28–29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
ประเภทไม่ทราบแน่ชัด (อาจเป็นการวางระเบิดในอาคาร[1] หรือการยิงปืนใหญ่)[2]
ตาย53 ราย
เจ็บ75–130 ราย
ผู้ก่อเหตุรัสเซีย

ระหว่างวันที่ 28 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย เกิดเหตุระเบิดที่โรงนอนเชลยศึกชาวยูเครนในค่ายคัดกรองที่รัสเซียควบคุมในหมู่บ้านมอลอดิฌแน ใกล้นิคมออแลนิวกา แคว้นดอแนตสก์ ส่งผลให้เชลยศึกชาวยูเครนเสียชีวิต 53 ราย และบาดเจ็บ 75 ราย[3] เชลยศึกในค่ายนี้ส่วนใหญ่เป็นทหารจากโรงงานเหล็กและเหล็กกล้าอาซอว์สตัลซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของยูเครนระหว่างที่รัสเซียล้อมเมืองมารีอูปอล[4]

ฝ่ายเสนาธิการประจำกองทัพยูเครนกล่าวว่ารัสเซียถล่มโรงนอนเพื่อปกปิดหลักฐานการทรมานและการสังหารเชลยศึกชาวยูเครนที่เกิดขึ้นที่นั่น และทางการยูเครนเผยแพร่สิ่งที่พวกเขากล่าวว่าเป็นภาพถ่ายดาวเทียมของหลุมศพที่ขุดไว้ล่วงหน้าและคลิปเสียงที่ได้จากการดักฟังการสนทนาซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นผู้ผิดของรัสเซีย[5][6] ในขณะที่รัสเซียกล่าวว่าโรงนอนถูกโจมตีด้วยจรวดไฮมาร์สลูกหนึ่งที่ยิงมาจากดินแดนยูเครน[7] การสืบสวนของซีเอ็นเอ็นซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนงานของผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์และอาวุธสรุปว่าคำบอกเล่าเหตุการณ์ของรัสเซียน่าจะเป็นการให้ข้อมูลเท็จ เนื่องจากแทบไม่มีความเป็นไปได้เลยที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเป็นผลจากการโจมตีด้วยจรวดไฮมาร์ส[8]

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศว่าเขาตัดสินใจที่จะจัดตั้งภารกิจค้นหาความจริงตามที่ทั้งรัสเซียและยูเครนร้องขอ[9][10] อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ารัสเซียปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติและกาชาดสากล และภารกิจค้นหาความจริงก็ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา[11][12]

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 สหประชาชาติปฏิเสธคำกล่าวอ้างของรัสเซียที่ว่าเหตุระเบิดที่โรงนอนแห่งนี้เกิดจากจรวดไฮมาร์สของยูเครน[13]

ภูมิหลัง[แก้]

ทางหลวงสาย H20 ช่วงก่อนเข้านิคมออแลนิวกา

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 หลังจากฐานที่มั่นของกองกำลังยูเครนที่โรงงานเหล็กและเหล็กกล้าอาซอว์สตัลในเมืองมารีอูปอลทลายลง ทหารยูเครน 211 นายซึ่งยอมจำนนต่อรัสเซียถูกนำตัวมาคุมขังไว้ที่ค่ายคัดกรองในหมู่บ้านมอลอดิฌแน ใกล้นิคมออแลนิวกา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองดอแนตสก์ ทางการรัสเซียเตรียมที่จะนำเชลยศึกกลุ่มนี้ขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดี ในขณะที่ทางการยูเครนประกาศว่าจะดำเนินกระบวนการแลกเปลี่ยนเชลยศึกเพื่อรับตัวพวกเขากลับบ้านต่อไป[14][15]

นิคมออแลนิวกาและหมู่บ้านมอลอดิฌแนซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายคัดกรองนั้นอยู่ในแคว้นดอแนตสก์ส่วนที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ซึ่งรัสเซียหนุนหลัง ภายในอาณาเขตของค่าย (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นทัณฑนิคม) มีอาคารหลายหลังล้อมรอบด้วยกำแพง ส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มีเชลยศึกมากกว่า 1,000 คนถูกคุมขังไว้ในอาคาร 5 หลังที่ตั้งอยู่เรียงกัน[8] จากนั้นในปลายเดือนกรกฎาคม มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเชลยศึกประมาณ 200 คนถูกย้ายไปคุมขังที่โกดังอีกหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป แต่ยังอยู่ภายในอาณาเขตของค่าย[8]

เหตุระเบิด[แก้]

เมื่อเวลาประมาณ 23:00 น. ของวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้อย่างรุนแรงที่โกดังที่ใช้เป็นโรงนอนแยกในค่ายคัดกรอง[8][16] ทำให้เชลยศึกที่หลับอยู่ในโกดังเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ต่อมาในเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม รัสเซียและสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ระบุว่ามีเชลยศึกชาวยูเครนเสียชีวิต 53 ราย และบาดเจ็บอีก 75 ราย[17] (แถลงการณ์เบื้องต้นของรัสเซียระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 40 ราย และบาดเจ็บ 75 ราย นอกเหนือจากผู้บาดเจ็บที่เป็นผู้คุม 8 ราย)[18] ฝ่ายยูเครนระบุว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 40 ราย และบาดเจ็บ 130 ราย[19]

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่ามีนักรบกรมอะซอฟเป็นเชลยในโรงนอนที่ถูกโจมตี พวกเขาถูกนำตัวมาที่นี่ก่อนวันเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน เดนิส ปูชีลิน ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์ กล่าวว่าในบรรดาผู้ต้องขัง 193 คนในโกดังหลังนี้ไม่มีชาวต่างชาติอยู่เลย แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ามีชาวยูเครนถูกคุมขังอยู่กี่คน[17] ต่อมาเจ้าหน้าที่รัสเซียเปิดเผยรายชื่อเชลยศึกที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิด แต่ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่ยูเครนกล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่ารายชื่อดังกล่าวนั้นเป็นจริง[20]

ภายในวันเดียวกันหลังจากที่เชลยศึกถูกสังหาร บัญชีทวิตเตอร์ของสถานทูตรัสเซีย ณ กรุงลอนดอนทวีตข้อความว่า "นักรบอะซอฟสมควรถูกประหาร ไม่ใช่ด้วยการยิงเป้าแต่ด้วยการแขวนคอ เพราะพวกมันไม่ได้เป็นทหารจริง ๆ พวกมันสมควรตายอย่างอนาถ" พร้อมกับโพสต์วิดีโอการสัมภาษณ์ "คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งจากเมืองมารีอูปอล" ที่กล่าวว่าตนเอง "ถูกทหารยูเครนจากโรงงานอาซอว์สตัลยิงใส่" ข้อความในทวีตนั้นเป็นคำพูดของชายในวิดีโอ[21][22]

สี่วันหลังจากเกิดเหตุระเบิด ศาลสูงสุดรัสเซียประกาศให้กรมอะซอฟเป็นองค์การก่อการร้าย[23] หน่วยข่าวกรองยูเครนตอบโต้โดยกล่าวว่าการตีตราเช่นนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความชอบธรรมให้กับอาชญากรรมสงครามที่รัสเซียก่อขึ้นกับชาวยูเครนรวมทั้งสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ชาติยูเครน[24]

ความรับผิดชอบ[แก้]

ทางการรัสเซียระบุว่ากองกำลังยูเครนโจมตีโกดังโรงนอนโดยใช้ระบบจรวดไฮมาร์สที่สหรัฐจัดหาให้[7] แต่เมื่อฝ่ายรัสเซียเผยแพร่วิดีโอและภาพถ่ายภายในโกดังโรงนอนที่ถูกโจมตี ทีมสืบสวนของซีเอ็นเอ็นก็วิเคราะห์ว่าคำบอกเล่าของรัสเซียน่าจะเป็นการให้ข้อมูลเท็จ เนื่องจากแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จรวดไฮมาร์สจะก่อให้เกิดความเสียหายในลักษณะนั้น อีกทั้งยังวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดน่าจะมาจากระเบิดเพลิงที่ถูกจุดปะทุจากภายในโกดังโรงนอน[8] สถาบันเพื่อการศึกษาสงครามกล่าวว่าหลักฐานภาพที่มีอยู่นั้นสนับสนุนคำบอกเล่าของฝ่ายยูเครน เนื่องจากลักษณะของการระเบิดไม่สอดคล้องกับการโจมตีด้วยจรวดไฮมาร์ส แต่สถาบันฯ ก็ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อเหตุ[25]

อินฟอร์มเนปาล์มซึ่งเป็นโครงการอาสาสมัครจากยูเครนกล่าวว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดครั้งนี้ โดยชี้ว่ารัสเซียยิงจรวดเพลิงเอร์เปโอ-อาหรือไม่ก็เอมเอร์โอ-อาใส่โกดังโรงนอนแล้วปล่อยให้เชลยถูกเผาทั้งเป็น[26] อันดรีย์ กอสติน อัยการสูงสุดยูเครน ระบุว่า "ตามข้อมูลเบื้องต้นจากผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ เชลยในทัณฑนิคมออแลนิวกาถูกสังหารด้วยอาวุธแรงกดดันพลังความร้อน"[27][28] ยีกัล เลวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมชาวอิสราเอล เสนอว่ารัสเซียก่อเหตุโจมตีเชลยศึกยูเครนเพื่อให้ทหารรัสเซียกลัวที่จะถูกทหารยูเครนล้างแค้น และจะได้ไม่ยอมจำนนต่อกองกำลังยูเครนที่รุกคืบเข้ามาในแคว้นแคร์ซอน[29]

หน่วยความมั่นคงยูเครนเผยแพร่เทปบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทหารรัสเซียซึ่งบ่งชี้ว่ารัสเซียได้วางระเบิดไว้ภายในอาคาร หน่วยความมั่นคงยูเครนเสริมว่าหลักฐานวิดีโอที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าหน้าต่างบางบานของโกดังโรงนอนที่ถูกระเบิดยังคงสภาพเดิม และไม่มีประจักษ์พยานรายใดกล่าวถึงการยิงอาวุธหรือเสียงใด ๆ ก็ตามที่โดยปกติจะมาพร้อมกับการยิงอาวุธ บ่งชี้ว่าไม่มีจรวดลูกใดพุ่งตกใส่โกดัง[30] ตามรายงานของกองข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมยูเครน ผู้ดำเนินการวางระเบิดคือกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซียและถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงครามในแอฟริกา ซีเรีย และยูเครน แต่คราวนี้กลุ่มดังกล่าวไม่ได้ปรึกษากระทรวงกลาโหมรัสเซียล่วงหน้าก่อนดำเนินการ[31][32]

การสืบสวน[แก้]

กระทรวงการต่างประเทศยูเครนยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับเหตุโจมตีซึ่งกระทรวงฯ เรียกว่าเป็นอาชญากรรมสงครามของรัสเซีย[33] ในขณะที่รัสเซียกล่าวว่าฝ่ายตนจะเริ่มดำเนินการสืบสวนเอง[17] เจ้าหน้าที่ของรัสเซียและของยูเครนเรียกร้องให้กาชาดสากลและสหประชาชาติเข้าแทรกแซง[34][35] ในช่วงค่ำของวันที่ 30 กรกฎาคม รัสเซียประกาศว่าจะอนุญาตให้ตัวแทนจากองค์การเหล่านี้เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุได้[36] อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์ซี) ประกาศว่าตนไม่ได้รับคำเชิญและไม่ได้รับคำตอบจากการขอเข้าไปยังที่เกิดเหตุ[37][4] เมื่อถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ไม่มีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติหรือองค์การด้านมนุษยธรรมใด ๆ ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในออแลนิวกาหรือได้รับอนุญาตให้เข้าถึงผู้รอดชีวิต นอกจากนี้ ฝ่ายรัสเซียยังไม่เคยเผยแพร่รายชื่อผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างละเอียด และไม่เคยแจ้งเตือนญาติของพวกเขาและไอซีอาร์ซีซึ่งขึ้นทะเบียนพวกเขาเป็นเชลยศึกอย่างเป็นทางการระหว่างการยอมจำนนในเมืองมารีอูปอล[4][38][27]

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555 อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศว่าเขาตัดสินใจที่จะจัดตั้งภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงตามที่ทั้งรัสเซียและยูเครนร้องขอ[9] แต่ก็มายกเลิกภารกิจดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2566 (ตามคำกล่าวของโฆษกสหประชาชาติ) "เนื่องจากคณะทำงานของสหประชาชาติไม่สามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้"[11]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 รายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึกในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนอ้างว่าได้พบรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นผู้ผิดของรัสเซีย รายละเอียดเหล่านั้นได้แก่การสั่งให้ผู้คุมค่ายออกจากโกดังโรงนอน การสั่งให้ผู้คุมขุดคูค่ายเพื่อใช้กำบังตัวเอง การที่ผู้คุมสวมเสื้อเกราะกันกระสุนและหมวกนิรภัย และการยิงจรวดจากระบบยิงเบเอม-21 กราดที่เพิ่งติดตั้งใหม่เพื่อกลบเสียงที่เกิดจากการระเบิด[39]

ปฏิกิริยา[แก้]

ในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ฌูแซ็ป บูร์เร็ลย์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง กล่าวโทษรัสเซียว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีและเรียกเหตุดังกล่าวว่าเป็น "ความโหดร้ายสะเทือนขวัญ" และ "การกระทำที่ป่าเถื่อน"[40] เจ้าหน้าที่ในเอสโตเนีย สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสแสดงท่าทีคล้ายคลึงกัน[41][42]

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ทำเนียบขาวกล่าวถึงข้อมูลข่าวกรองใหม่ที่บ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังพยายามปลอมแปลงหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่[43] ในเดือนสิงหาคม รัสเซียได้เชิญสื่อรัสเซียจำนวนหนึ่งและสตีเวน ซีกัล นักแสดง ไปที่ค่ายคัดกรองที่ซึ่งพวกเขาแถลงการณ์สนับสนุนคำกล่าวอ้างของรัสเซียที่ว่าเหตุระเบิดเกิดจากการโจมตีด้วยจรวดไฮมาร์ส[44]

เหตุการณ์เพิ่มเติม[แก้]

ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ศพของทหาร 62 นาย (ซึ่งรวมถึงเชลยศึกที่ถูกสังหารในออแลนิวกา) ได้รับการส่งกลับยูเครน[45]

ในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ฟ็อลเคอร์ เทือร์ค ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ปฏิเสธคำกล่าวอ้างของรัสเซียที่ว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เกิดจากจรวดไฮมาร์สของยูเครน[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Масова загибель українських полонених в Оленівці. Що відомо" (ภาษายูเครน). BBC News Україна. 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  2. "Генштаб ЗСУ підтвердив, що російські окупанти здійснили прицільний навмисний артилерійський обстріл колонії в Оленівці" (ภาษายูเครน). 5 канал. 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
  3. "В ДНР заявили об ударе ВСУ по колонии с военнопленными в Еленовке. Сообщается о 53 погибших" [The DPR announced the strike of the Armed Forces of Ukraine on the colony with prisoners of war in Yelenovka. 53 deaths reported]. Meduza (ภาษารัสเซีย). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Admission of guilt: Russia blocks international investigation of Olenivka mass killing of Ukrainian POWs". Kharkiv Human Rights Protection Group. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-09-07.
  5. "Russians struck Olenivka to cover up the torture and execution of prisoners General Staff of the Armed Forces of Ukraine". news.yahoo.com (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
  6. "'Absolute evil': Inside the Russian prison camp where dozens of Ukrainians burned to death". TheGuardian.com. 2022-08-06. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 8 August 2022.
  7. 7.0 7.1 "Russia says Ukraine struck prison in Donetsk region, killing 40". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Lister, Tim; Mezzofiore, Gianluca; Cotovio, Vasco; Brown, Benjamin; Nechyporenko, Kostan (2022-08-11). "Russia claims Ukraine used US arms to kill jailed POWs. Evidence tells a different story". CNN (Special Report). Design by Sarah-Grace Mankarious and Marco Chacón. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-08-12.
  9. 9.0 9.1 "U.N. chief launches fact-finding mission into Ukraine prison attack". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2022-08-04. สืบค้นเมื่อ 2022-11-30.
  10. "UN fact-finding mission members appointed for Donetsk prison attack". Business Standard (ภาษาอังกฤษ). 2022-08-23. สืบค้นเมื่อ 2022-11-30.
  11. 11.0 11.1 "Russia-Ukraine war live: Putin's ceasefire proposal shows he is 'trying to find oxygen', says Biden". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). 5 January 2023. สืบค้นเมื่อ 5 January 2023.
  12. "Red Cross denied access to prisoners at Russian-held Olenivka despite 'intense' talks -ICRC chief". Reuters. September 2022.
  13. 13.0 13.1 "UN rejects Russia's claims on Olenivka prison massacre". The Kyiv Independent (ภาษาอังกฤษ). 2023-07-25. สืบค้นเมื่อ 2023-07-25.
  14. "Ukrainian force begins evacuating from last Mariupol stronghold" (ภาษาอังกฤษ). Reuters. 2022-05-17. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  15. "З «Азовсталі» евакуювали частину українських військових. Що відомо" (ภาษายูเครน). BBC News Україна. 2022-05-16. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  16. "Українських полонених в Оленівці вбили «вагнерівці» - розвідка". Укрінформ. 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
  17. 17.0 17.1 17.2 "Russia, Ukraine trade blame for deadly attack on POW prison". AP NEWS (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-01. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  18. "Russia accuses Ukraine of killing POWs with HIMARS system". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 August 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  19. "Внаслідок обстрілу Оленівки близько 40 осіб загинуло, 130 поранено – розпочато провадження" [As a result of the shelling of Olenivka, about 40 people died, 130 were injured – proceedings have been initiated]. armyinform.com.ua (ภาษายูเครน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  20. "Russian offensive campaign assessment: 31 July". Institute for the Study of War (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-07-31.
  21. Nsubuga, Jimmy (2022-07-30). "Outrage as Russian Embassy in UK tweets call for Ukrainian fighters to be executed in 'humiliating death'". Yahoo! News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-31. สืบค้นเมื่อ 2022-08-01.
  22. Melkozerova, Veronika (2022-07-30). "Russian Embassy in UK tweet responding to Ukrainian PoW massacre causes uproar". The New Voice of Ukraine (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-31.
  23. Blann, Susie; Fraser, Suzan (2 August 2022). "Russia designates Ukraine's Azov Regiment terrorists". PBS NewsHour (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 August 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-08-04.
  24. "Branding Azov fighters as terrorists, Russia seeks to justify its own war crimes – Ukrainian intelligence". The New Voice of Ukraine. Yahoo! News. 2022-08-04. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 August 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-08-04.
  25. "Russian offensive campaign assessment: 29 July". Institute for the Study of War (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-01. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  26. "Россия сожгла украинских военнопленных во сне с помощью термобарического оружия – InformNapalm" [Russia burned Ukrainian prisoners of war in their sleep with thermobaric weapons – InformNapalm]. Зеркало недели. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  27. 27.0 27.1 "40 days since Olenivka tragedy: Russia still not let international experts in, relatives of POWs release statement". news.yahoo.com (ภาษาอังกฤษ). 6 September 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-09-07.
  28. "Olenivka prisoners could have been killed with thermobaric weapons – Prosecutor General of Ukraine". Ukrainska Pravda (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-09-07.
  29. Ponomarenko, Illia (2022-07-29). "Over 50 Ukrainian prisoners of war killed in Russian captivity". The Kyiv Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  30. Tyshchenko, Kateryna (2022-07-29). "Explosion in the Olenivka penal colony planned and executed by the Russian Federation – conversation intercepted by SSU". Ukrainska Pravda (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
  31. Lister, Tim; Kesaieva, Julia; Pennington, Josh (2022-07-30). "Ukrainian President Volodymyr Zelensky says prison attack 'deliberate war crime by the Russians,' as Russia blames Ukraine". CNN News (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  32. "Intelligence: Russia's Wagner Group behind attack on Olenivka penal colony". The Kyiv Independent. 2022-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-29.
  33. "Ukraine appeals to International Criminal Court after prison attack". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  34. "Russia says it has invited U.N., Red Cross experts to probe jail deaths". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-30.
  35. "AFU General Staff, SBU, Main Intelligence Agency and Rada Commissioner for Human Rights demand that UN, ICRC immediately respond to terrorist attack of Russia on Olenivka – statement". Interfax-Ukraine (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-31. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  36. "Война в Украине: Россия согласилась показать ООН и Красному Кресту Еленовку, в Севастополе пять человек ранены при атаке беспилотника – Новости на русском языке" [War in Ukraine: Russia agreed to show the UN and Red Cross Yelenovka, in Sevastopol five people were injured at drone attack – news in Russian]. BBC News Русская служба (ภาษารัสเซีย). 2022-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-07-31.
  37. "Olenivka penal facility: Prisoners of war and ICRC's role" (ภาษาอังกฤษ). 2022-08-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 September 2022. สืบค้นเมื่อ 7 September 2022. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  38. "Ukraine-Russia international armed conflict: ICRC asks for immediate and unimpeded access to all prisoners of war" (ภาษาอังกฤษ). 2022-10-14. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  39. "OHCHR report on the Treatment of Prisoners of War and Persons Hors de Combat in the Context of the Armed Attack by the Russian Federation against Ukraine: 24 February 2022 – 23 February 2023". Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights (ภาษาอังกฤษ). 24 March 2023. pp. 19–21. สืบค้นเมื่อ 2023-03-24. OHCHR documented that the 193 POWs were transferred on 27 July to this barrack, which was refurbished from an industrial shed that stood separately from the other barracks in the colony. That same day, the colony management ordered that the guard post be moved further from the barrack and that a fortified trench be dug for the guards, which was not done for other barracks. On 28 July, the guards of the barrack wore bullet-proof vests and helmets, which they had not done before and unlike other colony personnel who rarely wore them. POWs interned in different barracks reported that an “Grad” rocket system, which had been placed close to their barracks and near the colony’s fence just before the incident, was firing in a westerly direction away from the colony and covered the sounds of the explosions that killed and injured the POWs.
  40. "'Sickening' video shows gagged Ukrainian POW being castrated". New York Post. 2022-07-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  41. "Estonian politicians condemn Olenivka prison attack". ERR (ภาษาอังกฤษ). 2022-07-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  42. "Ukraine : Paris exprime son "horreur" après le bombardement d'une prison" [Ukraine: Paris expresses its "horror" after the bombing of a prison]. TF1 INFO (ภาษาฝรั่งเศส). 2022-07-30. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-30. สืบค้นเมื่อ 2022-07-30.
  43. Madhani, Aamer; Lederer, Edith M. (2022-08-04). Written at Washington. "US says Russia aims to fabricate evidence in prison deaths". New York City: Associated Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-04. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
  44. "Steven Seagal Promotes Russian Claims That Ukraine Killed Its Own POWs". HuffPost UK (ภาษาอังกฤษ). 2022-08-11. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-09-07.
  45. "Україна повернула тіла військових, загиблих під час теракту в Оленівці". Мілітарний (ภาษายูเครน). สืบค้นเมื่อ 2022-10-11.